ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์
"เป็นผู้ชายต้องสู้คน
ไม่แสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น ซื่อสัตย์ต่อมิตร และเที่ยงธรรมต่อผู้อื่น รักษาคำพูด
จำแนกบุญคุณความแค้นแจ่มชัด" เป็นความหมายของลูกผู้ชายในจารีตแบบเก่าที่
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ให้ไว้ในงานเขียนชิ้นที่ชื่อว่า
ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์
ส่วนมาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายสำหรับ โตมร ศุขปรีชา นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย
โตมรเขียนถึงหนังเรื่อง แฟนฉัน ไว้ในคำนำ GM ฉบับธันวาคม
2546
โดยคำนำนี้อ้างถึงข้อเขียนของผมเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์ใน
เนชั่นสุดสัปดาห์
เนื้อหาในข้อเขียนของผมที่โตมรเอ่ยถึงนั้น
พูดถึงประเด็นชนชั้นที่ส่อออกมาจากปรากฏการณ์แฟนฉันโดยไม่รู้ตัวทั้งผู้สร้างและผู้เชียร์
อันที่จริงผมไม่ได้เจาะจงไปที่ชนชั้นโดยตรง แต่หันไปเสนอความเป็นโลกสองใบ
เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงมายาคติของชนชั้นกลางที่แสดงออกผ่านหนังเรื่องนี้
แต่เมื่ออ่านคำนำนี้ ผมก็พบว่าโตมรคิดไปไกลกว่าผมเสียอีก
เขาได้วิพากษ์วิจารณ์หนังเรื่องนี้ไว้อย่างถึงพริกถึงขิง สิ่งที่เขาเน้นย้ำเป็นพิเศษก็คือความรุนแรง
ซึ่งเขาเห็นว่ามันมาแบบมากหน้าหลายตาเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงแบบตรง ๆ
อย่าง การตัดหนังยางของเจี๊ยบ หรือมาแบบเชิงโครงสร้าง มาแบบเชิงวัฒนธรรม ซึ่งทำให้
เด็กผู้ชายคนหนึ่งต้อง ดิสเพลย์ตัวเองในแบบที่ผู้ชาย 'ควร' จะเป็น
และบังคับให้เขาต้องดัดตัวเองเพื่อให้เข้ากับ 'มาตรฐานความเป็นลูกผู้ชาย' และเขาได้สรุปสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายไว้ว่า
"ปัญหาสังคมหลายอย่างเกิดขึ้นก็เพราะผู้คนยินยอมให้ค่านิยมแบบเชิดชู
'มาตรฐานความเป็นลูกผู้ชาย' เข้าครอบงำนั่นแหละ
ตั้งแต่การกดขี่ผู้หญิงในระดับจิตใต้สำนึก ใต้หน้ากากสุภาพบุรุษ
การเอาชนะคนที่ยากจนและด้อยโอกาสกว่าตัวเอง
โดยมองไม่เห็นถึงความยากจนและด้อยโอกาสนั้น การพนัน รวมไปถึงความรุนแรงหลากชนิด
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวิธีคิดแบบ 'เด็กผู้ชาย' ที่ครอบงำสังคมเล็ก
ๆ แห่งนั้น..."
มีข้อสังเกตหนึ่งที่อาจเป็นได้ทั้งข้อขัดแย้งและข้อสนับสนุนสิ่งที่โตมรเขียนไว้ก็คือ
เกือบทุกคนที่ชอบหนังเรื่องแฟนฉันจะสะเทือนใจกับฉากเจี๊ยบตัดหนังยางของน้อยหน่า
และผู้สร้างเองก็จัดให้ฉากนี้เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง
การที่คนส่วนใหญ่สะเทือนใจกับฉากนี้สะท้อนอะไรบางอย่างออกมา
อย่างน้อยก็สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจี๊ยบ
และหากการตัดหนังยางเกี่ยวข้องกับมาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายดังที่โตมรกล่าวไว้
การที่คนส่วนใหญ่สะเทือนอารมณ์กับฉากนี้ก็สะท้อนว่า
บัดนี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายไปเสียทั้งหมดอีกแล้ว
อันที่จริงสังคมไทยในระยะหลังได้ผลิตวาทกรรมจำนวนมากเข้าหักล้างวาทกรรมลูกผู้ชาย
ส่งผลให้สถานะของวาทกรรมลูกผู้ชายตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และเมื่อพูดถึงมาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายแล้ว บุคคลแรกที่ผมนึกถึงก็คือ เสกสรรค์
ประเสริฐกุล
"...หญิงสาวยังต้องมีผัวและเด็กน้อยยังต้องมีพ่อ
ถึงอย่างไรทั้งสองประการนี้ก็ยังมีฐานะมากกว่าปรากฏการณ์ทางด้านชีววิทยา
ใครเล่าต้องการสามีที่ไม่เคยเปิดประตูรถให้
หรือต้องการบิดาประเภทที่แย่งลูกเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทั้งวัน
บิดาและสามีเป็นจินตภาพทางวัฒนธรรม
และคำจำกัดความของทั้งสองอย่างย่อมขึ้นต่อนิยามทางวัฒนธรรมของความเป็นผู้ชาย..."
