สามานย์ สามัญ






สามานย์ สามัญ เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีรสชาติจัดจ้าน และแสดงเจตนาอย่างกระจ่างชัดที่จะพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่

เนื่องจากสภาวะ 2 ขั้วและปัจจัยอืน ๆ ทำให้การพูดเรื่องการเมืองมีความเสี่ยงและนักเขียนส่วนใหญ่ก็มักจะ "เพลย์เซฟ" ด้วยการอำพรางเจตนาและเนื้อสารไว้ภายใต้การอุปมาต่าง ๆ

อุทิศเป็นหนึ่งในนักเขียนไม่กี่คนที่แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านผลงานวรรณกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมขอแสดงความนับถือและชื่นชม

นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ผมชอบมากอีกสิ่งหนึ่งในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนกล้าเขียนแบบไม่กลัวเสียฟอร์ม และไม่กลัว "เสียมาด" (นักเขียน) แต่อย่างใดทั้งสิ้น กล้าที่จะนำภาษาของนิยายวัยรุ่นรุ่นใหม่มาใช้เล่าเรื่อง กล้าที่จะแสดงน้ำเสียง กล้าที่จะเปิดเผยจริตและตัวตนทางการเมืองในสภาวะอิหลักอิเหลื่อ

แม้ว่าหนังสือจะบอกไว้ชัดเจนที่คำนำ และตรงชื่อของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องว่าต้องการแสดงความหมายแบบ "เหรียญสองด้าน" ซึ่งเป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่าน อ่านแล้วย้อนกลับไปอ่านอีก เพื่อเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเรื่องเดียวกันและต่างเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องแรกกับเรื่องสุดท้ายที่ล้อกัน แต่ลำพังการอ่านธรรมดาแบบไม่ต้องคิดมากก็มองเห็นเนื้อสารค่อนข้างกระจ่าง

เป็นเรื่องสั้นที่อ่านง่ายและอ่านค่อนข้างสนุก

ถึงแม้ผมจะชอบท่าทีของผู้เขียนในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ แต่ก็เห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องสั้นที่สมบูรณ์แบบหรือยอดเยี่ยม หากแต่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง คือถ้าผมให้คะแนนเล่มนี้ ก็คงจะให้น้อยกว่า ออกไปข้างใน (ของนฆ ปักษนาวิน) เนื่องจากเรื่องหลังมีข้อบกพร่องน้อยกว่า พูดเรื่องที่ลึกกว่า มีทักษะที่ดีกว่า ควบคุมน้ำหนักและสมดุลของเรื่องได้ดีกว่า

ไม่ใช่ว่า "สามานย์ สามัญ" จะเขียนไม่ดี โดยรวมแล้วอุทิศ เหมะมูลก็ยังเป็นนักเขียนที่มีความสามารถ มีทักษะ และเล่มนี้ก็ทำได้ในระดับที่น่าสนใจทีเดียว

แต่ข้อบกพร่องที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ระยะห่างของเสียงเล่าและมุมมองไม่มีความสม่ำเสมอและออกจะกระโดกกระเดก ระยะชัดลึกระหว่างตัวละครกับผู้อ่านไม่นิ่ง ทำให้ตัวเรื่องออกมาดูรวน ๆ การใช้ภาษาโดยเฉพาะเวลาที่ผู้เขียน "เลียน" หรือ "หยิบยืม" มาจากท่วงทำนองของวรรณกรรมอื่น ๆ เช่นวรรณกรรมพาฝันสมัยก่อน หรือวรรณกรรมวัยรุ่นยุคนี้ ยัง "ไม่เนียน" ซึ่งสังเกตว่าไม่ได้เกิดจากความจงใจ (ที่จะไม่เนียน) แต่เกิดจากความไม่สม่ำเสมอของน้ำเสียงและคำ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องทางทักษะ หรือเทคนิกการใช้ภาษามากกว่าเจตนาสร้างสรรค์

คำนำของหนังสือชี้แจงไว้ว่า

"...สามานย์ สามัญ รวมเรื่องสั้นลำดับที่สามนี้นับได้ว่าแตกต่างออกไปจากรวมเรื่องสั้นชุดก่อนหน้า เมื่อมันค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากโลกวนเวียนและสภาวะวกวนของปัจเจกบุคคล...."

ซึ่งผมเห็นว่า "จริง" และเป็นคำอธิบายว่าทำไมความสุขุม ความนิ่ง ทักษะการบรรยายและจัดวางจังหวะการเล่าที่เป็นเลิศของอุทิศคนที่เขียนนิยายจึงหายไปสิ้นในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นการเปลี่ยนแนว (mode) ของการเขียน จาก "ปัจเจก" (ตามที่คำนำเรียก) หรือในที่นี้ผมอยากจะชี้ให้เป็นหลักเป็นการสักหน่อยว่า mode of naturalism ซึ่งมักจะต้องใช้วัตถุดิบภายใน ประสบการณ์เฉพาะตนของผู้เขียน การสำแดงและเปิดเผยตัวตนเบื้องลึก ไปสู่ mode ใหม่ที่พูดถึงปรากฏการณ์ภายนอก และไม่สามารถใช้กระแสสำนึกเป็นตัวจัดวางจังหวะการเล่าเรื่องหรือดำเนินเรื่องได้

ที่ว่ามานี้เป็นทั้ง "จุดอ่อน" และ สิ่งที่ทำให้ผมชอบงานเล่มนี้

เพราะผู้เขียนกล้าที่จะเขียนแนวที่ตัวเองไม่ถนัด และเขียนแบบไม่กลัวเสียฟอร์ม ไม่วางมาด ในส่วนของเนื้อหา และเนื้อสารนั้น ก็มีสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย หรือเห็นว่าผู้เขียน "ผิดพลาด" หรือมองอะไรบางอย่างคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผมไม่ชอบหรือไม่อยากอ่านหนังสือเล่มนี้แต่อย่างใด เพราะสัมผัสได้ถึงความจริงใจในการสื่อสาร ทำให้เหมือนกับการคุยกับคนที่อาจจะทัศนะต่างกันบ้างเหมือนกันบ้าง แต่ไม่มีเล่ห์กลหรืออำพรางความคิดหรือตัวตนอย่างไม่ซื่อตรง (ซึ่งพบได้บ่อยในท่ามกลางวิกฤตการเมืองแบบ 2 ขั้วที่ดำเนินอยู่)

9-11-14

Comments