สิทธิ เสรีภาพ ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ



ครก. 112 เสวนาที่มหาวิทยาลับอุบลราชธานี
วันที่ 3 มีนาคม 2555



ประเด็นแรก ตั้งใจฟังดี ๆ นะครับ หนังสือเล่มนี้ ดีมาก ดีมากเลย สุดยอด ทำไมถึงดี เพราะว่าผมเป็นคนแปลเอง สุดยอดมาก

หนังสือเล่มนี้สุดยอดกว่าเล่มเมื่อกี้นะครับ ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเล่มเมื่อกี้ ทำไม? ผมเขียนเอง
ผมนี้เป็นนักเขียนที่เก่งที่สุดในประเทศนี้แล้ว ไม่มีใครเก่งกว่าผมอีกแล้ว คุณเชื่อผมเถอะนะ ผมบอกว่าต้องแก้ 112 นี้ถูกแล้ว ถูกต้องที่สุด เพราะอะไร คุณไม่ต้องรู้ รู้ว่าผมเก่งก็พอ

ไม่มีใครคิดได้เก่งกว่าผมอีกแล้ว เพราะว่าผมเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ผมนี้นอกจากจะเขียนหนังสือเก่งแล้ว ก็ยังจะพูดเก่งนะครับ โอเค หน้าตาผมอาจจะสู้ดาราไม่ได้ แต่ผมเท่กว่าเยอะ ฉลาดกว่าและก็เท่กว่า

คือ.. ผมไม่รู้ว่าจะบรรยายความเป็นอัจฉริยภาพของผมให้ทุกท่านเข้าใจได้ยังไง เอาเป็นว่าท่านเข้าใจตามเนี้ยนะครับ ว่าผมนี้สุดยอดแล้ว ท่านต้องเชื่อผมนะ คือนอกจากจะเก่งและฉลาดแล้วผมยังเป็นคนดีอีก

ผมเป็นคนดีจริงๆ คือผมคิดถึงประชาชนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว นะครับ เชื่อผมเหอะ พอเกิดมาคลอดออกมาเนี่ย เสียงร้องของผมนี่เป็นเสียงร่ำร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสียงร้องไห้ของผมตอนที่คลอดออกมาแล้วหมอตบตูดนะครับ เป็นอย่างนั้นจริงๆ  นี้เป็นสิ่งที่แม่ผมยืนยันนะ เพราะฉะนั้นเชื่อเหอะ ว่าผมน่ะ ทุกวินาทีของผมคิดถึงทุกๆคน ผมคิดถึงท่านนะ ผมคิดถึงประชาทุก ๆ คนนะครับ

โอเค คัท หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้เขียนนะ สิ่งที่ผมพูดตั้งแต่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา จนกระทั่งถึงผมทำมืออย่างนี้ แล้วคัทนะครับ สมมุติว่า ผมเอาสิ่งที่ผมพูดเเมื่อกี้นี้ ว่าหนังสือของผมดีมาก ๆ แล้วผมเขียนดีมาก ๆ ผมฉลาดผมเก่งผมเป็นคนดี ถ้าเกิดว่าผมเอาสิ่งนี้ฉายออกทีวีทุกวันให้ท่านชม เป็นเวลาต่อเนื่องกันสัก 60 ปีก็พอนะครับ ออกรายการวิทยุทุกวัน วาด รวีเยี่ยมมาก สุดยอด เขียนหนังสือเก่ง ฉลาด เท่ เป็นคนดีอีกต่างหาก ออกทีวีทุกวันสัก 60 ปี นะครับ แล้วผมก็ออกกฎหมายว่าถ้าใครวิจารณ์งานเขียนของผม ถ้าเกิดวิจารณ์ว่าดี โอเค ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันวิจารณ์ว่าไม่ดี เอามันไปติดคุกสักสามปี ถ้ามันวิจารณ์สักสี่ครั้งก็เอาไปติดคุกสักสามคูณสี่ สิบสองปีนะ สมมุติว่าถ้าเกิดมีคนมาด่าไอ้สิ่งที่ผมเขียนอีกว่า ผมเขียนห่วย ไม่ได้เรื่อง แม่งโง่ ติดคุกมัน 20 ปีนะ มาด่าผม ถ้าเกิดผมบังคับใช้กฎหมายนี้ตลอดเวลา 60 ปีที่ผมออกอากาศ ว่าผมดีมาก วาด รวีสุดยอดมาก ผมถามว่าพวกท่านจะซาบซึ้งกับผมไหม

