ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ลุงฟางมีอายุครบ
95 ในปีนี้ สำหรับแฟนเพลงเพื่อชีวิต เมื่อได้ยินคำว่า “ลุงฟาง” ก็อาจจะนึกถึงชายชราที่
รอฝนโปรยฟ้าโรยละอองน้ำ แดดลมซ้ำทำผลผลิตงามนักหนา วิธีทำนาโดยไม่ทำนา
เหลือเวลาไว้หาตัวในตน ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่ แอ๊ด คาราบาว
แต่งขึ้นจากชีวิตของชาวนาญี่ปุ่นชื่อ มาซาโนบุ ฟุกุโอกะ
เมื่อสักราว 20 ปีก่อน
ฟุกุโอกะอาจนับเป็นชาวนาที่มีชื่อเสียงที่สุดในสังคมไทย หลังจากที่ รสนา
โตสิตระกูล แปล ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ซึ่งเป็นงานเขียนที่ฟุกุโอกะเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์
30 ปี ในไร่นาของเขา และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษโดย ลาร์รี่ คอร์น
นักการเกษตรผู้เคยอาศัยและเรียนรู้อยู่ในไร่นาของฟุกุโอกะ
หนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว
เป็นทั้งประสบการณ์และปรัชญาของฟุกุโอกะ
จึงทำให้ยากที่จะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือปรัชญา
หรือเป็นหนังสือเกี่ยวกับปฏิบัติการทางการเกษตร
เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือได้สำแดงออกอย่างเด่นชัดในคุณลักษณะทั้งสองประการ
ชีวิตของฟุกุโอกะนั้นเป็นชีวิตของนักปฏิบัติอย่างแท้จริง
โดยก่อนที่จะเกิดบางสิ่งบางอย่างที่เขาเรียกว่า “ความกระจ่างแจ้ง”
ขึ้นในชีวิตนั้น
ฟุกุโอกะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หมกมุ่นอยู่กับการทดลองเกี่ยวกับพืชในห้องวิจัย
และหลังจากเกิดความกระจ่างแจ้งแล้วนั้น เขาใช้เวลา 30 ปี
ในไร่นาของครอบครัวที่บ้านเกิด เพื่อสำแดงการประจักษ์ดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมในฐานะของ
“เกษตรธรรมชาติ” เพื่อสื่อสารกับบุคคลอื่น
หนังสือเล่มนี้จึงมีความเป็นหนังสือปรัชญาเท่า ๆ กับการเป็นปฏิบัติการทางการเกษตร
ซึ่งมีรายละเอียดเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้
กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นปฏิบัติการโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็ว่าได้
ฟุกุโอกะแยกแยะและยืนยันความแตกต่างระหว่าง
“เกษตรธรรมชาติ” (nature farming) และ “เกษตรอินทรีย์” (organic farming)
โดย เกษตรธรรมชาติ ของฟุกุโอกะ
มีหลักที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 4 ประการ คือ หนึ่ง ไม่ไถพรวนหรือพลิกดิน สอง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมัก สาม ไม่กำจัดวัชพืชโดยการไถกลบหรือใช้ยากำจัดวัชพืช สี่ ไม่ใช้สารเคมี กล่าวได้ว่าหลัก 4 ประการนี้
คือแนวทางหลักที่จะป้องกันการแทรกแซงธรรมชาติของมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด
จนกระทั่งอยู่ในสภาพ “ไม่กระทำ” (do nothing farming)
คือไม่แทรกแซงธรรมชาติเลย (ฟุกุโอกะเล่าว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเกี่ยวกับการ
“ไม่กระทำ” มาที่ไร่นาของเขาด้วยความคิดว่าจะได้นั่ง
ๆ นอน ๆ ทั้งวันโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ฟุกุโอกะบอกว่า “การเกษตรแบบไม่กระทำ”
นั้นเป็นคนละอย่างกับ “การเกษตรแบบขี้เกียจ”
แต่กระนั้น แม้แต่ในเมืองไทยก็ยังมีผู้ให้ความชอบธรรมกับความขี้เกียจโดยอ้างปรัชญาไม่กระทำนี้อยู่บ่อยครั้ง)
นอกจากนี้
ฟุกุโอกะยังปฏิเสธวิทยาศาสตร์และปัญญาของมนุษย์
เนื่องจากทั้งหมดนั้นเป็นทัศนะที่แบ่งแยก
หนทางเดียวที่จะเข้าถึงความจริงแท้และปรากฏการณ์ที่เป็นจริงนั้น
คือการมีจิตใจที่ไม่แบ่งแยกเท่านั้น ซึ่งเนื้อหาตรงส่วนนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับศาสนาพุทธและฟุกุโอกะเองก็กล่าวว่าเกษตรธรรมชาติของเขามีปรัชญาเดียวกับศาสนาพุทธ
ในประเด็นที่กล่าวมานี้ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจอีกมากซึ่งไม่สามารถกล่าวถึงในที่นี้