นี่คือสิ่งที่เสกสรรค์ถามสังคมไทยเอาไว้ในงานชิ้นที่ชื่อว่าผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์
และเมื่อรวมกับการวิพากษ์วิจารณ์ของโตมรเราก็จะเห็นว่า
มาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายนั้นเป็นทั้งสิ่งที่ทั้งดีและเลวในตัวเอง
สิ่งที่เลวนั้นอาจจะเป็นเช่นที่โตมรวิจารณ์เอาไว้ ขณะสิ่งทีดีนั้นก็อาจจะเป็นเช่นที่เสกสรรค์ทวงถามเอาไว้
ทว่าประเด็นสำคัญก็คือ
มาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวเช่นนั้นหรือ
อันที่จริงหน่วยทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นจารีต
ประเพณี หรือชุดของค่านิยมหรือการประพฤติปฏิบัติอะไรก็ตามในสังคมต่างก็ไม่ได้ตั้งอยู่โด่
ๆ ให้เราเลือกชอปปิ้ง หยิบเอาไปใช้ได้ตามใจชอบ
จารีตแบบลูกผู้ชายที่เสกสรรค์ถามหานั้นย่อมเปลี่ยนแปลงเมื่อสังคมเปลี่ยนไป
ขณะเดียวกัน
มาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายแบบที่โตมรวิพากษ์วิจารณ์ไว้นั้นก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถถอดออกได้โดยไม่กระทบกับคุณสมบัติฝ่ายดีข้างต้น
เมื่อเวลาที่เราต้องเลือกให้มีอะไรหรือไม่มีอะไรในสังคม
เราไม่สามารถเลือกถอดหรือใส่อะไรก็ได้เป็นส่วน ๆ
ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมนั้น เมื่อจุดหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับ
มันย่อมมีจุดอื่น ๆ ที่ได้รับผลสะเทือน และหลาย ๆ จุดก็สามารถพังทลายไปพร้อมกันด้วย
เราจึงจำเป็นต้องมองทะลุไปให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความรุนแรงอย่างการตัดหนังยางของเจี๊ยบ
กับแง่งามของสัจวาจาและคุณธรรมน้ำมิตรของผู้ชาย
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณธรรมน้ำมิตรสัจวาจากับความรุนแรงก้าวร้าวเป็นสองหน้าบนเหรียญเดียวกัน
และเมื่อองค์ประกอบทางสังคมเปลี่ยนไป เกิดแรงผลักให้เหรียญพลิก
การยึดมั่นคุณธรรมยึดถือวาจาสัตย์กลับกลายเป็นความกร้าวร้าวรุนแรงไม่ผ่อนปรน
ในเวลาเช่นนี้สังคมจะเลือกอะไร ระหว่าง ความสง่างามที่แฝงความรุนแรง กับ
ความกลิ้งกลอกที่อ่อนโยน ในกรณีเช่นนี้โลกทัศน์ที่มองอะไรเป็นส่วน ๆ
จะหาคำตอบได้อย่างไร
มาตรฐานความเป็นลูกผู้ชายไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน
และไม่อาจถูกกำหนดได้โดยใครบางคน หรืออะไรบางอย่างเท่านั้น
แต่เป็นต้นทุนที่สังคมสะสมมาและสังคมก็ต้องจ่ายไปเมื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่
จะด้วยอะไรก็ตาม ปัจจุบันมาตรฐานของลูกผู้ชายแบบ ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์ นั้นใช้ไม่ได้
และไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปแล้ว
ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์จึงสูญพันธุ์เพื่อให้ได้มาซึ่ง
ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์
คำถามก็คือ ผู้ชายที่กำลังสืบพันธุ์ นี้
มีมาตรฐานความเป็นผู้ชายแบบใด
คำตอบของคำถามนี้เป็นเช่นใด
หรือเราหวังให้คำตอบเป็นเช่นใด ผมได้แต่หวังว่าเราจะไม่เลือกชอปปิ้งคุณสมบัติของผู้ชายเป็นส่วน
ๆ อย่างที่ผ่านมา
พิมพ์ครั้งแรก open 43, กรกฎาคม 2547
Comments
Post a Comment