เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ







หนังสือ The God of Small Things ภาคภาษาไทยแปลชื่อออกมาอย่างตรงตัวว่า เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ เป็นผลงานเล่มแรกของนักเขียนหญิงชาวอินเดีย ซึ่งส่งผลให้นาม อรุณธตี รอย เป็นที่รู้จักในวงวรรณกรรมโลก ด้วยการที่หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Booker Prize ในปี 1997 และเพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดย สดใส ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2550 นี้

เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ  เป็นนิยายขนาดความยาวปานกลาง เขียนขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ  แบ่งเป็นบทย่อย 21 บท การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าเหตุการณ์ปัจจุบันตัดสลับไปกับเหตุการณ์ในอดีต จนกระทั่งเหตุการณ์เข้าใกล้จุดเข้มข้นของเรื่องในช่วงท้าย การเดินเรื่องระหว่างบทจะดำเนินต่อเนื่องกันไป จนจบลงด้วยเหตุการณ์ที่คลายปมทั้งหมดของเรื่อง

โครงเรื่องผูกขึ้นด้วยปมสองปมหลัก ๆ ที่พัวพันกัน ทำให้เหตุการณ์ที่เป็นจุดเข้มข้นสูงสุดของเรื่องมีสองเหตุการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้อ่านสามารถคาดเดาได้จากตัวเรื่องที่ค่อย ๆ คลี่คลายแต่ละปมออกมา กระนั้นสิ่งที่ดึงให้ผู้อ่านรุดไปข้างหน้าก็ยังคงเป็นรายละเอียดและปริศนาของความเกี่ยวข้องกันระหว่างปมทั้งสอง

มองจากลำดับการเล่าเรื่อง การผูกปม และการคลี่คลายเรื่อง มีลักษณะของการเดินเข้าหาปมปริศนาอย่างที่เรียกกันในภาษาวรรณกรรมว่า suspense  ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้การอ่านดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเล่มขึ้นไป

ในบทแรกที่ชื่อว่า สวนสวรรค์ผักดอง & อาหารสำเร็จรูป ผู้อ่านจะได้รับข้อมูลที่เว้นว่างการอธิบายไว้เกือบจะทุกสิ่งทุกอย่าง การอ่านเป็นไปอย่างอืดเอื่อย ชื่อตัวละครปรากฏขึ้นจนชวนสับสนงุนงง เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ผลัดเวียนกันขึ้นมาสาธยาย ประโยคซ้ำ ๆ ที่ถูกใช้เป็นกุญแจโดยเปิดเผย แทบจะมาชุมนุมกันโดยพร้อมเพรียงในบทนี้

ภาษาเล่ามีลักษณะประชดประชันเสียดสีอยู่เกือบตลอด จนหลายครั้งหลายหนก็ทำให้เกิดความสงสัยต่อสำเนียงสุ้มเสียงของการเล่า ซึ่งทั้งจุกจิกและสัปดนนั้น ว่าเป็นสำเนียงโดยปรกติของท้องถิ่นอินเดียที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้นในโลกของภาษาไทย หรือว่าเป็นท่าทีทางวรรณกรรมที่จงใจของผู้เขียน อย่างไรก็ดี บางการบรรยายของผู้เขียนก็ให้ภาพพจน์ของการกดขี่ทางเพศที่แจ่มกระจ่างและให้ความรู้สึกชิดใกล้กับวิถีของการให้ภาพพจน์ในภาษาไทยอย่างยิ่ง เช่น

ถ้าฉันเป็นเธอเขาว่า ฉันจะกลับบ้านไปเงียบ ๆเขาพูดพลางยกไม้ตะบองแตะหน้าอกของอัมมู แตะเบา ๆ แตะ แตะ เหมือนเลือกมะม่วงในเข่ง ชี้ผลที่ต้องการให้จัดห่อและส่งไปให้เขา....
(หน้า 9 ย่อหน้าที่ 2)

ลักษณะของการเสียดสีอย่างจุกจิกนี้จะดำรงอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง ทั้งในการบรรยายโดยทั่ว ๆ ไป และการบรรยายเสริมในวงเล็บที่จะปรากฏขึ้นสั้น ๆ เป็นระยะ โดยจะผ่อนคลายลง หรือกลมกลืนไปกับตัวเรื่องในช่วงท้ายไปจนถึงตอนจบ

อรุณธตี รอย ได้ผสมผสานความขัดแย้งจำนวนมาก ประเด็นทางสังคมใหญ่น้อยถูกรวบรวมเข้ามา ดังคำของ ชูศักดิ์ ภัทรกุวณิชย์ ที่อ้าง จอห์น อัพไดค์  ซึ่งตีพิมพ์ไว้บนปกหลังของหนังสือเล่มนี้ว่า เธอมีความสามารถในการหวดลูกระยะไกลที่ครอบคลุมเรื่องสังคม จักรวาล ได้ดี ขณะเดียวกันก็สามารถเล่นลูกระยะสั้นได้อย่างงดงามซึ่งก็เป็นคำวิจารณ์ที่ให้ความหมายใกล้เคียงกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการอ่านจริง ๆ

