แย้งใบตองแห้งเรื่องสิทธิวีโต้ของกษัตริย์



อ่านบทความ "ศาลสั่งใคร?" ของพี่ใบตองแห้งที่บล็อกวอยซ์ทีวีแล้ว ไม่เห็นด้วยกับสองประเด็นหลัก ๆ นะครับ

อันแรกคือที่ใบตองแห้งเขียนในลักษณะตั้งคำถามว่าที่ศาลวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ผิดนั้น ศาลกำลังสั่งใคร เพราะร่างกฎหมายทูลเกล้าไปแล้ว :

"ฉะนั้นถ้าศาลจะสั่ง ก็เหลือแต่สั่งพระมหากษัตริย์ให้ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ถามว่าศาลมีอำนาจหรือ ถามว่าศาลบังอาจหรือ"

สังเกตว่า โดยนัยของประโยคคำถามของใบตองแห้ง เหมือนจะเห็นว่าศาลไม่มีสิทธิ์สั่งพระมหากษัตริย์นะครับ เช่นที่ใช้คำว่า "มีอำนาจหรือ" และ "บังอาจหรือ"

ซึ่งตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย และเห็นว่าคำกล่าวของใบตองแห้งอาจจะทำเสียหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้องไป เพราะ

ถ้าในกรณีที่เป็น "เรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจ" ของศาลจริง ๆ คือมีการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองจริง ศาล "ควร" หรือ "ต้อง" มีสิทธิ์ "สั่งพระมหากษัตริย์" ได้นะครับ เช่น:

(ตัวอย่างสมมติ) ประธานองคมนตรี เดินทางไปตามค่ายทหารในนามของกษัตริย์ และกษัตริย์อนุญาต หรือเป็นผู้ใช้ให้ไป (ย้ำว่าตัวอย่างนะครับ) เพื่อยุยงให้ทหารก่อการรัฐประหาร

ถามว่า พฤติการณ์ตามตัวอย่างที่ยกมานี้ หากมีผู้ร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ "มีอำนาจสั่งพระมหากษัตริย์" ไหม?

ผมไม่ใช่นักกฎหมายนะ แต่คิดตามสามัญสำนึก ในเมื่อสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมีการกระทำผิด (ตามตัวอย่างที่สมมติ) ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ศาลน่าจะมีอำนาจ "สั่งกษัตริย์" ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญนะครับ

อันที่สอง พี่ใบตองแห้งบอกว่า

"พระมหากษัตริย์อาจทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย ไม่ได้เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาล"

อันนี้คือไม่ทราบว่า ใบตองแห้งแค่จะยืนยันสิทธิในการ "วีโต้" กฎหมายของกษัตริย์ หรือจะยืนยัน "พระราชอำนาจ" ที่เกินกว่ารัฐธรรมนูญ?

คือถึงแม้ว่ากษัตริย์จะวีโต้กฎหมายได้ แต่ก็แค่ส่งกลับมาให้รัฐสภาทบทวนนะครับ ถ้ารัฐสภาจะ "ยืนยัน" ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็สามารถทำได้ด้วยการถวายกลับไปใหม่ ถ้าไม่เซ็นลงมาอีกในเวลาที่กำหนดก็สามารถประกาศใช้กฎหมายได้เลยเสมือนหนึ่งว่าเซ็นลงมาแล้ว (มาตรา 150, 151)

พูดง่าย ๆ ก็คือ กษัตริย์มีสิทธิ์ "วีโต้" กฎหมายได้ครั้งแรกแค่ครั้งเดียว ถ้าวีโต้แล้วสภายัง "ยืนยัน" ก็สามารถทูลเกล้ากลับไปให้เซ็นได้ ถ้าไม่ยอมเซ็น ก็ประกาศใช้ได้เลย


วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

Comments