เถ้าถ่านแห่งวารวัน
เถ้าถ่านแห่งวารวัน แปลจาก The
Remains of the Day นิยายรางวัล Booker Prize ปี
1989 ของ คาสึโอะ อิชิงุโระ
ดูจากชื่อผู้เขียนอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่น แม้ว่าผู้เขียนจะเป็นชาวญี่ปุ่น แต่ก็เป็นคนญี่ปุ่นที่เติบโตและอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
ดังนั้นนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของคนอังกฤษ
และเป็นชิ้นงานวรรณกรรมที่ตีแผ่ความเป็นอังกฤษออกมาได้อย่างน่าทึ่งที่สุดชิ้นหนึ่งในโลกวรรณกรรม
แต่แม้ว่าผู้เขียนจะเติบโตและอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นหลัก และแม้ว่างานวรรณกรรมชิ้นนี้จะเขียนขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ
กระนั้น
ลีลาการเล่าเรื่องอันเรียบนิ่งและลุ่มลึกก็ยังทำให้เราประหวัดคิดไปถึงลักษณะเฉพาะของความเป็นญี่ปุ่นได้เช่นกัน
เถ้าถ่านแห่งวารวัน
เล่าเรื่องผ่านพ่อบ้านชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่มีชีวิตผ่านอาชีพนี้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจนสิ้นสุดสงคราม “พ่อบ้าน”
ในที่นี้หมายถึงตำแหน่งหัวหน้าคนรับใช้ในคฤหาสน์ของชนชั้นปกครองของอังกฤษ
เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นชีวิตการทำงานภายในคฤหาสน์ของเจ้านาย
มีการสะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เป็นช่วง ๆ
แต่ใจความใหญ่ยังคงเป็นเรื่องราวในอาชีพของพ่อบ้านภายในคฤหาสน์
เรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็น “มืออาชีพ” ของวงการพ่อบ้าน
ความสัมพันธ์ของพ่อบ้านกับแม่บ้านซึ่งเป็นตัวละครหลักอีกตัว
และคำถามของพ่อบ้านที่มีต่อชีวิตและการงานของตัวเองทั้งในเรื่องคุณค่าและความหมาย
เมื่อเริ่มต้นอ่าน ผู้อ่านจะพบกับความอืดเอื่อยในตอนแรก
แต่ในเวลาไม่นาน เราจะค่อย ๆ ดิ่งลึกไปกับเรื่องราว รายละเอียดต่าง ๆ จะค่อย ๆ
เปล่งความหมาย จนในที่สุด ความเข้มข้นของเรื่องจะทำให้เราวางหนังสือเล่มนี้ไม่ลง
เริ่มจากบทนำที่เป็นกระแสสำนึกของตัวละครหลัก
กระแสสำนึกนี้เล่าเรื่องเหมือนกับผู้เล่ากำลังคุยอยู่กับคนอีกคนหนึ่ง จากนั้น
อย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้อ่านจะค่อย ๆ ก้าวล่วงไปสู่ความหมายที่ลึกลงเรื่อย ๆ
ผ่านเรื่องราวปัจจุบันและการหวนรำลึกของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งจะรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง
ๆ ขึ้นเป็นช่วง ๆ ตลอดการเดินทางไปหาตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งที่รอคอยอยู่ปลายทาง
และแต่ละเรื่องราวที่รำลึกขึ้นนั้นก็จะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอย่างมีนัยที่น่าค้นหายิ่ง
ประเด็นสำคัญสองประการที่ผู้อ่านจะถูกโน้มนำให้ครุ่นคิดโดยตัวเรื่องก็คือ
เรื่องของ “ศักดิ์ศรี” และ “ความเป็นมืออาชีพ” และทั้งสองประการนี้ก็เกี่ยวกระหวัดร้อยรัดไปกับความซับซ้อนของสังคม
วัฒนธรรม และการเมืองของประเทศอังกฤษ
