วิจารณ์สุชาติ สวัสดิ์ศรีเรื่องเพื่อชีวิต



อันเนื่องจากคำตอบ จดหมายวิจารณ์คำวิจารณ์ของบรรณาธิการ (เป็นชื่อที่ผมตั้ง) ที่ส่งถึงสุชาติ สวัสดิ์ศรี และตีพิมพ์ใน ช่อการะเกด 49  ซึ่งผมเคยทิ้งประเด็นไว้ที่กระทู้ของคุณ ju กระทู้นี้

บัดนี้ผมคิดว่าได้เวลาที่จะชำแหละคำตอบของสุชาติดังกล่าว เดิมทีผมเคยคิดที่จะเขียนเป็นบทวิจารณ์เต็มรูปแบบส่งกลับไปยังช่อการะเกดดังที่เคยกล่าวไว้ แต่การทำเช่นนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาผมก็มีเพียงความตั้งใจแต่ไม่สามารถหาเวลามานั่งลงเขียนได้

สิ่งที่กระตุ้นผมให้เขียนกระทู้นี้โดยไม่ต้องรีรอที่จะเขียนบทวิจารณ์เพื่อตีพิมพ์อีกต่อไปก็คือ บทสัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ ในนิตยสาร way ฉบับ 37 ที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้ ซึ่งมีประเด็นที่ผมเห็นว่าสุกงอมเพียงพอแล้วที่จะวิจารณ์ โดยผมจะเขียนลำดับถัดไปในกระทู้ มรดกจารีตนิยมและความเขลา จากสุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึง นิตยสารเวย์ และประจักษ์ ก้องกีรติซึ่งจะเขียนต่อจากกระทู้นี้ และต้องอ้างอิงกระทู้นี้



จดหมายที่ผมส่งถึงสุชาติและตีพิมพ์ในช่อการะเกดมีดังนี้

จดหมายวิจารณ์คำวิจารณ์ของบรรณาธิการ

เรียนสุชาติ สวัสดิศรี บรรณาธิการที่เคารพรัก

อันเนื่องจาก คำวิจารณ์ของบรรณาธิการต่อเรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้วของ จเด็จ กำจรเดช ในช่อการะเกด 48  ที่กล่าวว่าเรื่องสั้นดังกล่าว เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ไปไกลกว่าที่ผ่านมาหลังจากได้อ่านเรื่องสั้นดังกล่าวแล้ว ผมมีคำถามโต้แย้งสั้น ๆ ต่อคำวิจารณ์ของบรรณาธิการดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง เรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตหรือไม่?
ผมมีข้อสงสัยและต้องขอรบกวนให้บรรณาธิการช่วยขยายความคำว่า เพื่อชีวิตในที่นี้ว่าใช้เกณฑ์ใดในการตัดสิน เนื่องจากด้วยภูมิความรู้เท่าที่มีอยู่ของผมเห็นว่า เกณฑ์เดียวที่เป็นข้อกำหนดคุณลักษณะของ วรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้ง เผาวรรณคดีมาจนถึง เพื่อชีวิตคนสุดท้ายซึ่งเป็นคำประกาศของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นั้นคือการเปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทาง ชนชั้นที่มีอยู่ในสังคม เรื่องสั้นที่กล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตไม่ว่าในยุคไหน ๆ ทั้งยุค วรรณกรรมเพื่อการปฏิวัติและ ยุค น้ำเน่าประเภท เมียเจ็บ ลูกตาย ควายหายก็ล้วนไม่เคยละทิ้งประเด็น ชนชั้นใช่หรือไม่ กระทั่งถึงยุคเพื่อชีวิตคนสุดท้าย เช่น กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ก็ยังมิได้ทิ้งประเด็นชนชั้นแต่อย่างใด

แต่ในเรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว ผมมองไม่เห็นประเด็นชนชั้นในเรื่องสั้นเรื่องนี้แม้แต่น้อย จริงอยู่ว่าเหตุการณ์สมมติในเรื่องสั้นนั้นชวนให้คิดถึงคำว่า เพื่อชีวิตตัวเรื่องและการดำเนินเรื่องก็กล่าวได้ว่าเป็นการเล่าล้อและเปิดโปงคติต่าง ๆ ในวงการ เพื่อชีวิตแต่เหตุใดเรื่องสั้นที่วิจารณ์ เสียดสี หรืออาจจะเพียงบอกเล่าความเป็นไปในแวดวงเพื่อชีวิต โดยมิได้เอ่ยถึงหัวใจหลักของนิยามความเป็นเพื่อชีวิตที่มีอยู่อย่างคงเส้นคงวามาตลอดคือเรื่อง ชนชั้นจึงควรนับเป็น เรื่องสั้นเพื่อชีวิตเหตุใดจึงไม่เรียกเรื่องสั้นดังกล่าวว่าเรื่องสั้นเสียดสีล้อเลียน ซึ่งจะทำให้จัดประเภทไปอยู่ในกลุ่ม parody หรือ satire มากกว่า เพื่อชีวิต

บรรณาธิการใช้เกณฑ์อะไรในการบอกว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็น เพื่อชีวิต? และนิยามคำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตของบรรณาธิการคืออะไรครับ?

ข้อสอง เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็น เพื่อชีวิตที่ ไปไกลกว่ารุ่นพี่?
อะไรคือความหมายของคำว่า ไปไกลครับ ไปไกล นี้คือ ไปไหน และ ไปอย่างไร และที่ว่าไปไกลนี้ มาจากไหนครับ?

การที่จะบอกว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ ไปไกลกว่าเรื่องสั้นในแนวหรือในกลุ่มเดียวกันที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ในความหมายของ เพื่อชีวิตคำนิยามของ เพื่อชีวิตนี้จำเป็นที่จะต้องชัดเจนก่อนหรือไม่ครับ? หรือไม่จำเป็นต้องชัดเจน แต่สามารถพูดรวม ๆ ได้ว่า เรื่องสั้นเสียดสีล้อเลียนหรือเปิดโปงคติของเพื่อชีวิตนี้ ไปไกลกว่า เรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่เปิดเปิงการกดขี่ทางชนชั้น? ถ้าเช่นนั้น เกณฑ์อะไรที่ใช้วัดว่า ใกล้หรือ ไกลครับ?  แล้วมันจะมีความหมายเดียวกับการพูดว่า เรื่องสั้นประเภท parody หรือ satire นั้น ไปไกลกว่า เรื่องสั้นประเภท เพื่อชีวิตหรือไม่?  การแสดงหรือประเมินคุณค่าทางวรรณกรรมนั้นในความหมายของ ไปไกลหรือ ก้าวหน้านี้ ถึงที่สุดแล้ว เป็นการประเมินแบบรวม ๆ หรือจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง สกุลหรือ กลุ่มหรือ ประเภทของวรรณกรรมครับ?

