นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน








บางครั้งความจริงที่ถูกฝังเอาไว้ เมื่อขุดลึกลงไปก็จะพบกับเรื่องราวซึ่งมีอายุแตกต่างกัน ทับถมกันเป็นชั้น และที่ใดที่หนึ่ง โครงเรื่องซึ่งประดุจราวซากกระดูก นอนนิ่งอยู่ระหว่างชั้นของเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมา  ณ ที่ซึ่งอยู่ระหว่างความหมายที่เขียนทับลงไปบนความหมาย  มีเค้าโครงของบางสิ่งซึ่งเคยดำรงอยู่มาแต่โบราณ ฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์นี้คือความจริงเกี่ยวกับนางห้ามของไทยในศตวรรษก่อน...


หนังสือ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน
ผู้เขียน แอนนา เลียวโนเวนส์
ผู้แปล อบ ไชยวสุ
สำนักพิมพ์ Shine Publishing House
เวลาพิม ธันวาคม 2017
ISBN 9786167939094
ขนาดรูปเล่มปกอ่อน 140x207x36 มม.
ขนาดรูปเล่มปกแข็ง 150x220x57 มม.
เนื้อในปกอ่อน กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ
เนื้อในปกแข็ง กระดาษพิเศษ 128 แกรม
ปก ปกอ่อน พิมพ์ 4 สี กระดาษรีฟดีไซน์ไอซ์ไวท์
จำนวนหน้า 640 หน้า 
ราคาปกอ่อน 490 บาท สั่งซื้อ
ราคาปกแข็ง 1,010 บาท สั่งซื้อ



โปรยปกหน้า



เรื่องรักของราชสำนักไทยในศตวรรษที่ 19 โดยพระอาจารย์ของรัชกาลที่ 5 ผลงานแปลชิ้นเอกของเจ้าของห้องเกษมศรีหนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษ ศิลปินแห่งชาติคนที่สอง


โปรยปกหลัง



ผลงานเล่มที่สองของคุณครูพี่เลี้ยงชาวอังกฤษในราชสำนักสยาม บันทึกประสบการณ์ในรูปแบบเรื่องสั้น วรรณกรรมร้อยแก้วสะท้อนภาพสังคมไทยก่อนกำเนิดวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ เปิดเผยเรื่องราวเร้นลับของนางห้าม ต้นกำเนิดตำนานแอนนาและพระเจ้ากรุงสยาม ประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนทับ ความจริงซึ่งยังไม่ถึงที่สุด และหลักฐานที่ยังคงเป็นปริศนา


สารบัญ



หมายเหตุสำนักพิมพ์   06
บรรณานุกรมภาพประกอบ  07
คำนำเสนอ  10

คำนำผู้เขียน   163
คำอุทิศของผู้เขียน   165
ธิดาเจ้าราชบุตร   167
เจ้าจอมทับทิม   299
เจ้าจอมช้อย   335
ลออ-ทาสพระองค์หญิง   369
เรืองแข-สาวกัมพุช   399
พระองค์สุนาถวิสมิตรา   501
เจ้าจอมซ่อนกลิ่น   563

หมายเหตุสำนวนแปลของ อบ ไชยวสุ   578
คำนำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช   580
คำนำของผู้แปล   582
หมายเหตุภาพประกอบจากต้นฉบับเดิม   584
ภาคผนวกเอกสาร   602

เกี่ยวกับ อบ ไชยวสุ   634
ประวัติของ แอนนา เลียวโนเวนส์   637





แนะนำ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน



ประวัติความเป็นมา


The Romance of the Harem พิมพ์ครั้งแรก ปี 1873 (พ.ศ. 2416) เป็นผลงานเล่มที่สองของแอนนา เลียวโนเวนส์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับฝ่ายในของราชสำนักสยาม และเขียนขึ้นเพื่อนางห้ามเหล่านั้นโดยเฉพาะ ดังที่เธอเขียนไว้ในคำอุทิศของหนังสือว่า “to the noble and devoted women whom I learned to know, to esteem, and to love in the city of the Nang Harm, I dedicate the following pages, containing a record of some of the events connected with their lives and sufferings.”

หลังจากนั้น 71 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่แอนนาไม่มีชีวิตอยู่อีกแล้ว มาร์กาเร็ต แลนดอนได้นำเรื่องราวจากหนังสือเล่มแรกของเธอ The English Governess of the Siamese Court เล่มที่สอง The Romance of the Harem และข้อมูลในเอกสารต่าง ๆ ที่ได้รับจากทายาทของแอนนา แต่งขึ้นเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่ง คือ Anna and the King of Siam เป็นเรื่องราวของแอนนาและพระเจ้ากรุงสยาม (รัชกาลที่ 4) 2 ปีต่อมา นิยายเรื่องดังกล่าวได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์โดยบริษัททเวนตี้เซนจูรีฟอกซ์ นำแสดงโดย ไอรีน ดัน, เร็กซ์ แฮร์ริสัน และลินดา ดาร์เนล และนี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานแอนนาแอนด์เดอะคิง