โอเค นี้คือประเด็นแรก เป็นตัวอย่างที่ผมอยากจะพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิด

ประเด็นที่สองนะเดี๋ยวผมจะตลบทีหลัง ประเด็นที่สอง บนเวทีนี้เรานั่งกันอยู่สามคนนะ สมมุติว่าอันนี้เป็นแก้วของอาจารย์ปิยบุตร อันนี้เป็นแก้วของอาจารย์พฤกษ์ อันนี้เป็นแก้วผมนะครับ อันนี้เป็นน้ำในขวด

ผมเทให้อาจารย์ปิยบุตร ผมเทให้อาจารย์พฤกษ์นะครับ อันนี้น้ำอาจารย์พฤกษ์ เป็นน้ำส่วนที่อาจารย์พฤกษ์เอาไปจากขวดนะ นี้น้ำส่วนที่อาจารย์ปิยบุตรเอาไปจากขวด อันนี้เป็นน้ำส่วนของผมนะ

ท่านเห็นไหมครับว่าอาจารย์พฤกษ์ได้ไปแค่ไหน ท่านเห็นนะ นี้น้ำแก้วอาจารย์พฤกษ์ ท่านมองเห็นนะครับ อาจารย์ปิยบุตรเอาน้ำไปแค่ไหน ท่านเห็นนะครับ มือผมอาจจะบัง โอเค ท่านเห็นนะครับ

ทีนี้ (ท่านบางท่านอาจจะตาดีเพราะแก้วมันไม่ทึบซะทีเดียว) สมมุติว่ามันเป็นแก้วทึบละกันนะ ผมเอามือบังละกัน ท่านเห็นไหมว่าผมเอาน้ำไปแค่ไหน ไม่เห็นนะ

ประเด็นประเด็นที่ผมจะพูดนี้ ผมสมมุติว่าถ้าน้ำนี้เป็นอำนาจสาธารณะ ถ้าน้ำในขวดนี้เป็นงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินภาษีของประชาชน เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นการใช้อำนาจเรื่องสาธารณะ ที่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ท่านเห็นนะครับอาจารย์พฤกษ์เอาน้ำไปแค่ไหน เพราะอะไร เพราะแก้วมันใส ถูกไหมครับ แก้วมันใส ท่านจึงมองเห็น อาจารย์ปิยบุตรเอาน้ำไปแค่ไหน ท่านมองเห็นนะ เพราะแก้วมันใส ถูกไหมครับ แต่แก้วของผมท่านมองเห็นไหม ท่านรู้ไหมผมเอาน้ำไปแค่ไหน ท่านรู้ไหมผมเอางบประมาณแผ่นดินไปแค่ไหน  ผมใช้อำนาจสาธารณะอย่างไร ท่านไม่เห็นนะ เพราะแก้วมันทึบ

ถ้าเกิดน้ำในขวดนี้เป็นการคอรัปชั่น แก้วอาจารย์พฤกษ์ท่านเห็นนะ ถ้าเราสามคนเป็นนักการเมืองแล้วน้ำนี้เป็นการคอรัปชั่น ท่านจะเห็นอาจารย์พฤกษ์กินน้ำมากน้อยแค่ไหน อาจารย์ปิยบุตรเอาน้ำไปมากน้อยแค่ไหน คอรัปชั่นมากน้อยแค่ไหน แต่ของผมนี้ท่านไม่เห็นนะครับ อันนี้เป็นประเด็นที่สองนะครับ  หลายท่านเก็ทนะครับ คือเรื่องคอรัปชั่น เรื่องประเด็นของอำนาจสาธารณะ

วันนี้ผมเตรียมสไลด์มา อันนี้เป็นประเด็นที่สาม ผมจะพยายามพูดให้น้อยที่สุด โอเค สไลด์ขึ้นนะ



อันนี้เป็นปกมติชนปลายปี 48 เดือนธันวาคม องคมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ เตือนกลุ่มโหนเจ้า ไอ้ที่มีอะไรปิดไว้น่าจะคำว่าเจ้านะครับ อันนี้คือเหตุการณ์ปลายปี 2548  คือมติชนในช่วงคาบปี 48 ช่วงคาบวันที่ 5 ธันวาคม