ถ้าประเภท หรือ สกุล ของวรรณกรรมไม่มีความหมายแล้ว คำว่า ไปไกลคืออะไรครับ พัฒนาการที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมแต่ละกลุ่ม แต่ละแนว มีความหมายไหมครับ?

แต่ถ้ายังใช้เกณฑ์เรื่อง ชนชั้นในการกำหนดนิยาม วรรณกรรมเพื่อชีวิตอยู่ เราสามารถพูดได้หรือครับว่า เรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ไปไกลกว่าเรื่องสั้นก่อนหน้า โดยที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงประเด็นชนชั้นเลย?

ถ้าเช่นนั้น ความก้าวหน้าในเรื่องสั้น เพื่อชีวิต ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ก้าวจากการเปิดโปงการกดขี่ทางชนชั้นประเภท เมียเจ็บ ลูกตาย ควายหายมาสู่การเปิดโปงการกดขี่ทางชนชั้นผ่านสิ่งที่ละเอียดอ่อนและซึมลึกอย่างเรื่อง การโยนโกเต็กทิ้งออกทางหน้าต่างซึ่งเป็นการกดขี่ผ่านทางวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนและไม่รู้ตัว ซึ่งกนกพงศ์ทำไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมในเรื่องสั้น หมูขี้พร้านี้จะมีความหมายอะไรครับ ควรนับเป็นความ ก้าวหน้าหรือ ไปไกลไหมครับ?

ทั้งหมดนี้เป็นทั้งข้อสงสัยและข้อโต้แย้งที่เขียนขึ้นโดยยังมิได้ค้นคว้า หรือมีเจตนาเรียบเรียงขึ้นเป็นบทวิจารณ์อย่างเป็นทางการ เพียงเขียนขึ้นเป็นจดหมายเพื่อก่อ ปฏิกิริยา  มิให้ วัฒนธรรมการวิจารณ์บนหน้ากระดาษเงียบเหงาวังเวงจนทำให้กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์ในไซเบอร์สเปซนั้น ไปไกลกว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์บนหน้ากระดาษครับ

ถ้าหากมีเวลาเพียงพอในอนาคตผมย่อมอยากพัฒนาจดหมายนี้ขึ้นเป็น บทวิจารณ์แต่ถ้ามีใครเขียนถึงประเด็นนี้ อย่างจริงจังก่อน ผมก็ย่อมยินดียิ่งกว่า

สุดท้ายขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังสุชาติ สวัสดิศรี และ ชาวช่อทุกคน และหวังว่าจะได้คำตอบที่ ไปไกลจากสุชาติ สวัสดิศรีครับ

วาด รวี
มิถุนายน 2552

นี่คือคำวิจารณ์ของสุชาติต่อเรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว ในช่อการะเกด 48

หน้าใหม่ผ่านเกิดกลับมาเป็นวาระที่ 2  และกลับมาในลักษณะที่เข้มข้นมากขึ้น โดยผู้สร้างได้นำเสนอภาพสะท้อนที่มีลีลาเชิงอุปลักษณ์ หรือที่เรียกว่า metaphor ได้อย่างน่าสนใจ จนกล่าวได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ สหาย ในอดีตที่แปรเปลี่ยนเข้าไปอยู่ใน เกมต่าง ๆ ร้อยแปด

นี่คือ หน้าใหม่ผ่านเกิดที่กลับมาได้เข้มกว่าวาระแรก (หนุมานเหยียบเมือง : ช่อการะเกด 43) แม้วิธีการนำเสนอจะยังติดกระสวนภาษาแบบ ใต้อยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงโดยเฉพาะการใช้เครื่องหมายแบบไม่จำเป็น คำว่า แม่ทัพตายแล้วสะท้อนความหมายเชิงสังคมในรูปลักษณ์ใด ผู้อ่านต้องค้นหาคำตอบในเชิงปัจเจกเอาเอง ว่า แม่ทัพในชีวิตจริงกับ แม่ทัพในเกมแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร นี่คือเรื่องสั้นเชิงอุปลักษณ์ที่เป็นผลกระทบมาจากยุคสมัยแห่งอุดมการณ์ที่เปลี่ยนรูปแปลงร่างไปแทบหมดแล้วในปัจจุบัน แต่กระนั้นก็ยังเหลือร่องรอยแห่งการถวิลหาบางสิ่งบางอย่างในความเปลี่ยนไปดังกล่าว ท่านจะอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ในฐานะของ เกมหรือ ในฐานะของ ชีวิตก็แล้วแต่ว่าท่านจะยังมีจิตผูกพันแบบไหน

นี่คือ หน้าใหม่ของคำว่า เพื่อชีวิตที่ไปไกลมากกว่ารุ่นพี่


ประเด็นในคำถามของผมอยู่ที่ประโยคสุดท้ายประโยคเดียว ตามหัวข้อที่เน้นตัวดำไว้ 2 ข้อ คือ

1. เรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิต?
2. เรื่องสั้นแม่ทัพตายแล้ว เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ไปไกล (ก้าวหน้า) กว่ารุ่นพี่ (ในความหมายของ งานเพื่อชีวิตที่เขียนมาก่อน) ?

ทั้ง 2 ข้อมี ประเด็นที่เป็น หัวใจอยู่เรื่องเดียวคือ เอาเกณฑ์อะไรมาวัดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิต? (ในเมื่อมันไม่ได้พูดเรื่องชนชั้น)

คำถามของผม ซึ่งมีประเด็นเดียวกับ 2 เรื่องสั้น ๆ สุชาติตอบมา 11 หน้า (ช่อการะเกดเล่มใหญ่ เกือบหรือเท่ากับ 11 เอสี่)

โดยที่ใน 11 หน้านั้น ไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวที่สุชาติตอบได้อย่างชัดเจนว่า เอาเกณฑ์อะไรมาชี้ว่า เรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว เป็นเรื่องเพื่อชีวิต

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางทะเลโวหารน้ำท่วมทุ่งของสุชาติ ผมคลำสิ่งที่พอจะเทียบเคียงได้กับคำตอบดังต่อไปนี้

1. คำว่า เพื่อชีวิตในปี พ.ศ. ปัจจุบันมีความหมายกว้าง ๆ ในแง่มุมของ Style มากกว่าในแง่มุมมอง Movement และ Movement ที่ปรากฏอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เหล่านั้นก็แปรสภาพกลายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่นจนแทบไม่มีพลังอีกต่อไปแล้ว (น.248)

ปรากฏเพียงระยะสั้น ๆ และแปรสภาพกลายพันธุ์?

