ย่านเก่า มุมเมือง และเรื่องเล่า
จะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นสารคดีท่องเที่ยวก็ดูจะเป็นสิ่งที่ห่างไกล
จะใช้คำว่า “เดินทาง” ตามสมัยนิยมก็ดูไม่ใกล้เคียง
เนื่องจากข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้มีทั้งส่วนที่เป็นการ “เที่ยว”
และส่วนที่เป็นการ “เดินทาง”
“เที่ยว” หรือ “ท่องเที่ยว” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า “ไปไหน ๆ เพื่อความเพลิดเพลินตามสบาย” “ไปหาความสำราญ”
ปัจจุบันคำว่า “การท่องเที่ยว” นอกจากจะให้ความหมายดั้งเดิมแล้ว
มันยังเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของ “เมือง” หรือ
“ความเป็นสมัยใหม่”
ในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่
“การท่องเที่ยว” หมายถึง การพักผ่อน
การออกไปจากพื้นที่ประจำ ออกไปจากการงาน และออกไปจากเมือง การออกไปจาก “พื้นที่ประจำ”
นี้ จึงบรรจุด้วยสัมภาระจำนวนหนึ่ง อันประกอบไปด้วยความต้องการ “หาความเพลิดเพลิน” “ได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่” “ได้ยืนยันการมีอยู่ของตนบนพื้นที่อื่น” และ“ได้พักผ่อน”
สัมภาระที่บรรจุมาพร้อมกับการท่องเที่ยวในนิยามใหม่นี้
สามารถรวบรวมกันเข้าเป็นชุด เป็นแพ็กเกจของความต้องการที่ครบถ้วน
เมื่อสัมภาระนี้ได้รับการจัดการ และตอบสนองจากสังคมบริโภคนิยม จึงได้เกิดกระบวนการ
“บริโภคการท่องเที่ยว” ขึ้น
กระบวนการบริโภคการท่องเที่ยวนี้
เราสามารถกล่าวได้ว่ามันคือความต้องการบริโภคพื้นที่อื่น
เนื่องมาจากความปรารถนาที่จะไปจากพื้นที่ประจำเป็นการชั่วคราว
ไม่ว่าคำอธิบายของมันจะเป็นคำว่า “ชาร์ตแบต”
“สูดอากาศบริสุทธิ์” หรือ “พักผ่อน” ก็ตาม
สารคดีท่องเที่ยวที่ตอบสนองการท่องเที่ยวนิยามนี้
จึงต้องมีเนื้อหาที่ให้จินตนาการเพื่อการบริโภคพื้นที่อื่นอย่างราบรื่น
ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ให้คำแนะนำในการบริโภคสิ่งที่ต้องการ ตั้งแต่ ความแปลกใหม่
การยืนยันตัวเองในพื้นที่อื่น และการพักผ่อน อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งแพ็กเกจ
สารคดีท่องเที่ยวดังกล่าว มักปรากฏตัวในฐานะคู่มือท่องเที่ยว
ประกอบไปด้วยแผนที่และขั้นตอนการเดินทางต่าง ๆ
ซึ่งถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ให้จินตนาการ
และช่วยให้การท่องเที่ยวในชีวิตสมัยใหม่ดำเนินไปด้วยดี นอกจากนี้แล้ว
สารคดีท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ยังสามารถทำให้ผู้อ่านรู้จักเก็บเกี่ยวสิ่งที่น่าสนใจ
นอกเหนือไปจากสิ่งที่อยู่ในแพ็กเกจความต้องการของตน
และให้คำแนะนำต่อการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
และท้องถิ่นอีกด้วย
“เดินทาง” หมายความว่า
“ไปยังจุดหมายซึ่งอยู่ห่างไกล” การไปยังจุดหมายซึ่งอยู่ห่างไกลนี้
แม้ว่าจะคล้ายคลึงกับ “การไปสู่พื้นที่อื่น” แต่ก็ไม่ได้มีความหมายเดียวกัน
การไปยังจุดหมายซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปทำให้การเดินทางสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายแนวทาง
และแม้ว่าบางครั้ง “พื้นที่อื่น” กับ “จุดหมายที่อยู่ห่างไกล” จะสามารถเป็นสิ่งเดียวกัน
แต่โดยมากการเริ่มต้นของมันจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
การเดินทาง กลายเป็นนิยามใหม่
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องการอยู่ในแพ็กเกจ
และข้อเขียนเกี่ยวกับการเดินทางก็ให้ความสำคัญกับ “จุดมุ่งหมาย”
ของผู้เขียนก่อนสิ่งอื่นใด
จึงทำให้ข้อเขียนเกี่ยวกับการเดินทางหลายครั้งอยู่ห่างไกลจากคำว่า “สารคดี” และหลายครั้งมันก็แทบไม่ต่างจาก “ความเรียง” หรือ “บันทึก”