ผมหวังว่าคงจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป
ทุกวันนี้การเกษตรทางเลือก (alternative
agriculture) หรือเกษตรปลอดสารพิษ (sustainable agriculture)
ได้พัฒนาแนวทางที่แตกต่างหลากหลายมากมาย
นอกจากเกษตรธรรมชาติหรือเกษตรไม่กระทำของฟุกุโอกะ และเกษตรอินทรีย์แล้ว
ยังมีการเกษตรรูปแบบอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น Biodynamic Farming,
Effetive Microorganism (มักจะเรียกย่อว่า EM เป็นแนวคิดของ
โมกิชิ โอคาดะ พัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกับฟุกุโอกะ), Biointensive
Farming, Biointensive mini-farm (BIMF), Synergistic Agriculture,
Permaculture และอื่น ๆ
อีกมากมาย
แนวทางเกษตรแบบทางเลือกเหล่านี้ ล้วนมีรากเหง้าพัฒนากันมาในช่วงปลายศตวรรษที่
20 ทั้งจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออก
หรือผสมผสานกัน แนวทางอย่าง Synergistic Agriculture ของ Emilia Hazelip และ Permaculture ของ Bill Mollison นับเป็นการทำเกษตรที่ได้รับอิทธิพลจากฟุกุโอกะโดยตรง
โดย Synergistic ของ Emila เป็นการทำเกษตรสมุนไพรโดยยึดหลักการปรับสภาพโครงสร้างดินให้คืนสู่สภาพตามธรรมชาติดั้งเดิมมากที่สุด ส่วน Permaculture หรือ
เกษตรยั่งยืน ของ Bill Mollison มีลักษณะคล้ายคลึงกับเกษตรพึ่งตนเอง
โดยเกษตรกรสามารถผลิตปัจจัยยังชีพได้ทั้งหมดในไร่นาของตน
ศัพท์แสงคำเรียกการเกษตรทางเลือกเหล่านี้
ล้วนมีที่มาที่ไปมีความสัมพันธ์ต่อกัน
และมีความหมายทั้งในทางรูปธรรมและปรัชญาที่แน่นอน โดยเกษตรกรต่าง ๆ
ทั่วโลกต่างก็ยึดถือสำนักแนวทางแตกต่างกันไปตามความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพภูมิอากาศของตน
สำหรับประเทศไทย หลังการตีพิมพ์
ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ในปี 2530
ฟุกุโอกะได้มาเยือนประเทศไทยถึง 2 ครั้ง คือ ในปี 2533 และ ปี 2534
จากรายงานเปรียบเทียบเกษตรทางเลือกระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น
ที่ได้รับการรีวิวโดย คณะกรรมการ HORIZON Scientific (ดู www.solution-site.org) พบว่า หลังการมาเยือนของฟุกุโอกะ
มีเกษตรกรไทยจำนวน 80 คน นำหลักการ “ไม่ไถพรวน” ของ ฟุกุโอกะมาทดลองใช้ในไร่นาของตน ทว่าส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ
โดยปัญหาหลักคือ มีฟางไม่เพียงพอต่อการคลุมพื้นที่นา
และวัชพืชทำให้ต้นข้าวไม่งอกงาม กระทั่งปี 2538 คงเหลือเกษตรกรเพียง 10
คนเท่านั้นที่ยังคงใช้หลักการของฟุกุโอกะ ต่อมาในปี 2540
มีเกษตรกรกลับมาใช้วิธีของฟุกุโอกะเพื่อขึ้นเป็น 27 คน
เพราะผลผลิตปลอดสารพิษมีราคาสูงขึ้นในตลาด
แน่นอนว่าแนวทางของฟุกุโอกะนั้น
สวนทางกับเกษตรวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเกษตรกระแสหลักโดยสิ้นเชิง
ขณะที่การยึดหลักไม่ไถพรวนดินของฟุกุโอกะนับเป็นเพียงปฐมบทของการไม่แทรกแซงธรรมชาติ
ทัศนะของบรรษัทข้ามชาติผูกขาดที่คอยผลักดันการเกษตรพาณิชย์กระแสหลักกลับแตกต่างอย่างสุดขั้ว
บรรษัทอย่างคาร์กิลและมอนซาโต
มองข่ายใยชีวิตและวัฏจักรของธรรมชาติ เป็น “การขโมย”
ทรัพย์สินของพวกเขา ในระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับการเข้ามาของคาร์กิลในอินเดียเมื่อปี
1992 ประธานบริหารของคาร์กิลประกาศว่า “เรานำเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมาให้เกษตรกรอินเดีย
มันป้องกันมิให้แมลงมาแย่งชิงเกสรดอกไม้” ในระหว่างการเจรจาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของสหประชาชาติ
มอนซาโตแจกจ่ายเอกสารที่กล่าวถึง “วัชพืชผู้ขโมยแสงแดด”
เป็นทัศนะที่มองว่าการผสมเกสรเป็น “การขโมยโดยหมู่ผึ้ง”
และกล่าวหาว่าพืชหลายชนิด “ขโมยแสงแดด”
(ดู ปล้นผลิตผล!, วันทนา ศิวะ, น.14)
พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร way
Comments
Post a Comment