เรื่องสั้นเพื่อชีวิตมีลักษณะที่ คงเส้นคงวาคือ ประเด็น ชนชั้นที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่มีการสถาปนาคำว่า ศิลปะเพื่อชีวิตขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็น ประเภทของวรรณกรรม และเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญา ที่มีความต่อเนื่องยาวนานที่สุดในสังคมไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มวรรณกรรมประเภทอื่น เช่น เซอร์เรียลริสม์ ซึ่งมีลักษณะขาดช่วง ผลุบ ๆ โผล่ ๆ มากกว่า นี่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์!
เรื่องสั้นเพื่อชีวิตจะกลายพันธุ์ได้อย่างไรถ้า ลักษณะเฉพาะของมันยังมีอยู่อย่างคงเส้นคงวา สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในการนิยาม เรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว ของสุชาติว่าเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิต (โดยไม่มีประเด็นชนชั้น) และวิธีการตอบแบบที่ตอบมานี่แหละที่เป็นความพยายามจะ ดัดแปลงพันธุกรรมของวรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยพยายามจะลบประเด็น ชนชั้นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญออกไป

2. เพื่อชีวิต เป็นเพียง Style ของชิ้นงานศิลปะในรูปแบบ Realism ที่มีอยู่หลากหลาย (น.249)

เรื่องสั้นเพื่อชีวิตเป็น สไตล์?

แล้วลักษณะเฉพาะของสไตล์ที่ว่าคืออะไร? สักแต่พูดว่าเพื่อชีวิตคือสไตล์ขึ้นมาลอย ๆ แต่อธิบาย ลักษณะเฉพาะออกมาไม่ได้ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย

3. คำว่า เพื่อชีวิตตามความเข้าใจของผมจึงไม่จำกัดว่าจะต้องอนุรักษ์อยู่กับประเด็น ชนชั้นอย่างตื้น ๆ และหรือถ้าจะเป็นประเด็น ชนชั้นที่เรียกว่า Red Now ก็ต้องชัดเจนในหลักการของ Marxism ที่ต้องขอดูกันไปนาน ๆ และอีกหลายชั้นเชิงว่า ของจริงหรือ ของปลอมหรือเป็นแค่กลไกของพวกที่ชอบ เทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ’ (น.250)

คำว่า ของจริง หรือ ของปลอม ในความหมายของ กลุ่ม หรือ ประเภท งานวรรณกรรมคืออะไร?

ถ้าพูดถึงระยะเวลาในการยืนหยัด วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็กล่าวได้ว่าเป็น ประเภทของวรรณกรรมที่มีความสืบเนื่องมากที่สุด นี่เป็นสิ่งทีสุชาติย่อมต้องรู้ดีอยู่แก่ใจ ส่วนมันจะดีหรือไม่ จะ ก้าวหน้าหรือไม่ จะถูกใจสุชาติหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่ในเมื่อมันเป็น ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สุชาติจะมาขอดูชั้นเชิงอะไร?

มีใครตั้งสุชาติเป็นตุลาการวรรณกรรมหรืออย่างไรจึงมา กำหนดประวัติศาสตร์ได้

ปรัชญาเพื่อชีวิตนั้นถือกำเนิดขึ้นก่อนที่สุชาติจะรู้อะไรเป็นอะไรด้วยซ้ำ เกิดไม่ทันในช่วงที่เขาสถาปนากันแต่สามารถที่จะมาชี้ว่าอะไร ใช่อะไร ไม่ใช่โดย ขอดูชั้นเชิง? นี่คือการหลงตัวเองจนวิปริตของสุชาติ สวัสดิ์ศรีโดยแท้

ประเด็นที่กำลังโต้แย้งกันอยู่คือ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ในฐานะของ ประเภทงานวรรณกรรม และ ความเคลื่อนไหวทางปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี มากกว่าครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำ นี้มี ลักษณะเฉพาะคืออะไร?  มันคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ว่ามันมี การ สถาปนาสิ่งนี้ และมันมี ความสืบเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง  เพราะฉะนั้น เกณฑ์ที่คุณจะเอามาตัดสิน ไม่ใช่คุณจะ นึกคิดเอาเองได้โดยอัตวิสัย แต่คุณต้อง ชี้ด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

สุชาติสามารถวิจารณ์ได้ว่า พวกเพื่อชีวิตเป็นพวกเทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ, สุชาติสามารถวิจารณ์ได้ว่า พวกเพื่อชีวิตคือนักอุดมคติของปลอม แต่สุชาติจะมานิยามคำว่าเพื่อชีวิตเอาตามอำเภอใจว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องชนชั้นไม่ได้ เพราะนี่คือข้อเท็จจริง!

มีแต่คนที่มีวิธีคิดที่ลุ่มหลงตัวเองอย่างวิปริตวิตถารจนโง่เขลาเท่านั้น จึงคิดว่าตนเองจะชี้เอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ตามอำเภอใจในกรณีดังกล่าว

4. มุมมองคำว่า เพื่อชีวิตชั้นเชิงของศิลปะตามความเข้าใจของผมนั้น ประเด็นเรื่อง ชนชั้น เป็นเพียงประเด็นหนึ่งเท่านั้น (น.253)

นี่คือวิธีคิดที่ปฏิเสธ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ คือการพยายาม ขโมยประเด็นชนชั้น ไปจากคำว่า เพื่อชีวิตและเป็นสิ่งที่สุชาติทำมาตลอดหลายสิบไปนี้ และไม่เคย ไปไกลกว่าจุดนี้เลยเมื่อเอ่ยถึง เพื่อชีวิต

และโดยเฉพาะตรงนี้ ซึ่งเป็นการที่สุชาติ ให้นิยามคำว่า เพื่อชีวิต โดยตั้งใจหรือไม่ก็ไม่ทราบได้

