ในลวงใจ








หนังสือเล่มนี้เป็นงานในช่วงรอยต่อของผม ก่อนที่จะหันมาสนใจเรื่องการเมือง มันจึงหลากหลายพอสมควร ทั้งพูดเรื่องหนังสือ วรรณกรรม สังคม และการเมืองด้วย มันเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผมชอบ เป็นช่วงเวลาที่พีคในการอ่าน ความคิดกำลังเติบโต เพลิดเพลิน และบรรยากาศยังไม่ถึงกับมืดมน



หนังสือ ในลวงใจ
ผู้เขียน วาด รวี
สำนักพิมพ์ Shine Publishing House
เวลาพิมพ์ กุมภาพันธ์ 2016
ISB 9786167939032
ขนาดรูปเล่ม 106x183x26 มม.
เนื้อใน กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ
ปกแข็ง แจ็กเก็ตกระดาษทวีด พิมพ์สี่สี
จำนวนหน้า 360 หน้า



โปรยปกหลัง

นี่คือวัคซีนตัวใหม่ของนักเขียนใน พ.ศ. นี้ หากเขาหรือเธออยากหยั่งยืนอย่างองอาจและเป็นพลวัตรอันสำคัญต่อการเขียนวิวัฒน์ของวรรณกรรมไทยในปัจจุบัน
อุทิศ เหมะมูล

รวมความเรียงรสเข้ม เข้มข้นด้วยการเมือง ปรัชญา และวรรณกรรม หนังสือที่แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในเรื่องต่าง ๆ สำคัญอย่างไร
Bookmoby

ในภาวะระหว่าง “ความหวาดกลัวและความเฉยชา” อย่างน้อยเสียงของวาด รวี แม้อาจแผ่วเบาเมื่อเทียบกับเสียงป่าวและเป่าทัดทานการมาถึงของแสงสว่างก็ยังเป็นสัญญาณของความหนักแน่นและมุ่งมั่น ยืนยันว่า “ความใส่ใจ” ยังไม่หายสูญไป และไม่สูญหายไป
ปราบดา หยุ่น



ปีกแจ๊กเก็ต

ในขณะที่ดอน กิโฆเต้คือคนบ้าผู้ติดอยู่ในโลกของนิยายอัศวิน ซานโช่ ปันซ่ากลับเป็นเพียงชาวบ้านที่ไม่เคยอ่านนิยายเหล่านั้นแม้แต่น้อย

ดอน กิโฆเต้ l เซร์บันเตส, ต่ำช้ายิ่งกว่าบ้า


ในเวลาสงครามที่แม่ทัพนายกองต่างพากันนึกถึงการเข้าตี และการรบก็คือการนำทหารฝ่ายตนเองเข้าประหารทหารฝ่ายตรงข้ามจนได้ชัยชนะ  คูตูซอฟกลับมองเห็นภาพสงครามที่แตกต่างไป

สงครามและสันติภาพ l ตอลสตอย, ความไม่มีจุดหมายของสงคราม


สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเราบินได้ ไม่ใช่การไปสู่จุดหมายที่รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ซองจดหมายข้ามทวีปที่มาถึงปลายทางรวดเร็วขึ้น ไม่ใช่อิสรภาพบนน่านฟ้า  แต่ความสำคัญมันคือการที่เราได้บินต่างหาก

แผ่นดินของเรา l แซงแต็กซูเปรี, กิโยเม


ที่หน้าประตูกฎหมายมีชายคนหนึ่งเฝ้าประตูอยู่ วันหนึ่งมีชายบ้านนอกคนหนึ่งต้องการที่จะผ่านประตูกฎหมายเข้าไป แต่คนเฝ้าประตูไม่อนุญาต

