ออกไปข้างใน
ออกไปข้างใน ของ นฆ ปักษนาวิน
เป็นรวมเรื่องสั้นที่ห่มคลุมไปด้วยบรรยากาศของอดีตและการหวนถึงอดีต
หลายเรื่องยังมีกลิ่นอายแบบ i novel ของญี่ปุ่น
หรืออันที่จริงก็คือเรื่องกระแสสำนึกแบบ naturalism แต่ก็มีหลายเรื่องที่คลี่หลายออกหรือเริ่มจะคลี่คลายจาก
naturalism แล้ว เช่น กลุ่มจิตบำบัด, สวรรค์ชายขอบ,
นอร์ท วินด์ บุ๊คส์, ประวัติย่อของบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่จบสิ้น,เรือนจำสองร้อยปี เป็นต้น
มุมมองการเล่าเรื่องหลัก ๆ
ส่วนใหญ่ยังใช้มุมมองของตัวละครบุรุษที่หนึ่ง มีการสับ หรือกระโดดมุมมอง
ไปเป็นบุรุษที่สอง และสาม แต่กระแสของเสียงเล่าก็มักจะเป็นบุรุษที่หนึ่งเพียงแต่อาจจะมีเสียงเล่าซ้อนกันหลายชั้น
มีเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ใช้เสียงเล่าของมุมมองนี้คือเรื่อง
ประวัติย่อของบางสิ่งที่ยังไม่จบสิ้น (ซึ่งปรากฏว่าเป็นเรื่องที่อ่อนที่สุดในเล่ม)
เรื่องสั้นหลายเรื่องมีน้ำเสียงและให้มิติที่น่าสนใจ
ในจำนวนนี้มีเรื่องสั้นที่กล่าวได้ว่าทรงพลังจนเรียกว่าเป็น "ชิ้นเอก"
เลยทีเดียวคือเรื่อง "แผลเป็น" ในขณะที่เรื่องอย่าง กลุ่มจิตบำบัด,
สวรรค์ชายขอบ, เต่ากระและฉลาม และ
กฎแห่งคู่แปด ก็กล่าวได้ว่ามีน้ำเสียงที่ "ใหม่" อย่างน่าสนใจ
แม้ผมจะชอบเรื่องแผลเป็น
และเห็นว่ากลุ่มจิตบำบัดก็โอเค แต่หมายเหตุไว้ชัด ๆ ตรงนี้ว่า
ผมไม่ถือว่าเรื่องสั้นเรื่องใดในเล่มนี้คือ "การพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยตรง"
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มี
"ลูกเล่น" หนึ่งของผู้เขียน คือ มีตัวละครตัวหนึ่ง ชื่อ ปาริสุทธิ์
ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นหลายเรื่อง แม้เหตุการณ์ของแต่ละเรื่องจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน
ลูกเล่นนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เคยมีในวรรณกรรมไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว ตัวละคร
"ปาริสุทธิ์" นี้ นอกจากปรากฏในเรื่องสั้นแล้ว
ยังปรากฏในงานศิลปะแขนงอื่นของผู้เขียนด้วย
ดูจากท่วงทีของการสร้างสรรค์แล้ว
ปาริสุทธิ์ เป็นเหมือนกับเครื่องมือที่ใช้สร้าง "สัมพันธบทจำลอง"
ขึ้นในงานของผู้สร้าง คือไม่ได้จำกัดแค่เพียงงานเขียน แต่ข้ามไปศิลปะแขนงอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม เฉพาะจากที่อ่านรวมเรื่องสั้น เห็นว่า สัญญะ และ สัมพันธบท
ของปาริสุทธิ์ยังไม่มีอะไรโดดเด่นหรือน่าสนใจเป็นพิเศษ
ภาษาที่ปรากฏในรวมเรื่องสั้น
เป็นภาษาเรียบ ๆ และออกจะทื่อ ๆ
แต่หลายช่วงหลายตอนก็เป็นการบรรยายที่ให้มิติได้อย่างน่าสนใจ จริง ๆ แล้วโดยภาพรวม
ผมชอบภาษาของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้พอสมควร ถ้าไม่นับข้อความเก้งก้าง
ขาดเกินนิดหน่อย หรือทื่อจนบื้อที่ยังเห็นอยู่บ้าง
หากพูดถึงรวมเรื่องสั้นในโทนเดียวกันที่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน
ผมว่าโดยภาพรวม ออกไปข้างใน ของ นฆ ปักษนาวิน น่าสนใจกว่า
แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ ของ จเด็จ กำจรเดช ที่ได้ซีไรต์ก่อนหน้า
ออกไปข้างใน เป็นรวมเรื่องสั้นที่โดยภาพรวมแล้ว ถือว่า "มาตรฐานสูง"
มีความน่าสนใจ ทั้งมุมมอง เนื้อสาร และท่วงทีการเล่าเรื่อง
แต่มีสิ่งที่ผมไม่ชอบอยู่สองสามอย่างในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้
อันแรกคือชื่อเล่ม "ออกไปข้างใน" มันเชยไปหน่อย ถ้าผมเป็น บก.