5. ทรรศนะของผม คำว่า เพื่อชีวิตที่มิได้หมายถึงประเด็นทางชนชั้นเพียงอย่างเดียวนั้นได้ปรากฏขึ้นมาพร้อมกับเรื่องสั้นเรื่องแรกของเราที่ชื่อ นายจิตนายใจสนทนากัน พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ดรุโณวาท เมื่อ พ.ศ.2417 โน่นแล้ว กล่าวคือเป็นเรื่องสั้น วิจารณ์สังคม ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าจะมีคำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต (2500) วรรณกรรมเพื่อชีวิต (2514) และ สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย (2525) ปรากฏการณ์มาก่อนเหล่านี้เราจะอธิบายรากเหง้าที่ดำรงอยู่ในอดีตของเราว่าอย่างไร เรื่อง นายจิตรนายใจสนทนากัน ในหนังสือดรุโนวาท เมื่อ 135 ปีนั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ร.พ.ช. (เรื่องสั้นเพื่อชีวิต) ใช่หรือไม่ เพราะมันก็สะท้อนถึงสิ่งที่เป็น Social Criticism ไม่แตกต่างไปจากเรื่องแม่ทัพตายแล้ว...ในปัจจุบันคำว่า เพื่อชีวิตจะเอากันอย่างไร แบบไหนก็บอก บรรทัดฐานมาให้ผมทราบบ้างแล้วกัน ส่วน มาตรฐานนั้นผมจะตัดสินใจเอง แต่ถึงอย่างไรผมก็คงไม่กลับไปเอา การเมือง มานำ ศิลปะ อีกต่อไปแล้ว (น.256)

...และภาพรวมบางอย่าง ณ ที่นี้ ไม่ว่า น้ำหนักของมันจะเป็น Parody หรือ Satire หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ยังเห็นว่ามันเป็นเรื่องสั้นในชั้นเชิง เพื่อชีวิตนั่นเอง เพราะมันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ไม่ผิดแผกไปจากเรื่องสั้น นายจิตรนายใจสนทนากัน (น.257)

เรื่องนี้ผมพูดไปแล้วในกระทู้คุณ ju ที่ทำลิงก์ไว้ตอนต้น ไอ้ การวิจารณ์สังคมนี่ ไม่สามารถนำมาเป็น ลักษณะเฉพาะได้ เพราะวรรณกรรมอะไรก็วิจารณ์สังคมทั้งนั้น สี่แผ่นดิน ก็วิจารณ์สังคม คู่กรรม ก็วิจารณ์สังคม วรรณกรรมประเภทไหน ๆ ก็มีมิติที่วิจารณ์สังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อมทั้งนั้น เพียงแต่วิจารณ์บนฐานคิดแบบไหน เพราะฉะนั้นการเหมาเอาว่า คุณลักษณะ วิจารณ์สังคมเป็น ลักษณะเฉพาะของเพื่อชีวิตนี้แสดงให้เห็นว่า คิดไม่เป็นล้มเหลวตั้งแต่วิธีคิดแล้ว มาบอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเพื่อชีวิต เพราะมันวิจารณ์สังคม นี่คือคิดไม่เป็น และนี่คือคำตอบจากบรรณาธิการชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี !

ห่วยแตกที่สุด!!

(ลักษณะของวรรณกรรมเมจิคัล เรียลลิสม์คืออะไร? ลักษณะของวรรณกรรมรหัสคดีคืออะไร? ลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมโรมานซ์คืออะไร? ลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมเพื่อชีวิตคืออะไร?!!)

จริง ๆ แล้วมีอีกข้อความที่เรียกได้ว่าเป็น ประโยคสารภาพบาปว่าสุชาติไม่สามารถที่จะตอบได้ว่า ที่เรียกเรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว ว่า เพื่อชีวิต นั้นเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ คือข้อความนี้

คุณได้แสดงเหตุผลว่า เพราะไม่มีประเด็นทาง ชนชั้น ดังนั้นเรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว ของ จเด็จ กำจรเดช จึงไม่ใช่เรื่องสั้นเพื่อชีวิต แต่ ...เป็นการเล่าล้อและเปิดโปงคติต่าง ๆ ในวงการ เพื่อชีวิต โดยมิได้เอ่ยถึงหัวใจหลักของนิยามความเป็นเพื่อชีวิตที่มีอยู่อย่างคงเส้นคงวามาตลอด คือเรื่อง ชนชั้น...

ผมก็ไม่ได้ขัดแย้งในเรื่องนี้ แม้จะไม่เห็นด้วยว่า ใช่ไปทั้งหมด แต่เมื่อคุณเรียกร้องหานิยาม เพื่อชีวิต ว่าบรรณาธิการมีทรรศนะอย่างไร ผมก็อยากขอทราบคำนิยามจากทรรศนะของคุณเหมือนกันว่า คุณเอาบรรทัดฐานมาจากไหนหรือใช้ทฤษฎีทางศิลปะของสำนักใด ที่บอกว่า เพื่อชีวิตนั้นจะต้องเข้มงวดอยู่กับเรื่อง ชนชั้น อย่างเดียว พูดง่าย ๆ ก็คือ เพื่อชีวิตของคุณเป็น Maxist สำนักไหน (เลนิน, สตาลิน, ทรอตสกี้, เพลคานอฟ, โวร็องสกี้, กอร์กี้, เกออร์ก ลูกัส, วอลเตอร์ เบนจามิน, หลุยส์ ฟิสเชอร์ ฯลฯ หรือว่าคุณเป็นมาร์กซิสในสไตล์ เหมาอิสม์’) – (น.251)

คำตอบในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นความเข้าใจอันบิดเบี้ยว และบิดเบือนของสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ในปี 2498 ที่เริ่มเขียนข้อเขียนในชุด ศิลปะเพื่อชีวิตแม้ว่าจิตร ภูมิศักดิ์จะได้รับอิทธิพลของ มาร์กซิสม แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาทางศิลปะของตะวันตกด้วย:

ศิลปะเพื่อศิลปะหรือ ศิลปะเพื่อชีวิต...ปัญหานี้ได้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงการศิลปะทั่วโลกมานมนานนับด้วยศตวรรษ และก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลงเอยกันได้ง่าย ๆ แม้จนกระทั่งในปัจจุบันนี้

ศิลปะเพื่อศิลปะ” ...ผู้ที่ประกาศคตินิยมนี้ออกมาเป็นครั้งแรก ก็คือวิกตอร์ กูแซ็ง (Victor Cousin) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19  กูแซ็งได้ประกาศความเชื่อมั่นทางศิลปะของเขาออกมาในปาฐกถาที่แสดง ณ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (ในปารีส) เมื่อ ค.ศ.1818 ว่า : “L’ art pour l’ art” (ใน Lecture xxi) ประโยคภาษาฝรั่งเศสสั้น ๆ ประโยคนี้แหละ ที่ได้รับการแปลถ่ายออกเป็น “Art for Art’s sake” ในภาษาอังกฤษ และ ศิลปะเพื่อศิลปะในภาษาไทย

ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน, ศรีปัญญา, กรุงเทพ: 2541. น.77

และจิตรยังได้รับอิทธิพลจากตอลสตอยซึ่งต้องถือว่าเป็น นักเขียนในกลุ่ม สัจนิยม (Realism) ไม่ใช่ สัจสังคมนิยม (Socialist Realism) ดังที่สุชาติเองก็ได้พร่ำพรรณนาแสดงความรู้เอาไว้ในบทความเดียวกันนี้ว่า

เช่นเดียวกับผลงานเรื่อง ศิลปะเพื่อชีวิต ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมเข้าใจว่าได้นำเอาอิทธิพลของวิธีการมองศิลปะมาจากหนังสือเรื่อง What is Art? ของ ลีโอ ตอลสตอย ผสมผสานกับวิธีการมองศิลปะแบบลัทธิมาร์กซ์ที่เรียกว่า Dialectic Materialism ซึ่ง อินทรายุธ” (นามปากกาของอัศนี พลจันทร) เคยถอดคำคำนี้เป็นภาษาไทยครั้งแรกว่า นักรูปธรรมทางสัจจะโดยปรากฏเป็นข้อมูลอยู่ในนิตยสาร อักษรสาส์น ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ.2492 (น.251)

ฉะนั้นแล้ว สุชาติจะมาบอกว่า ในการสถาปนาปรัชญา เพื่อชีวิตของไทย นั้น เป็นการรับเอา Socialist Realism มาทั้งแท่งได้อย่างไร?

Socialist Realism หรือที่ผมเรียกว่า สัจสังคมนิยมนี้ ไม่ได้เป็น ความเคลื่อนไหวทางปัญญาที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้นัดหมายเหมือน Movement ในแวดวงวรรณกรรมหรือแวดวงทางปัญญากรณีอื่น ๆ (เช่น ขบวนการเซอร์เรียลลิสม์, ขบวนการ Romanticsim) แต่เป็นการผลจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 15  ที่มอสโก ปี 1927 (ซึ่งขับตรอตสกี ซิโนเวียฟ และสมาชิกอีก 75 คนออกจากพรรค) ซึ่งทำให้สตาลินชนะเด็ดขาด และประกาศนโยบาย Socialism in one country หลังจากนั้นจึงมีมติพรรคปี 1932 ว่าด้วยการปรับองค์การทางศิลปะวรรณกรรม ซึ่งเป็นผลจากการเดินทางกลับประเทศของแม็กซิม กอร์กีด้วย (1931) กอร์กีเรียกร้องการประกาศนโยบาย Encourangement and Concern ของสตาลิน ให้นักเขียนและปัญญาชนยอมรับอำนาจรัฐ ซึ่งก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมามากมายโดยเฉพาะในสมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพของรัสเซีย มีการต่อต้านจากนักเขียนกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ทำให้พรรคต้องหาทางยุติความขัดแย้ง ด้วยการกำหนดแนวนโยบายทางวรรณกรรมให้เป็นหลักปฏิบัติที่ชัดเจน และในกลางเดือนพฤษภาคม 1932 คณะกรรมการดำเนินงานสหภาพนักเขียนจึงได้เสนอแนวความคิด Socialist Realism หรือ สัจสังคมนิยม (ไม่เกี่ยวกับ Social Realism เลย  Social Realism หรือ สัจนิยมสังคม นั้นเกิดในอเมริกา และไม่ได้มีอิทธิพลหรือพลังอะไรมากมาย)

พูดง่าย ๆ ก็คือ Socialist Realism นั้นเกิดขึ้นและถูกผลักดันโดยพรรคเพื่อพยายามแก้ปัญหาความเป็นเผด็จการทางวรรณกรรมของสมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย ซึ่งตอนนั้นมีอำนาจมาก และทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในวงวรรณกรรมของรัสเซียจนการพัฒนาประเทศขาดเสถียรภาพ ในที่สุดก็มีการตั้ง สหภาพนักเขียนโซเวียต ขึ้นในปี 1932 และกลายเป็นองค์การนักเขียนเพียงองค์การเดียว มีการประชุมใหญ่ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มีนักเขียนยักษ์ใหญ่ของโลกเข้าร่วมมากมาย เช่น จอร์จ เบอร์นาด ชอว์, หลุย อารากง, อองเดร มาลโรซ์, อองเดร ฌีด, เทโอดอร์ พลีเวียร์, เทโอดอร์ เดรเซอร์, ไฮน์ริช มันน์, อับตัน ซินแคร์  เป็นต้น  แนวคิดเกี่ยวกับวรรณกรรม Socialist Realism จึงถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งนี้

จะเห็นได้ว่า การกำเนิดขึ้นของ Socialist Realism เป็นปรากฏการณ์เฉพาะของรัสเซีย เพื่อ แก้ปัญหาความขัดแย้งภายในแวดวงนักเขียนปัญญาชนของรัสเซียเอง ไม่ได้จะเป็นสิ่งที่จะ ส่งออก/นำเข้า กันเรี่ยราดไปดังที่สุชาติกล่าว

สิ่งที่สำคัญที่สุด Socialist Realism ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นผลจากมติที่ประชุมใหญ่นี้ เป็นหลักนโยบายทางศิลปะและวรรณกรรมของสหภาพนักเขียนโซเวียตซึ่งเป็นข้อบังคับที่นักเขียนที่เป็นสมาชิกของสหภาพฯ ทุกคนจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม และเป็นสิ่งที่ทำให้นโยบายวรรณกรรมแห่งพรรค ปี 1925 ซึ่งให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องถูกยกเลิกไป (ไม่ทราบว่าสุชาติเห็นว่ามี องค์กร หรือ องค์การ หรือ สถาบันใด ในประเทศไทย มีอำนาจบังคับนักเขียนไทยให้เขียนตามข้อบังคับของเพื่อชีวิต?)