คดีความ l ฟรันซ์ คาฟคา, เล่นซ่อนหากับฟรันซ์ คาฟคา


รอยด่างพร้อยนั้นจึงเป็นสมบัติของโลกมากกว่าของเธอ และมาร์เกซจึงให้เธอจากโลกนี้ไปด้วยภาพพจน์ที่ผ่องแผ้วที่สุดก็คือ การลอยขึ้นฟ้าไปพร้อมผ้าปูที่นอนสีขาวของเฟอนันดา

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว l มาร์เกซ, นางฟ้าของการ์เกซ


เขาเพียงแต่ปฏิเสธ “สามัญสำนึก” อันเป็นสิ่งที่แสนปรกติธรรมดาที่ใคร ๆ ก็รู้ อย่างไม่มีเยื่อใย ทั้งที่เขาเองก็เป็น “คนสุภาพเรียบร้อย”

บาร์เทิลบี l เฮอร์มาน เมลวิล, ภูมิต้านทานอารยธรรม


เครซีฮอร์สปล่อยให้ลิตเติลบิกแมนพาเขาไปจนถึงหน้าประตูลูกกรงเหล็กที่ตึกแห่งหนึ่ง ชั่วขณะที่เขามองเห็นคนที่อยู่เบื้องหลังลูกกรง และมองเห็นขาที่ล่ามไว้ด้วยโซ่ตรวน เครซีฮอร์สก็กระโจนหนีออกมา

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี l ดี บราวน์, หลั่งเลือดแลกวิหาร


เขาหลงรักโลลิตาในทันทีที่เห็น แต่สิ่งที่เขาทำได้มีเพียงการแอบลวนลามเด็กหญิงด้วยสายตาและการแสร้งเล่นกับเธอเท่านั้น

โลลิตา / นาโบคอฟ, นางพราย


ผลสุดท้ายผู้ที่ได้ขึ้นครองมงกุฎ ก็คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งประนีประนอมกับเจ้าฟ้าจุฑามณี น้องชาย

พระเจ้ากรุงสยาม l ส.ธรรมยศ, ประเทศหนึ่งมีมงกุฎเดียว


นอกจากส้วมที่ไม่เคยเป็นจริงแล้ว บ้านของหล่อนยังมีหน้าต่างที่ไม่เคยติดบาน แม้ว่าหล่อนจะใฝ่ฝันถึงบานหน้าต่างครั้งแล้วครั้งเล่า

หมูขี้พร้า l กนกพงศ์ สงสมพันธ์, คนที่ถูกยุคสมัยทอดทิ้ง

 

คำบรรยายแบบย่อ

หนังสือรวมความคิดของวาด รวีในรอบ 10 ปี เป็นข้อเขียนถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ข้อเขียนจากการอ่านวรรณกรรม คัดจากคอลัมน์วรรณกรรมของผู้เขียนในนิตยสารต่าง ๆ  และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อเขียนทางการเมืองคัดจากสเตตัสในเพจที่ปิดตัวไปแล้ว เพราะโดนแฮค กับในเว็บบอร์ดที่ก็ถูกแฮคจนกระทู้ส่วนใหญ่หายไปและปิดตัวไปแล้วเหมือนกัน เนื้อหามุ่งเน้นไปที่การสำรวจตรวจสอบวิธีคิดในกรณีต่าง ๆ รวมทั้งวิวาทะในประเด็นทางวรรณกรรม และประเด็นทางสังคมการเมือง แต่ละชิ้นเป็นงานเขียนขนาดค่อนข้างสั้นไปจนถึงปานกลาง


