แม่นาค






แม่นาค เป็นนิยายเรื่องล่าสุดของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์นามสุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ลงเป็นตอน ๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ จากนั้นจึงได้รับการพิมพ์เป็นหนังสือเล่มโดยสำนักพิมพ์สามัญชน

แม่นาค ไม่ใช่แม่นาคพระโขนง และไม่มีอะไรเกี่ยวกับพระโขนง ไม่มีอะไรเกี่ยวกับผีตายทั้งกลม หากจะมีอะไรเกี่ยวกับผีก็เป็นผีแถนผีฟ้าไม่ใช่ผีคน และนิยายเรื่องนี้ก็โปรยปกไว้ใต้ชื่อเรื่องว่า นวนิยายฉายวิถีชีวิตบรรพชนคนไทย

ดินอยู่ล่าง ฟ้าแถนอยู่บน ผีกับคนด้นแดนแล่นไปมาหากันไม่ขาดหาย เหมือนลมปลายไม้กับลมยอดหญ้า

น้ำเต็มนา ปลาเต็มหนอง ข้าวตั้งท้องเต็มทุ่งจนแก่ บางต้นออกรวงได้แดดลมแรง มีเม็ดเปลือกทั้งอ่อนแข็งค้อมโค้งลงดินน้ำ

บ้านพานเมืองแผนมีน้ำเพียงดิน แล้วนองดาดเต็มนาเต็มหนอง ในหุบห้วยละหานคูคลองกับแม่น้ำเนื่องแน่นไป ในเมื่อสิ้นน้ำฟ้าฟาดฟองหาว ปลาดินดาวเดือนแอ่น ลมกล้าป่วนไปมาก็ลดลง แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลาย

แม่นายเป็นแม่หญิงผู้ใหญ่แห่งลุ่มน้ำบ้านพานเมืองแผน คนทั้งหลายในลุ่มน้ำมีหลายบ้าน พากันยกย่องแม่หญิงขึ้นเป็นนาย เป็นหัวหน้า เป็นผู้มีอำนาจขาดสุดในลุ่มน้ำ...

นวนิยายเรื่อง แม่นาค เปิดเรื่องขึ้นด้วยการบรรยายฉากภาพของ บ้านพานเมืองแผนชุมชนชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีลำน้ำสายใหญ่คือแม่น้ำจระเข้ไหลไปออกชายเลนโคลนตมกว้างใหญ่ใกล้ทะเลสมุทร หมู่ชนเหล่านี้อยู่กันเป็นบ้านเป็นหมู่ แยกหมู่แยกบ้านกันไปตามโคตร แต่ละโคตรก็จะมีผีประจำโคตรของใครของมัน  แม่นาย หรือ แม่นาค คือผู้นำของหมู่ชนเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นใหญ่ตลอดลุ่มน้ำกว้างไกลนี้ เนื่องจากผีแถนให้ผู้หญิงเป็นนายผู้ชายเป็นบ่าว

มีผู้สาวผู้บ่าวคู่หนึ่งตะคุ่ม ๆ ใบพุ่มไม้มืด หมอบคร่อมกันกระเด้งกระเด้ากระดกกระดนก้นกระโด่

มึงเลี้ยงกูเป็นบ่าวไหมผู้บ่าวถามเบา ๆ

ถ้าขยันงานกูเลี้ยงผู้สาวลุกขึ้นนั่ง ขี้เกียจงานกูไม่เลี้ยง

ผู้คนชาวบ้านพานเมืองแผนนับถือผีแถนผีฟ้าซึ่งถือเป็นผีที่ให้กำเนิดผู้คนออกมาจากน้ำเต้าปุง และต่อมาก็สอนให้ทำไร่ทำนา ชาวบ้านพานเมืองแผนต่างเซ่นไหว้ผีฟ้าออกลูกหลานสืบกันมาจนกระทั่ง แขกหัวโล้นเดินทางมาถึงและกล่าวเทศนาผู้คนชาวบ้านพานเมืองแผนว่า ผีแถนผีฟ้าไม่มี มนุษย์เกิดจากธรรมชาติ กาลก่อนจักรวาลเป็นท้องน้ำล้ำลึกนิ่มนวลและมืดมน ไม่มีตะวันไม่มีเดือนไม่มีดาว...

กล่าวว่าสุจิตต์ วงษ์เทศจำลองสถานการณ์การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธเป็นครั้งแรกของพระจากอินเดียในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นในนิยายเรื่องแม่นาคก็ไม่ผิด แน่นอนว่าฝ่ายแม่นาคผู้เป็นใหญ่แห่งบ้านพานเมืองแผนย่อมเห็นคำสอนของเหล่าสมณะเป็นเรื่องเล่าเหลวไหล ในขณะที่ฝ่ายแขก ทั้งสมณะแขกพราห์มและเหล่าพ่อค้าวาณิชจากเมืองแขกทั้งขบวนก็มองเห็นชาวบ้านพานเมืองแผนเป็นหมู่ชนล้าหลังงมงาย เป็นพวกวรรณะต่ำเช่นเดียวกับพวกจัณฑาล ขณะเดียวกัน ชาวต่างถิ่นที่เข้ามาแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่บ้านพานเมืองแผนก็ไม่ได้มีแต่พวกแขกเท่านั้น ยังมีพวกจุ่นจู๊พวกคนเมืองกว้างเข้ามาทำมาค้าขายด้วยเช่นกัน