แต่อย่างใด (ข้อเขียนชนิดนี้ จำนวนมาก นิยมนิยามตัวเองว่า “บันทึกการเดินทาง”)
อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า หนังสือ ย่านเก่า
มุมเมือง และเรื่องเล่า ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า สารคดีท่องเที่ยว หรือ
บันทึกการเดินทาง ดังนั้น เราอาจจะผสมผสานความหมายของทั้งสองอย่างขึ้นว่า “การไปยังจุดหมายที่อยู่ห่างไกลเพื่อความเพลิดเพลิน”
ย่านเก่า มุมเมือง และเรื่องเล่า
เป็นเรื่องราวของชุนชนเก่าตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย
จุดสนใจของเรื่องราวจึงอยู่ที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นั่น และความเป็นท้องถิ่นของพวกเขา
รวมถึงที่มาที่ไป ประวัติศาสตร์ และความรู้อื่น ๆ
ที่จะมาร่วมสนับสนุนในการสร้างความสัมพันธ์กับย่านเก่าที่เราไปเยือน
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดของการท่องเที่ยวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกทัศนคติ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน ซึ่งก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์กับถิ่นที่ไปเยือน
มันจึงเป็นการนำเสนอประสบการณ์ พร้อม ๆ
กับให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนที่เคยรุ่งเรืองในอดีต หรือมีความเป็นมาที่น่าสนใจ
และด้วยประสบการณ์นี้ หนังสือเล่มนี้จะค่อย ๆ นำเราเข้าไปทำความเข้าใจกับพื้นที่อื่นที่ลึกซึ้งขึ้น
ทำให้เราได้รับสิ่งที่นอกเหนือไปจากความเพลิดเพลิน
ให้สายตาที่จะทำให้บังเกิดความละเมียดละไม
ทำให้การไปสู่จุดหมายที่ห่างไกลและการไปยังพื้นที่อื่นเป็นการเรียนรู้ที่มีค่า
นอกจากเป็นเพียงการออกจากพื้นที่ประจำอันซ้ำซากและน่าเหนื่อยหน่าย
ในฐานะหนังสือสารคดีการเดินทางท่องเที่ยวเล่มหนึ่ง
จุดเด่นประการสำคัญของ ย่านเก่า มุมเมือง และเรื่องเล่านี้
คือประสบการณ์เดินทางที่แม้จะมีสถานที่เป็นจุดหมาย
แต่สิ่งที่จะนำเราไปสู่จุดหมายนั้นแท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ถนน เราไม่สามารถนั่งรถไปยังเมืองจันท์
หรือถนนนางงามในเมืองสงขลา หาที่พักสัก 3 คืน
แล้วกลับมาด้วยประสบการณ์แบบเดียวกับผู้เขียน
คนเดินทางท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง
ย่อมเคยมีประสบการณ์เดินทางไปยังสถานที่บางแห่ง ด้วยจินตนาการบางอย่าง
และความคาดหวังบางประการ เราจับรถ นั่งเรือ เมื่อไปถึงก็หาที่พัก อยู่สัก 4 คืน
แล้วก็นั่งเรือ จับรถ กลับมาด้วยความรู้สึกที่ว่า “เราไม่ได้ไปไหนมาเลย”
เพราะกุญแจสำคัญของการเดินทางไปสู่
ย่านเก่า และมุมเมือง ก็คือ เรื่องเล่า นั่นเอง
และย่อมจะต้องเป็นเรื่องเล่าจากผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นจริง ๆ
และก็เป็นเรื่องเล่าที่เราไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการอ่าน แม้แต่จากหนังสือเล่มนี้
เพราะเรื่องเล่านั้นเราจะต้องทำให้มันเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้คนที่อยู่ที่นั่น
คนและเรื่องราวของพวกเขาจึงคือความหมายที่แท้จริงของเรื่องเล่า
ที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสถานที่ และนำเราไปสู่การเดินทางที่ไม่ต้องมีถนน
นอกจากนี้ ท้ายหนังสือเล่มยังมีภาคผนวก
ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและบ้านเรือนแบบต่าง ๆ
เป็นความรู้ที่เราอาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการสัมพันธ์กับสถานที่ได้อีกทางหนึ่ง
พิมพ์ครั้งแรกวารสารหนังสือใต้ดิน
Comments
Post a Comment