วิจารณ์มานิต ศรีวานิชภูมิ
เห็น คลิปสัมภาษณ์มานิต อันนี้มาหลายวันแล้ว
เพิ่งมีเวลาดู คุณมานิตก็ยังบอกว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งอยู่นะครับ
(ราวนาทีที่ 14.15)
ผมฟังคลิปนี้อยู่หลายเที่ยวเพื่อพยายามทำความเข้าใจประเด็นของมานิต
และก็เห็นอยู่ว่ามีหลายจุดที่มานิตพูดแบบไม่ค่อยแฟร์กับฝ่าย กวป. เช่น ราวนาทีที่
8 พูดในเชิงกล่าวหาว่า กวป. เรียกร้องให้ปลดงานออก
(ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องของ กวป.) หรือตรงนาทีที่ 10
ที่ตอบคำถามเหมือนไม่ได้อ่านข้อเรียกร้องของ กวป.โดยพูดให้เมือนข้อเสนอของ
กวป.เป็นข้อเสนอของตนเอง เช่น "มันก็จะต้องมีจดหมายของ อ.สุธี
อยู่ด้วย..." ซึ่งจริง ๆ กวป.เองต่างหากที่เสนอให้มีจดหมายของ
"ทุกฝ่าย" รวมถึงของสุธี เป็นต้น
หลายครั้งที่มานิตอ้างสมศักดิ์และเปรียบไปถึง
กวป.ว่า ไม่เคยตำหนิยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ทำนองว่า "ถือหางฝ่ายนี้ใช่ไหม"
ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ถ้าไปไล่ดูรายชื่อ กวป.
จะเห็นว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ฝ่ายสนับสนุนทักษิณเลย
และจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับกรณีนิรโทษกรรม
ตรงส่วนนี้ผมเห็นว่าเกิดจากการที่มานิตตามบทสนทนาทางการเมืองไม่ทัน คนที่ด่าทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ในปีกประชาธิปไตยนี่ไม่ได้มีแค่สมศักดิ์คนเดียวแน่
ๆ ครับ แต่คุณมานิตตามข้อถกเถียงทางการเมืองไม่ทัน
และหยุดตัวเองอยู่ที่แค่ประเด็นทักษิณอย่างเดียว ซึ่งนี่แหละที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา
ตอนแรกผมเข้าใจว่าคุณมานิตแยกไม่ออกถึงความแตกต่างระหว่าง
ถ้า กปปส.หยุดการเคลื่อนไหวอยู่ที่แค่ยิ่งลักษณ์ยุบสภา
กับเคลื่อนไหวต่อเพื่อขัดขวางการเลือกตั้งและพยายามสร้างสุญญากาศทางการเมือง
แต่พอฟังมาถึงตอนท้ายมานิตก็พูดประเด็นนี้ออกมาอย่างชัดเจน
ดูตรงช่วงนาทีที่ 17.40 เป็นต้นไป มานิตพูดว่า:
"ทำไม กปปส. ไม่ยอมเรื่องการเลือกตั้ง
ก็เพราะเขามองเห็นแล้วว่า การไปสู่การเลือกตั้งในเงื่อนไขแบบนี้
ปัญหามันจะไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ที่ละเมิด
ผู้ที่ทำลายประชาธิปไตยจะกลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง
คุณอาจจะยอมได้แต่คนอีกจำนวนเขาไม่ยอม แล้วคุณจะกล่าวหาว่าเขาไปละเมิดสิทธิคุณเหรอ
หมายความว่ายังไงละครับ แล้วคุณไม่คิดเหรอครับว่ารัฐบาลที่มันไปละเมิดสิทธิเขา
เขาไม่ยอมรับ..."