จุดเริ่มต้นของตำนาน


ภาพยนตร์ปี 1946 ประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับรางวัลอะเคดิมี แต่ก็ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของตำนาน ผลกระทบอันลึกซึ้งเกิดขึ้นเมื่อเรื่องราวของแอนนาได้รับการสร้างเป็นละครเพลง The King and I เขียนบทโดย ริชาร์ด รอดเจอร์ และออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ บุคคลซึ่งเป็นตำนานของละครบรอดเวย์

The King and I นำแสดงโดยเกอทรูด ลอว์เรนซ์และยูล บรินเนอร์ เริ่มแสดงในปี 1951 จัดแสดงต่อเนื่องกัน 3 ปี แสดงไป 1,246 รอบ นักแสดงนำทั้งคู่ได้รับรางวันโทนี่

ด้วยความสำเร็จมหาศาลของละครเพลง The King and I ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เพลง โดยใช้บทของรอดเจอร์และแฮมเมอร์สไตน์  นำแสดงโดย ดิโบราห์ เคอร์ และยูล บรินเนอร์ เรื่องราวของแอนนากลับสู่จอเงินอีกครั้ง และประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเดิม กวาดรายได้ไป 6 เท่าของภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นแรก

นับแต่นั้นเรื่องของแอนนาและกษัตริย์สยามก็กลายเป็นตำนาน เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอเมริกา


ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้ง


หลังจากเรื่องราวของแอนนากลายมาเป็นนิยายโดยมาร์กาเร็ต แลนดอนและสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว คนสยามรุ่นหลัง โดยเฉพาะสมาชิกราชวงศ์จักรีก็มีปฏิกิริยาต่อต้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์และเสนีย์ ปราโมชได้เขียนหนังสือเพื่อที่จะหักล้างต่อสู้กับเรื่องราวของแอนนา เฉพาะคึกฤทธิ์เองได้เขียนนิยายเรื่องสี่แผ่นดินขึ้นหลังจากที่ละครเพลง The King and I เริ่มแสดงเพียง 3 เดือน บุคคลหลายคน ทั้งคนไทยและชาวตะวันตก ลุกขึ้นมาวิจารณ์หนังสือทั้งสองเล่มของแอนนาตามลำดับ โดยมีประเด็นโต้แย้งอยู่ที่ข้อเท็จจริงในหนังสือทั้งสองเล่ม

การโต้แย้งนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ข้ามศตวรรษ กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับแอนนาและเรื่องราวที่โต้แย้งกัน


ปมขัดแย้งและปริศนาของแอนนา


แม้ว่าปมขัดแย้งจะเริ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงในหนังสือของแอนนาเกี่ยวกับเรื่องราวในราชสำนักของสยาม แต่ปมปริศนาที่ดึงดูดคนให้มาสนใจเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่แอนนาเสียชีวิตไปแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ เมื่อเกิดปรากฏการณ์แอนนาขึ้น จึงได้เกิดกระแสโต้กลับแอนนาจากชนชั้นสูงไทยและชาวตะวันตกที่ใกล้ชิดราชสำนัก จนกระทั่งมีผู้ค้นพบว่าแอนนา เลียวโนเวนส์ได้ปิดบังหรือกระทั่งแต่งประวัติของตนเอง เธอไม่ใช่ชาวอังกฤษซึ่งเกิดที่แคว้นเวล หากแต่เป็นสายเลือดผสมซึ่งเกิดที่บอมเบย์ นับจากนั้นตัวตนของแอนนาก็กลายเป็นปริศนาซึ่งดึงดูดนักวิชาการและนักเขียนชีวประวัติคนแล้วคนเล่าให้มาค้นคว้าเรื่องของเธอ

แต่ทว่า นี่คือชัยชนะของฝ่ายที่โต้แย้งเธอจริง ๆ หรือ นับแต่มีการเปิดโปงประวัติของแอนนา พวกเขาก็ประนามว่าเธอตอแหล และเหมาเอาว่าทุกสิ่งที่เธอเขียนไม่เป็นความจริง และนี่คือสิ่งที่จะได้รับการสำรวจอย่างละเอียดในคำนำเสนอขนาดยาวที่ไม่ต่างกับงานค้นคว้าขนาดย่อม ซึ่งสำนักพิมพ์ไชน์ภูมิใจนำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านพิสูจน์ด้วยตนเองว่า ใครกันแน่ที่ตอแหล?