หากเอา Socialist Realism ในบริบทที่กล่าวมานี้ มาเปรียบกับการกำเนิดของ ปรัชญาศิลปะเพื่อชีวิตในไทย ในทศวรรษที่ 2490 ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์, นายผี, และบรรจง บรรเจิดศิลป์ สถาปนาขึ้นนั้น จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปี 2498 ที่จิตรเขียนข้อเขียนชุดนี้ จิตรยังไม่ได้ติดต่อกับพรรคด้วยซ้ำ ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์มาเกี่ยวข้อง, ไม่มีสมาคมนักเขียนฯ มาเกี่ยวข้อง ไม่มีองค์กร หรือองค์การที่มีอำนาจบังคับนักเขียนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นจะพูดว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต เป็นสิ่งเดียวกับ Socialist Realism ได้อย่างไร?

แม้ว่าจิตรจะได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสม์ (ซึ่งนักเขียนฝ่าย ก้าวหน้าในเวลานั้นทุกคนก็ได้รับอิทธิพลมาร์กซิสม์ทั้งนั้น) แต่การที่สุชาติมาถามว่า จิตรสถาปนา เพื่อชีวิต โดยมีประเด็นทางชนชั้นเป็นหัวใจหลักนี้เป็นมาร์กซิสสำนักไหน? (เพื่อชีวิตของคุณเป็น Marxist สำนักไหน?) นี้เป็นคำถามที่วิกลจริตมาก แม้แต่แยกเรื่อง ชนชั้น ให้ออกจาก Marxist สุชาติ สวัสดิ์ศรียังไม่มีปัญญา?

จิตรได้รับอิทธิพล Marxist จริง แต่เรื่อง ชนชั้น ก็เป็นประเด็นอยู่ก่อนแล้วในสังคมไทย ดังบทความ มนุษยสภาพของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เขียนไว้ก่อนหน้าที่ปรัชญามาร์กซิสมจะเข้ามาเป็นเวลาหลายสิบปีก็ได้แสดงความอึดอัดคับข้องในเรื่องชนชั้นเอาไว้  จิตรรับอิทธิพลมาอย่างหลากหลาย และกล่าวอ้างวิธีคิดจากหลายทาง แต่โดยรวมแล้วก็คือนำมาสรุปเป็น ปรัชญาศิลปะเพื่อชีวิตโดยมีการเปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นเป็นประเด็นสำคัญ นี่คือสิ่งที่จิตรสถาปนาร่วมกับนักเขียนอีกหลายคนในรุ่นเดียวกัน แล้วก็มีผู้สืบทอดปรัชญานี้ต่อ ๆ กันมาจนเกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งสุชาติจะวิจารณ์ว่า "ก้าวหน้าหรือ ล้าหลังก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงได้ แต่ไม่ใช่มา ปฏิเสธเรื่อง ชนชั้นโดยอ้างการ นำเข้าศัพท์ อย่างอวดภูมิเช่นนี้ (สำนักไหน? เลนิน, สตาลิน, ทรอตสกี้, เพลคานอฟ, โวร็องสกี้, กอร์กี้, เกออร์ก ลูกัส, วอลเตอร์ เบนจามิน, หลุยส์ ฟิสเชอร์ ฯลฯ หรือว่าคุณเป็นมาร์กซิสในสไตล์ เหมาอิสม์’ - สุชาติเชื่อว่าปรากฏการณ์ที่เป็น Movement เป็นสิ่งที่สามารถนำเข้า?)

เพื่อชีวิต เป็นสิ่งที่กำเนิดในวรรณกรรมไทย เกิดขึ้นในเงื่อนไขของสังคมไทย สถาปนาขึ้นโดยนักเขียนไทย และเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย พอ ๆ กับที่ Socialist Realism เป็นลักษณะเฉพาะของโซเวียต แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจาก Socialist Realism หรือเหมาอิสม ในช่วงหลัง 14 ตุลา จนถึง หลัง 6 ตุลา ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาในฐานะของ ความเคลื่อนไหวของสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่มาจับแพะชนแกะให้เพื่อชีวิตเป็นอะไรก็ได้ แล้วพยายามมาเบลอคำว่า ชนชั้นในวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างที่สุชาติกำลังทำ และทำมาหลายปีดีดักแล้ว ไม่ทราบว่ามีปมอะไรกับเพื่อชีวิตนักหนา


ต่อไปนี้เป็นประเด็นยิบย่อยที่ผมจะทยอยเก็บ

จดหมายของคุณทำให้ผมรู้สึกแปลกใจ แม้เจตนาจะเรียกหาข้อมูลความรู้ แต่ท่าทีที่ปรากฏผมรู้สึกเหมือนคุณไม่พอใจที่ผมไปทำให้ ต่อมบางอย่างของคุณเกิดอาการอยากส่ง ความระลึกถึงและ ความปรารถนาดีมายังบรรณาธิการ ดังมีคำในท้ายจดหมายที่ย้ำว่า ‘...หวังว่าจะได้รับคำตอบที่ ไปไกลจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี’ (น.248)

ผมยินดีที่คุณรู้สึกเร้าใจ และอยากพัฒนาจดหมายขึ้นมาเป็นบทวิจารณ์ เอาสิครับ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า คุณจะเขียนถึงประเด็นของคำว่า เพื่อชีวิต แบบไหน และมีฐานข้อมูล นำเข้าของคำคำนี้ว่าอย่างไร ผมเองค่อนข้างเบื่อกับวาทกรรมที่ไม่ค่อยไปไหนของเรื่องนี้มาหลายทศวรรษแล้ว น.248

เรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว ของ จเด็จกำจรเดช อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำทางต่อจากรุ่นพี่ ข้อคับข้องใจของคุณที่เห็นว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้หาใช่ เพื่อชีวิตก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันต่อได้ บางทีบรรณาธิการอาจจะเขลาไปก็ได้ รีบไปประเมินว่า ร.พ.ช.เรื่องนี้ไปไกลกว่า รุ่นพี่แต่ถามจริง ๆ เถอะครับ คุณคับข้องใจเรื่องอะไร เรื่องนิยามคำว่า เพื่อชีวิต หรือเรื่องที่ผมไปประเมินว่า ไปไกลกว่ารุ่นพี่น.256

สามอันนี้ไม่มีอะไร ไร้สาระ แต่ยกมาให้ดูวิธีห่วย ๆ ในการดิสเครดิตคู่วิวาทะของสุชาติ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ น้องจะไปไกลกว่าพี่หรือ ใครจะไปไกลกว่าใครคิดแบบสุชาตินี่คือคิดแบบละครน้ำเน่า หมกมุ่นอยู่แต่ในวังอารมณ์ริษยา

ประเด็นก็คือ คุณนั่นแหละ คุณสุชาติที่เป็นคน เริ่มด้วยการนิยามเรื่องสั้นเรื่องนี้ว่า เพื่อชีวิตเมื่อมีคนถามว่า เอา เกณฑ์อะไรมาประเมินว่าเป็นเพื่อชีวิต ตอบไม่ได้แล้วยังมาตีฝีปากอีกว่า ผมเองค่อนข้างเบื่อกับวาทกรรมที่ไม่ค่อยไปไหนของเรื่องนี้มาหลายทศวรรษแล้ว (เบื่อแล้วเอามานิยามทำไม? ที่เอามานิยามน่ะ แท้จริงแล้วมีหลักการอะไรอยู่จริง?)