ชาวบ้านพานเมืองแผนแยกอยู่กันเป็นบ้าน วันดีคืนดี บ้านอื่นก็ยกคนเข้าปล้นบ้านของแม่นาค หมู่ชาวบ้านพานเมืองแผนต่างปล้นกันไปปล้นกันมาก็หลายครั้งหลายครา ฝ่ายแพ้ก็ขอขมาส่งเครื่องสังเวยมาเซ่นไหว้ อาวุธของชาวบ้านพานเมืองแผนมีเพียงหน้าไม้ หอก แหลน หลาว  ซึ่งด้อยกว่าอาวุธทันสมัยของคนแขกหรือชาวเมืองกว้างอย่างธนูศรหรือตาวเหล็กตาวแสง ทั้งชาวแขกและชาวเมืองกว้างต่างก็มองเห็นผู้คนบ้านพานเมืองแผนเป็นคนป่าล้าหลัง และที่ขัดหูขัดตาพ้องกันก็คือ คนเผ่าเหล่านี้ยกผู้หญิงขึ้นเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิปริตผิดเพี้ยนในสายตาของทั้งชาวแขกและชาวเมืองกว้าง

ในที่สุดทั้งฝ่ายแขกและฝ่ายชาวเมืองกว้างก็ตกลงผลประโยชน์กัน โดยฝ่ายแขกยินยอมแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเสียเปรียบกับชาวเมืองกว้าง แต่มีเงื่อนไขห้ามพวกจุ่นจู๊และชาวเมืองกว้างขัดขวางชาวแขก ขบวนพ่อค้าวาณิชสมณะพราห์มแขกนั้นไม่ได้มาค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่ถือคำสั่งราชาให้มาเผยแพร่ศาสนาพุทธให้ลงหลักปักฐานยังบ้านพานเมืองแผน ในที่สุดทั้งพวกแขกและพวกเมืองกว้างก็ล้มทำลายพิธีบูชายัญเซ่นผีฟ้าของแม่นาค และสถาปนาผู้ชายขึ้นเป็นใหญ่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำ

นิยายเรื่องแม่นาค เต็มไปด้วยการตีความทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงบอกเล่ารากเหง้าที่มาของคนไทย ยังบอกเล่าที่มาของคำไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจำนวนมาก พิธีทำขวัญนาคให้กับผู้ชายในการบวชก็ได้รับการตีความว่าเป็นการประนีประนอมกันระหว่างพุทธกับผี ไม่ใช่พุทธกับพราห์มอย่างที่หลายคนเข้าใจ

แม่นาคเขียนขึ้นด้วยลีลาภาษาสำนวนอย่างเรื่องเล่าที่แทรกคำพ้องคำคล้องไว้ขับเล่าคำอย่างรื่นปาก เป็นนิยายตีความประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่มากกว่าจะอิงกับประวัติศาสตร์เล่มที่มีอยู่ และต้องกล่าวย้ำว่าเป็นการตีความของผู้เขียนนามสุจิตต์ วงษ์เทศ นามซึ่งไม่อาจถูกปฏิเสธจากแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ นอกจากนี้แล้วผู้เขียนยังเล่นล้อกับเพศสภาพและแนวคิดเกี่ยวกับการกดขี่ทางเพศเอาไว้อย่างแนบเนียน (เช่นการให้ผู้ที่ตี ดาบฟ้าร้องเป็นกะเทย)

นี่จึงเป็นนิยายที่ต้องอ่านด้วยประการทั้งปวงสำหรับคนไทย (ผู้หญิง) โดยเฉพาะ



สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักประวัติศาสตร์ ที่มีบทบาทกว้างไกลทั้งในแวดวงหนังสือพิมพ์ แวดวงวรรณกรรม และแวดวงประวัติศาสตร์  เป็นผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ประชาชาติร่วมกับขรรชัย บุนปาน เมื่อครั้งก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก่อนถูกปิดไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา  ภายหลังสุจิตต์ได้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งหนังสือพิมพ์ มติชน และเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม  สุจิตต์มีผลงานวรรณกรรมตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนนุ่งขาสั้น ผลงานวรรณกรรมที่โดดเด่นมีเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น รวมเรื่องสั้น ขุนเดช  นิยาย หนุ่มหน่ายคัมภีร์ และบทกวีอีกจำนวนมาก  อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสุจิตต์ห่างหายไปจากการเขียนงานวรรณกรรม โดยมีผลงานวิชาการประวัติศาสตร์ออกมาเป็นจำนวนมาก  แม่นาค จึงเป็นผลงานวรรณกรรม ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เล่มแรกหลังจากนามนี้แทบจะถูกลืมไปแล้วในแวดวงวรรณกรรม กระนั้นลีลาเรื่องเล่าของสุจิตต์ก็ยังคงหลากไหลอย่างทรงพลัง พร้อมถูกขับให้คมเข้มขึ้นด้วยแง่มุมทางประวัติศาสตร์ไทย  สมกับที่สำนักพิมพ์โปรยคำไว้ที่ปกหลังว่า สุจิตต์ วงษ์เทศตัวจริงกลับมาแล้ว!

พิมพ์ครั้งแรก นิตยาสาร IMAGE

Comments