อาจจะแนะให้เอาชื่อเรื่องสั้นบางชื่อที่น่าสนใจในเล่มมาตั้งเป็นชื่อปกแทน เช่น
"ประวัติย่อของบางสิ่งที่ยังไม่จบสิ้น"
แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่สองที่ผมไม่ชอบ เป็นเรื่องที่อ่อนที่สุดในเล่ม
และเรียกว่าไม่เป็นสับปะรดขลุ่ยเอาเสียเลย (ภาษาแดนอรัญ)
เห็นได้ชัดว่าพอขาดมุมมองบุรุษที่หนึ่ง (แบบปัจเจก) ไป
ผู้เขียนก็เล่าเรื่องไม่ได้ความเลย
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีลักษณะที่ยืมมาจาก
"สัจนิยมมหัศจรรย์" และก็ใช้ได้อย่างมีเสน่ห์พอสมควร
แต่มันไม่ใช่เรื่องสั้น "เซอเรียลลิสต์"
อย่างที่มติชนโฆษณาไว้ในเว็บไซต์ข้างล่างแน่ ๆ ผมว่าบ้านเราเข้าใจคำนี้กันผิด ๆ
และอ้างกันผิด ๆ อยู่มาก รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเซอร์เรียลลิสต์สักเท่าไรหรอกครับ
มันคือรวมเรื่องสั้นไทยร่วมสมัยที่หยิบยืมสไตล์อื่น ๆ มาอย่างหลากหลายนั่นแหละ
เรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย
"เรือนจำสองร้อยปี"
ผู้เขียนพยายามใช้วรยุทธ์ขั้นสูงเพื่อขับสัญญะบางอย่าง แต่ลมปรานยังไม่ถึงขั้น
เรื่องออกมาจืดและเก้งก้าง ผู้เขียนพยายามเขียนภาษาเก่าโดยไม่เข้าใจไวยากรณ์
การเรียงตัวของรูปประโยค เป็นอีกเรื่องที่เขียนออกมาไม่เป็นสับปะรดขลุ่ยสักเท่าไร
สังเกตว่านักเขียนรุ่นใหม่หลายคนพยายามจะเอาภาษาเก่ามาเล่นมาเขียน
แต่เห็นได้ชัดว่าไม่เข้าใจไวยากรณ์ น้ำเสียงของคำเก่าจริง ๆ บางทีเอามาแต่คำ
แต่การเรียงประโยคเป็นปัจจุบัน ก็เป็นคำเก่าในไวยกรณ์ใหม่
บางทีก็เอาคำต่างยุคต่างสมัยมาปนกันมั่วไปหมดจน "เวลา"
ที่ฝังอยู่ในคำเละและหลง และไม่ได้สื่อความอะไรเลย
สาเหตุก็เพราะประสบการอ่านเอกสารเก่าน้อยเกินไป
เพียงคนเดียวที่เข้าใจไวยากรณ์ของคำเก่าจริง
ๆ และทำได้ดีในเรื่องนี้คือ อติภพ ภัทรเดชไพศาล
สรุปโดยรวม ออกไปข้างใน
ก็เป็นรวมเรื่องสั้นที่ผมชอบ (มากกว่าไม่ชอบ) เล่มหนึ่ง มีความน่าสนใจ และจริง ๆ
ดูจากคุณภาพแล้วควรจะเข้ารอบซีไรต์นะ อย่างไรก็ตาม
ผมไม่ได้อ่านเรื่องอื่นที่เข้ารอบ รวมทั้งเล่มที่ได้รางวัลด้วย
(เคยอ่านเฉพาะเรื่องอสรพิษ กับอีกเรื่องที่เคยลงอันเดอร์กราวจ์
นอกนั้นไม่ได้อ่านจึงบอกภาพรวมของเล่มนี้ไม่ได้)
แต่อย่างน้อยมันก็เหนือกว่ารวมเรื่องสั้นซีไรต์เล่มก่อน (แดดเช้าฯ) ซึ่งถ้า
"ออกไปข้างใน" จะได้ซีไรต์ปีนี้ก็ไม่แปลก
นอกจากเล่มอื่นที่เข้ารอบจะดีกว่าจริง ๆ (แต่ผมว่ามีโอกาสที่กรรมการห่วยมากกว่าเล่มอื่นดีกว่าจริง
ๆ)
7-11-14
Comments
Post a Comment