แต่ความซับซ้อนนี้มิได้ปรากฏเป็นภาพที่แจ่มชัด
หรือข้อสรุปเยี่ยงเดียวกับรายงานทางวิชาการ
แม้ว่าภาพดังกล่าวจะตั้งตระหง่านปรากฏขึ้นเป็นทิวทัศน์อันแจ่มกระจ่างตระการตา ทว่ากลับสงวนท่าทีและดูหลีกเร้น
ประหนึ่งว่ามันมิได้ตระหนักถึงความโอ่อ่าดังกล่าว แต่ถวิลหาบางสิ่งที่อยู่ไกลออกไป
ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นจากการอ่านล่วงลึกเกินกว่าประเด็นทางวัฒนธรรม สังคม
หรือการเมือง ไปสู่ความหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์
สิ่งที่เกิดขึ้นในนิยาย เถ้าถ่านแห่งวารวัน
มิได้เป็นปรัชญาแห่งชีวิต แต่มันคือ “ชีวิต”
ที่เผยตัวและดำรงอยู่อย่างนั้น
ไร้รูปทรงจนยากที่จะกำหนดลงสู่ปรัชญาหรือข้อสรุปใด
นัยของคำว่า “ศักดิ์ศรี” และ “มืออาชีพ”
ก็เช่นกัน เราจะสังเกตได้ถึงการล้อกันของคำว่า “มืออาชีพ” และ “มือสมัครเล่น”
ที่ตัวเรื่องทำให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันความหมายของคำว่า “ศักดิ์ศรี” อันแท้จริงกลับสงวนท่าทีอย่างยิ่ง
คล้ายกับว่า เมื่ออ่านจบ ผู้อ่านดูเหมือนจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ศักดิ์ศรี” ของชาวอังกฤษ กระนั้น
ความเข้าใจดังกล่าวกลับทำให้เราไถ่ถามถึงความหมายของการดำรงอยู่มากกว่าที่จะใช้มันเป็นเครื่องอธิบายในฐานะของความรู้ความเข้าใจ
หนังสือเล่มนี้คือชิ้นงานวรรณกรรมที่แท้ซึ่งหาได้ยากยิ่งในโลกวรรณกรรมปัจจุบัน
คือหนังสือที่ยืนยันถึงพลังอันแท้จริงของงานวรรณกรรมที่จะทำให้ผู้อ่านก้าวเข้าสู่อาณาเขตที่ความหมาย
ภาษา และชีวิต ไร้ความแปลกแยกต่อกัน
ศักดิ์ศรี
ซึ่งน่าจะเป็นคุณค่าของการดำรงอยู่ และมีความหมายที่เรียบง่าย กลับดูถดถอย
และซับซ้อนอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่
แต่คุณค่าซึ่งเป็นนามธรรมอันเก่าแก่ของมนุษย์นี้ก็ผูกพันกับการดำรงอยู่ของคนอย่างลึกซึ้ง
มันเป็นทั้งวัฒนธรรม เป็นทั้งสังคม เป็นทั้งการเมือง
และมันก็ยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของปัจเจกบุคคลอีกด้วย
เมื่อสิ่งที่ฝังรากลึกลงสู่การดำรงอยู่ของมนุษย์นี้ถูกสั่นคลอน
หรือกระทั่งแปรเปลี่ยนเลือนหาย บางส่วนของการดำรงอยู่นั้นก็เหมือนกับหายวับไปด้วย
บางทีนี่อาจจะเป็นโจทย์อันเก่าแก่โจทย์หนึ่งซึ่งมนุษย์ผู้ต้องการมีชีวิตผ่านพ้นยุคสมัยนี้ไปต้องตอบให้ได้
คาซึโอะ
อิชิงุโระเกิดที่เมืองนางาซากิประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1954
ครอบครัวของเขาอพยพไปอยู่อังกฤษตั้งแต่เขาอายุ 6 ปี
ทำให้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่เขามีต่อปู่ต้องสิ้นสุดลงไปด้วย
หลังจากนั้นไม่กี่ปีปู่ของเขาก็เสียชีวิตลง
การตายของปู่เป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเขาไม่น้อย
หลังจากที่ย้ายมาอยู่อังกฤษครอบครัวอิชิงุโระเชื่อเสมอว่าในเวลาไม่นานพวกเขาจะได้ย้ายกลับไปยังบ้านเกิด
คาซึโอะจึงได้รับการเตรียมพร้อมเสมอสำหรับการกลับไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น