และ
"เขามองว่าก็ไอ้รัฐบาลที่แล้วที่ลาออกจะไปสู่การเลือกตั้งเพราะมันชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง
แล้วคุณยังไงละครับ คุณจะให้ปัญหามันซ้ำซากอย่างนั้นเหรอ"
สุดท้ายประเด็นของมานิตยังหยุดอยู่ที่จุดเดิม
จุดเดียวกับก่อนรัฐประหาร 49 คือ เอา/ไม่เอา ทักษิณ
และโดยที่ (ฝ่าย) ทักษิณมาจากการเลือกตั้ง
ก็เลยกลายเป็นปมประเด็นของมานิตที่พยายามที่จะอธิบายให้การเชียร์รัฐประหาร
(และ/หรือ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) "กลาย"
เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
มานิตมองไม่เห็นว่าการพยายามไล่ทักษิณ
หรือแก้ปัญหาเรื่องทักษิณซ้ำ ๆ ซาก ๆ แบบที่ผ่านมา คือ กปปส.ในปี 57
"ซ้ำรอย" พันธมิตร ในปี 49 แบบนี้คือการวนอยู่กับที่
และไม่ยอมให้โอกาสระบบและกลไกของประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) "ลอง" ทำงานแก้ปัญหาดูบ้าง
นั่นก็คือ หยุดแค่ยิ่งลักษณ์ยุบสภา กลับไปสู่การเลือกตั้ง แล้วให้องคาพยพต่าง ๆ
ทางการเมืองค่อย ๆ ปรับตัวคลี่คลายผ่านกลไกหรือวิถีที่เป็นประชาธิปไตย
(ไม่ได้บอกว่าฝ่ายยิ่งลักษณ์ไม่ผิด ทั้งเรื่องนิรโทษกรรม
และนโยบายจำนำข้าวที่ผิดพลาดไม่ฟังเสียงใคร เป็นต้น)
การขัดขวางการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล้มการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาธิปไตยล้มเหลวและเปิดทางให้เผด็จการ
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
ทำไมมานิต
ศรีวานิชภูมิไม่ลองตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังว่ามันไปลงเอยที่การรัฐประหารและกลายเป็นเผด็จการได้ยังไง?
ทำไมไม่เปิดรับความคิดติดตามบทสนทนาทางการเมืองซึ่งอันที่จริงก็คุยเลยเรื่องนี้ไปแล้ว
แต่กลับหยุดตัวเองไว้ที่ประเด็นเดิม
การชุมนุมครั้งนี้ถ้าผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้เกิดการรัฐประหารขึ้นจริง ๆ
พวกคุณก็ได้ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการของผู้ที่ต้องการล้มประชาธิปไตยและสถาปนาอำนาจเผด็จการเพื่ออะไรสักอย่างไปแล้วไม่ใช่หรือ
ไม่สมควรที่จะทบทวนตัวเองมากกว่าดันทุรังยืนยันว่าการตกเป็นเครื่องมือนั้นคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือ?
อีกประเด็นซึ่งค่อนข้างจะนอกเรื่อง
แต่เห็นว่าก็ควรพูดถึงคือที่พูดกันจังเลยว่าปัญหาเกิดเพราะตีความประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน
ประชาธิปไตยเป็นของ "สากล" ครับ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ไม่ใช่การ "ตีความ"
แม้ว่างานศิลปะต้องการการตีความ
แต่ประเด็นขัดแย้งครั้งนี้มันไม่เกี่ยวกับการตีความงานศิลปะเลย ซึ่งมานิตและ fine art ย้ำหลายครั้งมากเรื่องเพราะตีความประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน
ในมุมของศิลปะน่ะใช่ หมายถึงตัว
"งานศิลปะ" น่ะ ตีความได้ต่างคนต่างใจ แต่
"ประชาธิปไตยไม่ใช่งานศิลปะ" มันคือระบอบการปกครองที่มีไอเดียเป็นสากล
ทั่วโลกประชาธิปไตยเขาคุยภาษาเดียวกัน ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการตีความแตกต่างในหลักการใหญ่
ๆ และความขัดแย้งครั้งนี้เกิดจากการเลือกงานศิลปะของสุธีไปแสดงในงานที่กวางจู
ไม่ใช่ปัญหาการตีความงานศิลปะ ถ้าดูจากประเด็นของฝ่าย กวป. เขามีปัญหาที่
ตัวงานศิลปะกับตัวศิลปิน ซึ่ง (เขาเห็นว่า) อยู่ในบริบทที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและเชียร์รัฐประหารและมันขัดกับคอนเซปท์ของกวางจู
16-06-2016
Comments
Post a Comment