สุชาติตอบคำถามไม่ได้ แล้วก็ตีโวหารค่อนแคะไปเรื่อยอย่างกับนางอิจฉาในละครน้ำเน่า แต่สุดท้ายก็หลุดออกมาตรงนี้

การทำหน้าที่บรรณาธิการ ช่อการะเกดมานานพอประมาณทำให้ผมรู้ว่า เมื่อสร้างสนาม ผ่านเกิดให้แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็เท่ากับได้รับการประเมินไประดับหนึ่งแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เป็นการประเมินแบบหาข้อสรุป เพราะการงานที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ศิลปะนั้น ไม่ว่าจะอยู่แขนงใด ย่อมต้องมองภาพรวมจากผลงานชั่วชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น บรรณาธิการเป็นเพียง ทางผ่านชั่วคราว การที่ผมเขียนอะไรไว้นั้นก็เป็นแค่การเขียน คำโปรยประกอบการจัดหน้า เพื่อเป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ กระนั้นที่ผมเขียนไว้ว่า แม่ทัพตายแล้ว...คือ หน้าใหม่ของคำว่า เพื่อชีวิตที่ไปไกลมากกว่ารุ่นพี่ผมก็หมายความเช่นนั้นจริง ๆ ครับ ถ้า รุ่นพี่ที่มาก่อนหน้านั้นเป็น thesis พวก รุ่นน้องที่ตามมาเหล่านี้ก็น่าจะเป็น anti-thesis เพื่อว่าจะได้ synthesis วิธีการนำเสนอของเรื่องสั้นไทยสมัยใหม่ให้มีชีวิตชีวามากขึ้น (น.255)

บอกว่า เป็นแค่การเขียน คำโปรยประกอบการจัดหน้า

ถ้าสุชาติสารภาพออกมาแต่แรกว่า ...ผมเผลอพูดพล่อย ๆ โดยไม่คิดอะไร เพราะเป็นแค่ คำโปรยประกอบการจัดหน้าอย่ามาซีเรียสถามหานิยามเพื่อชีวิตอะไรกับผมเลย... แบบนี้ยังพอยอมรับได้  แต่นอกเหนือจากนี้ที่พล่ามมา 11 หน้าคืออะไร? 

ไม่ใช่ความถือดีของตัวเองหรือ? ไม่ใช่ลุ่มหลงตัวเองจนฟั่นเฟือนหรือ? มาตรฐานผมจะเป็นคนประเมินเองบ้างละ ผ่านเกิดผู้ใดผู้นั้นก็ถือว่าได้รับการประเมินบ้างละ ใครถามเรื่องพวกนี้ครับ?

คำถามมีสั้น ๆ แค่ว่า ที่บอกว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็น เพื่อชีวิตน่ะ เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์? เอาอะไรมานิยาม? แค่นี้เท่านั้น ซึ่งในฐานะของความเป็น สุชาติ สวัสดิ์ศรีในฐานะของบรรณาธิการที่มีศักดิ์ศรี ในฐานะของบรรณาธิการช่อการะเกดที่มีเครดิตทางวรรณกรรมสูงลิบลิ่ว ควรจะต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง ยิ่งเมื่อคำพูดนั้นเป็นการไปวางกรอบเกณฑ์ให้นิยามกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางวรรณกรรม ก็ยิ่งจะต้องมีความรับผิดชอบต่อคำพูดนั้น แค่บอกว่า เป็นแค่การเขียนคำโปรย” (ไม่มีความหมายอะไร) แค่นี้ก็แย่แล้ว แต่นี่นอกจากไม่ยอมรับผิดแล้ว ยังตีโพยตีพายมายาวเหยียดทำให้ข้อเท็จจริงเลื่อนเปื้อนไปหมด เป็นบรรณาธิการ เป็นผู้ใหญ่ เป็น รุ่นพี่ประเภทไหนกันเนี่ย ไม่อยากด่าเลยจริง ๆ


ความคับแคบดังกล่าวเป็นก็ปรากฏขึ้นตามการชี้นำ แบบเยนอานที่เป็นอิทธิพลของกระแสแบบ เหมาอิสม์ในรุ่นรอยต่อของทศวรรษ 2510  และ 2520 จนเกิดเป็นการ ติดหล่ม’ (ดังที่ผมเคยวิจารณ์ว่า เพื่อชีวิตก็ น้ำเน่าได้ ถ้ามันกลายเป็นกลไกทางการเมืองบางอย่าง) ดังนั้น เมื่อคำว่า เพื่อชีวิต กลายพันธุ์ไปมีความหมายแบบ ไทย-ไทย ในอีกหลายรูปแบบ ตลอดช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความหมายของคำคำนี้จึงแปรสภาพไปตามสังคมบริโภคนิยมที่มีทุนนิยมโลกาภิวัตน์เป็นตัวนำ ซึ่งว่าไปแล้วก็ยังไม่แคล้วจากอิทธิพลของ เสือเตี้ยเติ้งเสี่ยวผิง ที่ประกาศว่า แมวสีไหนก็ได้ ขอให้จับหนูเป็นคำว่า เพื่อชีวิต แทนที่จะเป็น Socialist Realism ก็เลยกลายเป็น Capitalist Realism ไปตามเงื่อนไขแห่งการรับรู้ของแต่ละคน (น.249)