สารบาญ   
             
คำนำ 008
ตํ่าช้ายิ่งกว่าบ้า 016
ความไม่มีจุดหมายของสงคราม 030
กิโยเม 038
โองการแช่งนํ้า และข้อคิดใหม่ฯ 045
เล่นซ่อนหากับฟรันซ์ คาฟคา 052
ตัวตนข้างนอก ตัวเองข้างใน 057
นางฟ้าของมาร์เกซ 064
คนนอกครอบ (ครัว) 070
สมมติว่าเป็นญี่ปุ่น 076
ร่างกายใต้บงการของดอน เดอลิโล 081
ลีลาวาทกรรมฯ 086
โลกร้อน กับความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง 093
ชาติหน้า ความฝัน และจิตไร้สำนึก 115
ภูมิต้านทานอารยธรรม 120
ผู้ไม่เชี่ยวชาญในการคบหามนุษย์ 126
หลั่งเลือดแลกวิหาร 133
รสชาติของการถูกทรยศ 138
จุดจบของซิตติ้งบูลล์ 143
เพราะง่ายจึงพ่ายแพ้ 149
ดวงตาและสำเนาในบทกวีร่วมสมัย 156
สิ่งที่หลู่ซวิ่นหวัง 161
ดอกวาสนา 166
หินครวญ 172
นางพราย 177
ประเทศหนึ่งมีมงกุฎเดียว 184
เปิดสยาม 190
ปัญหาระบบคิดในหมู่กวี 196
คนกับควาย - ความหมายเชิงลบ 201
ว่าด้วยข้อโต้แย้งเรื่อง political correctness 207
ต่อไปนี้จะเป็นการตีประเด็น political correctness ให้ตกไป 212
คำพูดของอโลชา เวียงพงศ์ 218
สมคบคิดกันโรแมนติก 226
ตรรกะหลอน 232
ถึงอาจารย์สมศักดิ์ ทำไมจึงไม่เสนอให้เลิก 236
CHIMERA 244
จดหมายถึงโตมร ศุขปรีชา 248
ตอบปัญหาเชิงปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง 252
A Farewell to Arms 261
การให้อภัยทางการเมือง 269
หยุดพักการกดไลค์ 274
ตรรกะและปรากฏการณ์ 279
คำพิพากษาเจ๋ง ดอกจิก 283
กิริยาท่าทางผิด 112 287
ถามสมศักดิ์ เจียมฯ 291
ตอบความเห็นท้ายบทความถามสมศักดิ์ 298
ข้อกล่าวหาทักษิณและพระราชดำรัสพระราชินี 304
ปาฐกถาของออง ซาน ซู จี 310
อวตาร 317
ประสบแดง 321
ความรักในหลวง ที่ลวงใจ 326
ซ้าย - ขวา 331
ไม่มีอดีตที่ไม่ถูกผลิตโดยปัจจุบัน 337
โนเวเชนโต้ 342
คนที่ถูกยุคสมัยทอดทิ้ง 346
ไถ่บาปด้วยจุดหมาย 352
หมายเหตุผู้เขียน 357


ย่อจากคำนำ

หากจะมี “จุดร่วม” หรือ “พื้นฐานทางความคิดในการวิพากษ์สังคมไทย” อยู่ในทัศนคติทางสังคมและการเมือง (อย่างน้อยก็ในฐานะคนทำงานเขียนและทำหนังสือ) ระหว่างผมกับวาด รวี น่าจะเป็นความเห็นพ้องต้องกันว่าสังคมไทยยังไม่เคยก้าวสู่ความเป็น “สมัยใหม่” ตามความหมายที่เข้าใจกันในระดับสากลและตามลำดับวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์โลก นั่นคือสังคมไทย (อาจควรระบุว่า “สังคมปัญญาชนและชนชั้นนำส่วนใหญ่ของไทย”) ยังไม่เคยผ่านยุคสมัยที่ตะวันตกเรียกว่า “ยุคเรืองปัญญา” (Enlightenment) อย่างซาบซึ้งและถึงราก เพียงพอจะสามารถนำไปเปรียบกับการเคลื่อนไหวต่างๆในประเทศที่เป็น “สมัยใหม่” แล้วจริง