ท่านเห็นว่ามีพระบรมฉายาลักษณ์และก็คำว่า The King can do no wrong นะ  The King can do no wrong นี้เป็นหลักการสากลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย ถ้าท่านสงสัยเดี๋ยวช่วงถามตอบถามอาจารย์ปิยบุตรได้ เพราะอาจารย์ปิยบุตรเป็นนักวิชาการคนแรกที่พูดถึงเรื่องนี้ในทางหลักกฎหมาย

ที่เขาพาดปก The King can do no wrong  เพราะว่า ในพระราชดำรัสเดือนธันวาคม 2548 นั้น ในหลวงเอ่ยถึงหลักการนี้ แต่ว่าเอ่ยในอีกลักษณะหนึ่ง 

สิ่งที่ผมจะฉายนี้ เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์ ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 48 ผมเลือกมาเอามาลำดับให้ท่านดูจนถึงปัจจุบัน อันนี้เป็นพระราชดำรัสนะครับ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ก็คือปกมติชนเมื่อครู่นั้นแหละ ผมจะอ่าน ตัดมาบางส่วนนะครับ



ส่วนอันนี้เป็นพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 เหตุการณ์ทางการเมืองที่แวดล้อมในช่วงที่มีพระราชดำรัสนี้ ก็คือเลือกตั้ง 2 เมษายน อันนี้เป็นพระราชดำรัสที่มีกับศาล ช่วงนั้นเป็นก่อนที่จะมีคำตัดสิน เรื่องการเลือกตั้ง 2 เมษายนนะครับ ปี 2549 นี้เป็นเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารนะ จะเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน นี้เป็นบางส่วนนะ ผมอ่านให้ท่านฟัง



เป็นพระราชดำรัส 25 เมษายน กับผู้พิพากษานะครับ



โอเค อันนี้คือยังก่อนรัฐประหารอยู่ แต่ปกมติชนปกนี้เป็นของปี 52 นะครับ คือผมหาของปี 49 ไม่ได้  แต่ถ้าเกิดว่าหลายท่านที่ยังจำได้ ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พลเอกเปรมใส่ชุดทหาร คือพลเอกเปรมนี้ไม่ได้ใส่ชุดทหารมานานมากแล้วนะครับ ท่านจะเห็นใส่ชุดขาวบ้าง ใส่ชุดสูทบ้าง ใส่ชุดไทยบ้าง แต่ไม่ได้ใส่ชุดทหาร มา ปี 2549  ผมจำเดือนไม่ได้ แต่ว่าไม่นาน ไม่เกินหนึ่งเดือน ก่อนเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 พลเอกเปรมเนี้ย ใส่ชุดทหารนะครับ แล้วก็ พลเอกเปรมนี้ปาฐกถาตามค่ายทหารต่าง ๆ  ท่านพูดกับทหาร อันนี้คือเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารนะ พูดกับทหารว่า 

"ทหารเป็นม้า รัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า"

นี้คือคำพูดของพลเอกเปรมนะ แต่งชุดทหารเดินตามค่ายทหาร อันนี้เป็นคำถามของผม ให้ท่านกลับไปคิดกัน จริง ๆ พลเอกก็พูดแหละว่าใครเป็นเจ้าของม้า แต่ไม่ใช่ประชาชน 

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เข้าเฝ้า หลังจากที่ยึดอำนาจแล้วในคืนเดียวกัน ผมขาว ๆ นี้พลเอกเปรมนะครับ


(หมายเหตุ - รูปนี้คือรูปที่ถูกระบุโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามคำบอกเล่าของทูตสหรัฐอเมริกาในเอกสารโทรเลขวิกิลีกส์ วันอังคารที่ 24 เมษายน ค.ศ.2007 เวลา 10:50 นายสุเทพเทือกสุบรรณได้กล่าวกับทูตว่าในหลวงทรงเป็นผู้เลือกให้เผยแพร่รูปนี้ - ดูโน้ตข้อ 1 ท้ายบทความ, มีคำบอกเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ในโทรเลขอีกฉบับ คือ วันที่ 20 กันยายน ค.ศ.2006  เวลา 12:29 ในการพบปะกันเป็นการส่วนตัวกับทูตสหรัฐอเมริกา พล..สนธิ บุญยรัตกลิน ได้เล่าถึงรายละเอียดในการเข้าเฝ้าฯ ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ดูโน้ตข้อ 2)