ไม่ใช่แค่เพื่อชีวิตก็น้ำเน่าได้ เมจิคัลเรียลลิสม์ก็น้ำเน่าได้ เซอร์เรียลลิสม์ก็น้ำเน่าได้ แม้แต่ช่อการะเกด และสุชาติ สวัสดิ์ศรีก็น้ำเน่าได้ ดังที่สุชาติกำลังน้ำเน่าอยู่ ณ ขณะนี้  การที่เพื่อชีวิตจะคับแคบหรือไม่ ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะไปบอกว่า ควรมี เรื่อง ชนชั้น ในวรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือไม่ ในเมื่อประวัติศาสตร์ของคำว่า เพื่อชีวิต นี้ ถือกำเนิดมาพร้อมกับประเด็นเรื่องชนชั้น และมีความสืบเนื่องจนกล่าวได้ว่า ประเด็นการเปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นนี้เป็น ลักษณะเฉพาะของ เพื่อชีวิต  เป็นเรื่องตลกพอ ๆ กับงี่เง่า ที่มาบอกว่า เพื่อชีวิต เลิกพูดเรื่องชนชั้นเถอะ จะได้ก้าวหน้าหรือว่า อย่าไปตีกรอบวรรณกรรมเพื่อชีวิตไว้แคบ ๆ ที่เรื่องชนชั้นนะ  นี่เป็นวิธีคิดที่ฉิบหายวิบัติ เป็นมรดกความงี่เง่าเฮงซวยของจารึตนิยมที่ส่งทอดผ่านสุชาติ สวัสดิ์ศรี มาถึงคนรุ่นใหม่อย่างพวก เวย์ หรือ ประจักษ์ ก้องกีรติ  อยากเห็นความวิบัติให้ชัด ๆ ก็ลองเอาวิธีคิดแบบเดียวกันไปแทนค่ากับอย่างอื่นดู เช่น อย่ามาจำกัดเรื่องโรมานซ์อยู่ที่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ นะ”,  อย่ามาจำกัดความเป็นเมจิคัลอยู่ที่ลักษณะเหนือจริงแบบมหัศจรรย์นะ”, “อย่ามาจำกัดเรื่องสั้นเซอร์เรียลลิสม์ที่ความเหนือจริงนะการพูดแบบนี้คือการมาบอกให้อย่าเอา คุณสมบัติเฉพาะที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น ๆ มาเป็นกรอบของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งโคตรจะงี่เง่าเฮงซวยปัญญาอ่อน แต่ ปัญญาชนเช่น สุชาติ, เวย์, ประจักษ์ และอันที่จริงคือ วงการวรรณกรรมส่วนใหญ่ วงการปัญญาชนส่วนใหญ่ และวงการเพื่อชีวิตเองด้วยซ้ำ กลับสมาทานวิธีคิดงี่เง่าเฮงซวยปัญญาอ่อนนี้เข้ามาอยู่ในจิตสำนึกโดยไม่สำเหนียกถึงความวิบัติของวิธีคิดแบบนี้แม้แต่น้อย

สำหรับผม คำว่า เพื่อชีวิตในปี พ.ศ. ปัจจุบันมีความหมายกว้าง ๆ ในแง่มุมของ Style มากกว่าในแง่มุมมอง Movement และ Movement ที่ปรากฏอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เหล่านั้นก็แปรสภาพกลายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่นจนแทบไม่มีพลังอีกต่อไปแล้ว  พวก จัด ๆทั้งหลายที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเป็น Movement ในปัจจุบันก็กลายเป็นเหมือน แม่ทัพตายแล้ว ที่เข้าไปอยู่ใน เกมต่าง ๆ มากมาย ซึ่ง Metaphor ของ คำว่า เกมในเรื่องสั้น แม่ทัพตายแล้ว นี้เองที่ผมเห็นว่ามันอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างของ เพื่อชีวิตในแง่มุมใหม่ที่ไปไกลและเป็นจริงมากกว่าการเทศนาเรื่อง ชนชั้น’ (น.248)

ที่ขีดเส้นใต้นี่คือตัวอย่างวิธีคิดแบบงี่เง่าเฮงซวยปัญญาอ่อน การพูดว่า เรื่องสั้นแม่ทัพตายแล้ว นี้เป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ก้าวหน้ากว่าเรื่องสั้นที่ผ่านมาเพราะมันพูดเรื่องอื่นที่น่าสนใจกว่าเรื่องชนชั้นนั้น  ปัญญาอ่อนพอ ๆ กับการพูดว่า รถยนต์คันนี้พัฒนากว่ารถยนต์รุ่นก่อน ๆ เพราะมันสามารถแช่ผักผลไม้ได้ดีกว่ารถยนต์รุ่นก่อน ๆ ...

คุณสามารถวิจารณ์ได้ว่า เรื่องสั้นแม่ทัพตายแล้ว ก้าวหน้ากว่าเรื่องสั้นเพื่อชีวิตก่อน ๆ อย่างไรก็ได้ แต่ไม่ใช่มาบอกว่า มัน เป็นเพื่อชีวิตที่ก้าวหน้ามากกว่า โดยที่คุณตอบไม่ได้ว่ามันเป็นเพื่อชีวิตได้อย่างไรในเมื่อมันไม่ได้พูดเรื่องชนชั้น ความก้าวหน้าของวรรณกรรมเพื่อชีวิตถ้าจะมีก็คือ มันจะต้องพูดถึงเรื่องชนชั้นได้ก้าวหน้าขึ้น ไม่ใช่ไปพูดเรื่องอื่น ซึ่งแม้จะพูดได้ดี แล้วเราจะเรียกมันว่าเพื่อชีวิตไปทำซากอะไร ทำไมไม่ใช่คำว่า สร้างสรรค์” (creative) ที่สุชาติสถาปนา จะทำให้มันต้องกลายเป็นเพื่อชีวิตไปเพื่ออะไร จะประทับตราทำไม? ก็ให้มันเป็นอย่างที่มันเป็นสิครับ แล้วก็ปล่อยให้เพื่อชีวิตเป็นอย่างที่มันควรเป็น ถ้าคุณไม่เห็นความสำคัญของการเขียนเปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น คุณก็ไม่ต้องเขียน ไม่มีใครตั้งองค์การห่าอะไรขึ้นมาบังคับขืนใจคุณสักหน่อย คุณอยากเขียนอะไรคุณก็เขียนไปสิ ส่วนคนที่เขายังเขียนเพื่อชีวิตอยู่เพราะยังเห็นความสำคัญของประเด็นชนชั้นอยู่ แล้วคุณจะมาเผือกอะไร? ถ้าคุณจะวิจารณ์ คุณก็ต้องวิจารณ์บนฐานที่ว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดโปงเรื่องชนชั้นได้ตื้นลึกหนาบาง ลึกซึ้งมากกว่าที่ผ่านมาแค่ไหน นี่จึงจะนับว่าเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่วิจารณ์ด้วยวิธีคิดที่วิบัติและไม่เคารพข้อเท็จจริงเช่นที่สุชาติกระทำ


เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ไทยโพเอ็ทโซไซตี

Comments