ทว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
คาซึโอะ อิชิงุโระเติบโตขึ้นที่ Guildford,
Surrey ประเทศอังกฤษ
เป็นเด็กชายญี่ปุ่นเพียงคนเดียวท่ามกลางคนท้องถิ่น
คาซึโอะในวัยหนุ่มใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องเพลงร็อก ปี 1973 เขาทำงานรับใช้ Queen
Mother ที่ปราสาท Balmoral ใน Aberdeen
ประเทศสก็อตแลนด์ ปี 1978
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัย Kent ที่ Canterbury และปี 1980 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขา creative-writing จาก the University of East Anglia เขาเริ่มต้นอาชีพนักเขียนเต็มเวลาในปี
1981
A Pale View of Hills ผลงานเล่มแรกของเขาตีพิมพ์ในปี
1982 ได้รับรางวัล Winifred Holtby Prize จาก Royal
Society of Literature เป็นเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำหลังสงครามของตัวละครชื่อ
เอ็ตสึโกะ หญิงชาวญี่ปุ่นซึ่งลูกสาวของเธอฆ่าตัวตาย ผลงานเล่มที่สองของเขาคือ An
Artist of the Floating World ตีพิมพ์ในปี 1986 ได้รับ Whitbread
Book of the Year ในปี 1986
และอยู่ในรายชื่อหนังสือรอบสุดท้ายของรางวัล Booker Prize เป็นเรื่องราวการหวนรำลึกอดีตของ
มาซึจิ โอโน ศิลปินซึ่งเคยทำงานอยู่ในพระราชวังหลวงของญี่ปุ่น
The Remains of the Day หรือ
เถ้าถ่านแห่งวารวัน เล่มนี้ เป็นผลงานเล่มที่สาม ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1988 และได้รับรางวัล Booker Prize ในปี 1989 พร้อมกับเสียงชื่มชมยกย่องจากทั่วสารทิศ The Remains of the Day เป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ
คาซึโอะ อิชิงุโระ และส่งให้นามปากกานี้อยู่ในรายชื่อนักเขียนแถวหน้าของโลกวรรณกรรมภาษาอังกฤษ
นิยายเล่มนี้ทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1993 กำกับโดย Jannes Ivory เขียนบทโดย
Ruth Prawer Jhabvala นำแสดงโดย แอนโทนี ฮอปกินส์ และ เอ็มมา
ทอมสัน เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ผลงานของคาสึโอะส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมหลังอาณานิคม
(post-colonial
novels) ขณะที่นักวิจารณ์อีกหลายเสียงยังคงโต้แย้งและเห็นว่างานของคาซึโอะไม่ใช่วรรณกรรมหลังอาณานิคม
โดยเฉพาะลักษณะเฉพาะของตัวละครซึ่งมักสะท้อนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่เกินกว่าการสังกัดประเทศ
ทำให้มองย้อนไปยังตัวผู้เขียนได้ว่า คาซึโอะเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นชาวอังกฤษ
หรือชาวญี่ปุ่น
นักเขียนที่คาซึโอะโปรดปรานได้แก่ อันตัน
เชคอฟ,
ดอสโตเยสกี, ฟรานซ์ คาฟคา, มิลาน กุนเดอรา, ซามูเอล แบ็กเก็ต, และเฮนรี เจมส์
นอกจากงานวรรณกรรมแล้ว คาซึโอะยังเขียนบทให้กับรายการโทรทัศน์
และเขียนบทภาพยนตร์
ผลงานวรรณกรรมเล่มต่อมาของเขาได้แก่ The
Unconsoled (1995) และ นิยายเรื่องล่าสุดในปี 2006 นี้ คือ Never
let Me go
พิมพ์ครั้งแรกนิตยสาร IMAGE
Comments
Post a Comment