หลังจากนั้น อันนี้เป็นภาพที่พลเอกสนธิประกาศทางทีวี แต่งตั้งให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี



พลเอกสุรยุทธ์จะลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้เป็นภาพโปรดเกล้าพลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีนะครับ



อันนี้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง เดี๋ยวผมอ่านให้ทันฟัง มันตัวเล็กนะ เป็นคมชัดลึก วันพุธที่ 14 หรือ 13 ตุลาคมนะครับ 2551  ฉบับหลังจากที่มีการล้อมรัฐสภา สลายการชุมนุมพันธมิตรที่ล้อมรัฐสภาในช่วงนั้น และก็มีพันธมิตรเสียชีวิต

เผยในหลวงพระราชทานค่ารักษาผู้บาดเจ็บ พ่อโบว์สุดซาบซึ้งพระราชินีทรงชม ป้องชาติสถาบันเป็นเหตุการณ์ปี 51 ในช่วงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์





อันนี้เป็นภาพที่อาจารย์หวานเพิ่งเอามาโพสไม่นานนะ ผมเอามาให้ท่านดู เป็นภาพตัดสินคดีคุณสนธิเมื่อเมื่อไม่นานมานี้ ผมหาภาพในช่วงเวลานั้นไม่ได้ เอาภาพคุณสนธินี้ช่วงนี้มาแทรกแทนก่อนนะ



ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือรูปนี้จริง ๆ แล้วมีสองเวอร์ชัน ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังจากที่ว่าเป็นรัฐบาลสมชายแล้วก็เป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีอีกรูปนึงแต่ผมหาไม่ได้ ไม่ทราบว่าทำไมหายากมาก แต่ตอนนั้นมีรูปออกมาทางอินเตอร์เน็ตใหม่ ๆ จะมีรูปหนึ่ง ในนี้จะเห็นจะเห็นว่ามีพระเจ้าอยู่หัว และก็มีสุนัขทรงเลี้ยง และก็มีคุณอภิสิทธิ์ อีกรูปนึงที่ผมหาไม่ได้จะเป็นรูปที่คุณอภิสิทธิ์ก้มกราบ ไม่ได้นั่งอยู่บนเก้าอี้

อันนี้คือเหตุการณ์ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์



อันนี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงก่อนเลือกตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์เหมือนกัน ก่อนเลือกตั้งไม่นาน  ต้นปี 54 ถ้าจำไม่ คือฟ้าหญิงออกรายการทีวี วู๊ดดี้เกิดมาคุยนะครับ อันนี้เป็นพาดหัวหัวข้อของเฟสบุคคนไทยรักในหลวง 



อันนี้อันสุดท้าย คือปัจจุบัน ไม่นานมานี้ เป็นภาพปัจจุบันของคุณยิ่งลักษณ์กับพลเอกเปรม



ที่ผมฉายให้ท่านดูตั้งแต่ภาพแรกจนมาถึงภาพนี้ เป็นภาพเหตุการณ์ทางการเมือง ผมกำลังพูดอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112  เพราะฉะนั้นประเด็นหรือหัวข้อที่ผมพูด คือบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในวิกฤติการเมือง ตั้งแต่ช่วง 2548 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถอภิปรายได้อภิปรายอย่างเป็นวิชาการก็อภิปรายไม่ได้ แต่สามารถที่จะลำดับเหตุการณ์ให้ท่านดูได้ว่าในระหว่างเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดบ้างที่สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาท แสดงบทบาทอะไรบ้างและอย่างไรบ้าง ก็พูดได้เท่านี้ ถ้าจะพูดมากกว่านี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่การวิจารณ์ หรือวิจารณ์ ผมทำไม่ได้นะครับ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย ณ ขณะนี้
ไม่ใช่ว่าผมคิดไม่ดีนะ แต่หมายถึงว่าจะวิจารณ์ว่าบทบาทอย่างนี้เป็นอย่างไรหรืออะไรนี้ ขณะนี้ผมทำไม่ได้ ถ้าทำผมก็จะเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีจากกฎหมายอาญามาตรตรา 112