เนื้อหาของนิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน


นิยายรักในราชสำนนักฝ่ายใน เป็นชุดเรื่องราวประดุจเรื่องสั้นจำนวน 7 เรื่อง เป็นเรื่องของบุคคลต่าง ๆ ที่แอนนาได้ประสบระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในราชสำนักของสยาม เรื่องเหล่านี้บางเรื่องมาจากเค้าโครงของเหตุการณ์จริง บางเรื่องเป็นเรื่องเล่าต่อกันมากึ่งจริงกึ่งแต่ง แอนนาระบุว่าเรื่องเล่าที่เธอประสบด้วยตัวเองนั้นเป็นความจริง ส่วนเรื่องที่เธอได้ฟังมาเธอก็เขียนไปตามที่เธอได้จดเอาไว้ในเวลานั้น

ธิดาเจ้าราชบุตร เป็นเรื่องราวของกษัตริย์ไร้บัลลังก์ซึ่งหวังจะกอบกู้อาณาจักรของตน และซัดเซพเนจรมาถึงบางกอกพร้อมกับลูกสาว จนกระทั่งได้มาเป็นบริวารของพระยาที่คิดก่อกบฏ เรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตของขุนนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่ การกดขี่ไพร่-ประชาชน ความรักและชะตากรรมของหญิงผู้พลัดแผ่นดิน เค้าโครงของฉากเหตุการณ์ในเรื่องสามารถสืบสาวกลับไปยังเหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าอนุเวียงจันทน์ เป็นเรื่องที่มีความเป็นนิทานที่สุดแต่ก็มีรูปรอยของความจริงปรากฏอยู่ไม่น้อย

เจ้าจอมทับทิม เรื่องราวอันเข้มข้นของเจ้าจอมสาวของรัชกาลที่ 4 ซึ่งถูกประหารด้วยการเผาทั้งเป็นเพราะปักใจรักมั่นอยู่กับคนรักของตนเองแต่เดิม เป็นเรื่องที่ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในนิยายของมาร์กาเร็ต แลนดอน มีอยู่ในภาพยนตร์และละครเพลง และเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงโต้แย้งกันมากที่สุด ข้อเท็จจริงของเรื่องยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนแต่กลับมีหลักฐานแวดล้อมและตำนานจริงในสังคมไทยที่เล่าต่อกันมา

เจ้าจอมช้อย เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่แอนนาบันทึกไว้จากปากคำของนางละครหลวง เป็นบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของหญิงฝ่ายในที่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีตัวตนอยู่จริง เรื่องสั้นของแอนนาชิ้นนี้ เป็นหลักฐานร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียวในประวัติศาสตร์ที่ออกมาจาก “นางห้าม” ผู้หญิงที่เคยมีชีวิตอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในและมีหน้าที่ต้องรับใช้กษัตริย์

ลออ-ทาสพระองค์หญิง อีกเรื่องที่มีหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 เรื่องราวชะตากรรมชีวิตและความรักของหญิงทาสที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองไปอยู่กับคนรัก แอนนาให้รายละเอียด ทั้งฉากภาพ และความรู้สึกนึกคิดของหญิงผู้ถูกกดขี่ ในอดีต อย่างที่จะไม่พบในวรรณกรรมหรือบันทึกอื่นใด

เรื่องแข-สาวกัมพุช อีกเรื่องของหญิงสามัญชนชาวกัมพูชาผู้นับถือศาสนาคริสต์ เป็นเรื่องที่สะท้อนชีวิต ความคิด ความเชื่อของสามัญชน และความเป็นอยู่ของชุมชนชาวคริสต์ที่สามเสนเมื่อ 150 ปีก่อน

พระองค์สุนาถวิสมิตรา เรื่องราวลึกลับซึ่งเกี่ยวพันกับเจ้าหญิงเชียงใหม่และพระปิ่นเกล้า ความสัมพันธ์ ภายในราชสำนักสยามที่ยังคงเป็นปริศนา เป็นเรื่องราวกับนิทานแต่ก็ต้องการการสืบค้นความจริงถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

เจ้าจอมซ่อนกลิ่น เจ้าของตำนาน “ซ่อนกลิ่น แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์” เจ้าจอมชาวมอญซึ่งเป็นลูกศิษย์ของแอนนา ผู้หลงใหลนิยายเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม เกิดสำนึกเกี่ยวกับเสรีภาพจนตัดสินใจปลดปล่อยทาสทั้งหมดของตัวเอง เรื่องเจ้าจอมซ่อนกลิ่นเป็นเรื่องที่คนยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่สุดเพราะมีหลักฐานมากมายจนยากจะปฏิเสธ

แอนนาบันทึกประสบการณ์ในความทรงจำเหล่านี้ออกมาเป็นเรื่องเล่าเปี่ยมชั้นเชิงและมีศิลปะ ก่อเกิดเป็นวรรณกรรมที่ขับประกายชีวิตของผู้คนออกมาอย่างมีชีวิตชีวา ทำให้เห็นในสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ในรายงานหรือบันทึกประวัติศาสตร์ทั่วไป และด้วยพลังของวรรณกรรม เรื่องราวที่ถูกกลบฝัง ไม่ต้องการเอ่ยถึง จึงยืนยงคงความมีชีวิตมาจนกระทั่งปัจจุบัน

Comments