แน่ละว่า ในเชิงปัจเจก สังคมไทยเคยมีและมี “คนสมัยใหม่” อยู่ไม่น้อย มีผู้รู้ผู้เข้าใจในความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะโดยประสบการณ์จากการผ่านสังคมอื่น หรือโดยการตื่นรู้ด้วยตนเอง แทรกอยู่ตามจุดต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าสังคมไทยขับเคลื่อนด้วยหลักการและความเชื่อแบบ “สมัยใหม่” หากแต่ยังคงอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ ผิวเผิน หลอกตัวเองเสียมากกว่า

และเนื่องจากยังไม่ผ่านความเป็นสมัยใหม่นี้เอง ทำให้การนิยมอ้างถึงแนวคิด “หลังสมัยใหม่” (Postmodernism) หรือทฤษฎี “รื้อโครงสร้าง” (Deconstruction) ในบทวิพากษ์สังคมของปัญญาชนไทย เป็นเรื่องเบาหวิว ไร้การเชื่อมโยงที่หนักแน่นต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่จริง ไม่ว่ามันจะนำความน่าตื่นเต้น หวือหวา ชวนหลงใหล มาให้กับแวดวงวิชาการและปัญญาชนขนาดย่อมของเราเพียงไร ก็ยังถือว่าเป็นเพียงการศึกษาหาความรู้มากกว่าจะเป็นการนำมาใช้ได้ (applicable) ในวัฒนธรรมไทย

วิกฤตทางการเมืองและสังคมที่กำลังคุกรุ่นอยู่ใน พ.ศ. นี้ เป็นบทพิสูจน์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าการต่อสู้ทางปัญญาในสังคมไทยยังไม่ใช่การต่อสู้แบบ “สมัยใหม่” ในทางกลับกัน มันยังคงเป็นการดิ้นรนระหว่างความพายามจะกำเนิดเกิดขึ้นของความเป็นสมัยใหม่กับความพยายามที่จะข่มกดกีดกันการเกิดนั้นเอาไว้ ซึ่งเป็นการดิ้นรนที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ และคงไม่ผิดหากจะกล่าวจากสภาพการณ์ปัจจุบันว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์ยังคงอยู่ค่อนข้างไกล และอาจถูกทำให้ไกลต่อไปได้เรื่อยๆ

ต้องยอมรับด้วยว่า ไม่ว่าจะพยายามเพียงไร เราแทบทุกคนต่างหลงติดอยู่ในจินตสถานนั้นไม่มากก็น้อย ในวันและเวลาที่ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบเงียบ แม้แต่คนที่ “ตื่น” ที่สุด ก็ยังอดไม่ได้ที่จะเผลอคิดว่าเราได้ผ่านอุโมงค์นั้นมาแล้ว ผมคิดว่า วาด รวี ก็ไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ เพียงแต่ดูเหมือนว่าเขาจะลืมตาขึ้นบ่อยครั้งกว่า ส่งเสียงร้องตักเตือนเพื่อนมนุษย์โหวกเหวกกว่าใครอื่นที่อยู่ในรัศมีการรับรู้ของผม

ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่าเสียงและสารในบทสนทนาและตัวหนังสือของ วาด รวี เปรียบเสมือนเสียงหวูดที่ปลุกให้ผมตื่นขึ้นเป็นระยะๆในความมืดนี้  แม้บางครั้งจะตื่นด้วยความหงุดหงิด รำคาญ แต่การถูกทำให้ตื่นขึ้นเผชิญกับความจริง ก็ยังมีค่ากว่าการถูกกล่อมให้หลงคิดว่าความฝันคือความจริง

ในภาวะ “ระหว่างความหวาดกลัวและความเฉยชา” อย่างน้อยเสียงของ วาด รวี แม้อาจแผ่วเบาเมื่อเทียบกับเสียงป่าวและเป่า ทัดทานต่อต้านการมาถึงของแสงสว่าง ก็ยังคงเป็นสัญญาณที่หนักแน่นและมุ่งมั่น ยืนยันว่า “ความใส่ใจ” ยังไม่หายสูญไป และจะไม่สูญหายไป          
               
ปราบดา หยุ่น
มีนาคม 2557

Comments