กฎหมายอาญามาตรตรา 112 ผมจะเสริมอาจารย์ปิยบุตร ส่วนที่ได้พูดถึงหลักการแล้วก็รายละเอียดของกฎหมายว่าแก้อะไรบ้าง

ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรตรา 112 มี 2 ระดับ ระดับแรกคือระดับของบทบัญญัติและการบังคับใช้ ซึ่งอาจารย์ปิยบุตรได้พูดไปบางส่วนเช่น อัตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกันกับการกระทำผิด อัตราโทษปัจจุบันนี้คือ 3-15 ปี การกระทำผิดนั้นคือการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท เป็นการกระทำผิดโดยวาจานะครับ เรียกว่าไม่ได้สัดส่วนกัน คือโทษมันแรงไป

การบังคับใชกฎหมายมีปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง ผู้ที่โดนคดีหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีความเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรตรา 112 มักจะไม่ได้ประกันตัว คุณสุรชัย คุณสมยศ ไม่ได้ประกันตัวเลย คุณดา ตอปิโด ไม่ได้ประกันตัวเลย อากง ถ้าใครรู้จักนะ คุณอำพล ที่ถูกตัดสินจำคุกไป 20 ปี และกำลังสู้คดีอยู่ก็ไม่ได้ประกันตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วการประกันตัวนี้เป็นสิทธิตามกฎหมาย เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ในเวลาที่ศาลยังไม่ตัดสินต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้นสิทธิประกันตัวเนี้ยต้องมี แต่ไม่เกิดขึ้นในกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 
กระบวนการบังคับใช้มีอีกปัญหาคือเรื่องปิดลับคดี ไม่ได้ปิดลับทุกครั้งแต่หลายครั้งปิดลับนะครับ ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปฟัง ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปฟัง ซึ่งก็ขัดหลักกฎหมายอีก รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ว่า การดำเนินคดี การตัดสิน ไต่สวน ศาลต้องเปิดเผย

ระดับ 2 ปัญหาว่าทำไมต้องแก้กฎหมายอาญามาตรตรา 112  คือ การเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกฎหมายอาญามาตรตรา 112

ผมก็แบ่งเป็น 2 ระดับอีกนะครับ

ระดับแรกคือตกเป็นเครื่องมือในการเล่นงานกันทางการเมืองระหว่างนักการเมือง ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ทางการเมือง ระหว่างประชาชนที่อยู่คนละฝ่ายทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการกล่าวโทษกัน เอากฎหมายตัวนี้มาเล่นงานกัน ต่อสู้กันในทางการเมือง
ในระดับที่ 2 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในระดับของการรับใช้อุดมการณ์ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย และก็เป็นไปเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การที่ผมไม่สามารถที่จะอภิปรายถึงสไลด์ที่ผมฉายให้ท่านชมเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นเพราะว่าถูกกฎหมายนี้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ต่อให้สิ่งที่ผมพุดมันถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตยอย่างไรก็แล้วแต่ผมก็ไม่สามารถพูดได้ เพราะกฎหมายนี้มันปิดกั้นผมอยู่ ด้วยอุดมการณ์ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

เราอาจจะมองว่าเป็นอุดมการณ์เก่าก็ได้ ที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่ พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของประเทศไทย ใครไม่จงรักภักดีก็ไปอยู่ประเทศอื่น นี้เป็นลักษณะของอุดมการณ์ความคิดแบบเก่า ที่ยังขับเคลื่อนและยังมีชีวิตอยู่แล้วก็ออกมาปกป้องไม่ให้แก้กฎหมายนี้ แล้วก็ใช้กฎหมายนี้ในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ตัวนี้ ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความคิดเห็นอื่น ๆ

ก็คือสองเรื่องนะ เรื่องแรกตัวบทและการบังคับใช้ ต่อให้ไม่มีวิกฤติการเมือง ไม่มีปัญหาทางการเมืองเลย ก็ถือว่าตัวบทและการบังคับใช้อย่างนี้มีปัญหา เรื่องที่สองเป็นสิ่งที่ยิ่งมีวิกฤติแล้วยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาอย่างมาก คือการใช้เป็นเครื่องมือในการรับใช้อุดมการณ์

ในช่วงวิกฤติการเมืองตั้งแต่ปี 48 จนถึงบัดนี้ คือปี 55 สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ก็คืออุดมการณ์กษัตริย์นิยม แบบเก่านะ อุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ยังเข้าใจว่าแผ่นดินนี้เป็นของพระเจ้าอยู่หัว แผ่นดินนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ บรรพบุรุษสร้างสมมา ถ้าใครไม่จงรักภักดีใครไม่อะไรอย่างนี้ก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ที่คนที่เชื่อในสิ่งเหล่านี้คือเชื่อในอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ซึ่งยังมองพระมหากษัตริย์ในลักษณะเดิมอยู่ ไม่ได้มองพระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันตามระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ว่าจึงไม่ใช่ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แต่จงรักภักดีในลักษณะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่? ก็แล้วแต่ ดูแต่ละคน แต่ไม่ใช่สถาบัน ยืนยันว่าไม่ใช่ความจงรกภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

อันนี้คือปัญหาของกฎหมายอาญามาตรตรา 112  ว่าทำไมเราต้องแก้ไข ทีนี้ ความเข้าใจที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยคืออะไร สถาบันกษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตยควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร?

ข้อแรก นี่คือความเห็นของผมนะ โดยหลักการ สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย อันดับแรกจะต้องพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชน การดำรงอยู่ของสถาบันจะต้องดำรงอยู่ในลักษณะที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพ บทบาทและหน้าที่ด้วย จะต้องเป็นไปเพื่อนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และก็พิทักษ์หลักการประชาธิปไตย
ทำไมต้องพิทักษ์ ต้องเข้าใจหลักการประชาธิปไตยก่อน หลักการที่เราเรียกว่าหลักการปกครองแบบสมัยใหม่ ทำไมถึงต้องพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ

มันเริ่มจากคำถามว่าทำไมอำนาจอธิปไตยเจึงเป็นของปวงชนชาวไทย?

ทำไมอำนาจอธิปไตยจึงไม่เป็นของกษัตริย์?

ทำไมอำนาจอธิปไตยจึงควรเป็นของปวงชนชาวไทย มันเริ่มจากคำถามนี้ คำถามนี้จริง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ 200 กว่าปีก่อน ที่อาจารย์ปิยบุตรกล่าวถึงของฝรั่งคือยุคปรัชญาแสงสว่าง มันเริ่มขึ้นมาพร้อมกัน อันดับแรกคือความไม่เชื่อในระบอบเก่า ระบอบเก่าคือระบอบกษัตริย์ ระบอบกษัตริย์เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะศักดิ์สิทธิ์เพราะเชื่อมโยงกับพระเจ้า ของฝรั่งเขามีพระเจ้า เชื่อมโยงกับ god เชื่อมโยงโดยสายเลือด เป็นสายเลือดที่ศักดิ์สิทธิ์ ของเราก็เชื่อมโยงกับเทวดา เชื่อมโยงกับผี เชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า ตอนสมัยอยุทธยาก็คือสมมติเทพ เป็นสมมติเทพ คือมีความศักดิ์สิทธิ์จึงมีความวิเศษ มีความดีงามเหนือมนุษย์อื่น จึงสมควรที่จะมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวและสมควรที่จะปกครองคนทุกคน อันนี้คือความเชื่อเก่า ระบอบใหม่สำนึกใหม่เกิดขึ้นบนการไม่เชื่อความเชื่อเก่า
ความเชื่อใหม่คือเชื่อว่าคนทุกคน มนุษย์ทุกคนเกิดขึ้นมาพร้อมสิทธิโดยธรรมชาติ และมีเสรีภาพที่จะใช้สิทธินั้นแต่กำเนิด อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

เป็นความเชื่อนะ สำนึกใหม่ที่เกิดขึ้น 200 กว่าปีก่อน คือเชื่อว่าคนทุกคนเท่ากัน เท่ากันโดยสิทธิเสรีภาพ เท่ากันโดยเสมอภาคไม่มีใครวิเศษกว่าใคร ไม่มีใครได้รับองค์การสวรรค์เป็นพิเศษ ไม่มีใครสืบทอดจากเทวดา จากฟ้า แล้วพิเศษกว่าคนอื่น ไม่มี อันนี้คือสำนึกของโลกสมัยใหม่ ที่ก่อให้เกิดการปกครองสมัยใหม่ จึงก่อให้เกิดสิทธิพื้นฐาน ก็คือสิทธิเสรีภาพแต่กำเนิด ซึ่งติดตัวคนทุกคนและไม่อาจที่จะพรากจาก ไม่อาจที่จะแยกออกจากคน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคน ถ้าเกิดไม่มีสิทธิเสรีภาพนี้ความเป็นคนก็จะไม่ครบถ้วน

นี้คือความเชื่อของโลกสมัยใหม่ หมายความว่าสิทธินี้ใครก็เอาออกไปจากเราไม่ได้ ใครก็ยื้อแย่งไปจากเราไม่ได้ เป็นเหมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของเรา เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของเรา นี้คือหลักคิดพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ ของมนุษย์ ของคน ในความหมายของสมัยใหม่ว่าทำไมทุกคนจึงเท่ากัน แล้วใครก็ทำให้ไม่เท่าไม่ได้ เพราะเป็นแต่กำเนิด ถ้าไม่มีเท่ากับว่าไม่มีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มสมบูรณ์ในความหมายของมนุษย์แบบสมัยใหม่

อันนี้คือรากฐานว่าทำไมอำนาจอธิปไตยจึงเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะปวงชนชาวไทยเป็นคน ไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ไพร่อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นประชาชนที่มีความเป็นคนครบถ้วนสมบูรณ์คือมีความเป็นคนที่ประกอบไปด้วยสิทธิ เสรีภาพ

อันนี้คือข้อแรก  สถาบันกษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตยควรจะต้องพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชน พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญสถาปนาโดยประชาชน พิทักษ์หลักการประชาธิปไตย อันนี้คือความเป็นสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันดับแรก
อันดับที่สอง ต้องเป็นกลางทางการเมืองนะครับ

ทำไมถึงต้องเป็นกลางทางการเมือง ผมจะตอบพร้อม ๆ กับประเด็นที่สามคือ ต้องไม่มีอำนาจทางการเมือง

ต้องเป็นกลางทางการเมืองและไม่มีอำนาจทางการเมือง ประเด็นที่สอง ทำไมถึงต้องเป็นกลางทางการเมือง ขอให้นึกถึงเรื่องหนังสือที่ผมเล่าตอนแรก คือถ้าผมออกทีวีซ้ำ ๆ ทุกวันว่า วาด รวีสุดยอด ใครก็แตะต้องวิจารณ์ผมไม่ได้ อาจารย์พฤกษ์วิจารณ์เอาไปขังคุก 20 ปี  นี้คือสถานะของประมุขอันล่วงละเมิดมิได้  ฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้เพราะฉะนั้นสถานะนี้จะต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่เป็นกลางไม่ได้ เพราะว่าอยู่ในสถานะที่ล่วงละเมิดมิได้

ต้องไม่มีอำนาจทางการเมืองนะครับ ขอให้นึกถึงเรื่องที่สองคือเรื่องแก้วนะครับ แก้วอันนี้ใสนะ นี้คือแก้วของนักการเมืองในระบบ มีระบบตรวจสอบอยู่ในระบบตรวจสอบ นักการเมือง สส. ก็อยู่ในระบบตรวจสอบ มี ปปช. มีองค์กรอิสระ มีรัฐสภาตรวจสอบ คณะรัฐมนตรีอยู่ในระบบตรวจสอบ แต่ถ้าแก้วทึบไม่อยู่ในระบบนะ มองไม่เห็น ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย อำนาจสาธารณะทุกอำนาจจะต้องโปรงใส ตรวจสอบได้ ถ้าไม่โปรงใสเป็นแก้วทึบนี้จะต้องไม่มีอำนาจ ฉะนั้นเนี้ยสถาบันกษัตริย์ตรวจสอบไม่ได้จะต้องไม่มีอำนาจทางการเมือง

โอเค ผมจบเท่านี้

note


1. คำบอกเล่าของสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวิกิลีกส์



2. คำบอกเล่าของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในวิกิลีกส์





Comments