ประเด็นหลักของนิยายเรื่อง เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ คือเรื่องของการละเมิดพื้นที่ต้องห้าม และในกระบวนการ ยำใหญ่ของ อรุณธตี รอย ครั้งนี้ เธอได้ขยับขยายพื้นที่ต้องห้ามในสังคมของเธอไปสู่พื้นที่ต้องห้ามในจักรวาลของมนุษย์

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่การเดินทางกลับบ้านอเยเมเน็มของราเฮล หญิงสาวอินเดียที่เพิ่งหย่าขาดจากสามีชาวอเมริกัน พร้อม ๆ กับการเดินทางกลับบ้าน สำนึกเกี่ยวกับเรื่องราวแต่หนหลังค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมาในห้วงนึกของเธอ จากนั้นเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งจะเดินทางไปสู่โศกนาฏกรรมก็ดำเนินไปควบคู่กับการรำลึกของราเฮลระหว่างที่เธอกลับบ้าน

ตัวละครปรากฏขึ้นอย่างสับสนอลหม่านในช่วงแรก จากนั้นเรื่องก็ค่อย ๆ ลงลึกไปยังตัวละครแต่ละตัว เริ่มต้นจากราเฮลและพี่ชายฝาแฝดของเธอ เอสธา, โซฟี โมล ลูกพี่ลูกน้อง, มาร์กาเรต โกจัมมา แม่ของโซฟี, จักโก ลุงของราเฮลและพ่อของโซฟี, เบบี้ โกจัมมา, มัมมาจี, เค. เอ็น. เอ็ม. ปิลไล, สาธุคุณอิเป ฯลฯ จนกระทั่งมาถึง เวลุธา จัณฑาลปาราวัน และ อัมมู แม่ของเธอ ผู้ซึ่งให้กำเนิดสายใยแห่งโศกนาฏกรรมของเรื่องราว

ราเฮลกลับมาเยี่ยมบ้านที่มีเพียง เบบี้ โกจัมมา ยายน้อยของเธอ เอสธา พี่ชายฝาแฝด และ โกจู มาเรีย สาวใช้ อยู่ จากนั้นเรื่องก็ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต โดยมีความตายของ โซฟี โมล เป็นปมปริศนา

อัมมู แม่ของ เอสธา และ ราเฮล พาพวกเขาย้ายกลับมายังบ้านอเยเมเน็มหลังจากหย่าจากสามีที่อัสสัม  บ้านอเยเมเน็มซึ่งสืบทอดจากสาธุคุณอิเป (ปุนยัน กุนจี) ปู่ทวดของราเฮล ตกทอดมายังลูกชายซึ่งเป็นนักกีฏวิทยา (ปัปปาจี) และมาถึงจักโกลูกชายของปัปาจี ซึ่งเป็นพี่ชายอัมมู

เหตุการณ์เริ่มจากจุดที่บ้านอเยเมเน็มได้รับข่าวว่า มาร์กาเร็ต โกจัมมา ภรรยาผู้ซึ่งหย่าขาดจากจักโกไปแล้วจะพา โซฟี โมล มาเยี่ยมจักโกผู้เป็นพ่อ เมื่อมาร์กาเร็ตและโซฟี โมลมาถึง เรื่องราวต่าง ๆ ก็ดำเนินไปจนถึงเหตุการณ์ปริศนาที่เป็นปมของเรื่อง

มีปมหลักของเรื่อง 2 ปม ที่พัวพันกันเป็นจุดหมายให้ผู้อ่านตั้งแต่แรกคือ ความตายของ โซฟี โมล และ ปริศนาต้องห้ามเกี่ยวกับ อัมมู ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์กับ เวลุธา

อรุณธตี รอย ได้เหวี่ยงแหครอบคลุมประเด็นทางสังคมจำนวนมาก ตั้งแต่ ชนชั้นวรรณะ การกดขี่ทางเพศ ความล้มเหลวของสังคมนิยมในอินเดียซึ่งแสดงผ่านตัวละครอย่าง เค. เอ็น. เอ็ม. ปิลไล และ จักโก การเหยียดผิว การกดขี่ของรัฐต่อประชาชน การกดขี่ของครูต่อนักเรียน การกดขี่ระหว่างชาติพันธุ์ การกดขี่ระหว่างวัฒนธรรมต่อวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะถูกต่อต้านด้วยการละเมิดพื้นที่ต้องห้าม (Taboo) ของตัวละครหลัก

พวกเขาทุกคนต่างละเมิดกฎ ทุกคนต่างได้ก้าวเข้าไปในเขตต้องห้าม เหยียบย่ำกฎที่กำหนดว่าจะต้องรักใคร รักอย่างไร และรักได้มากแค่ไหน กฎที่ทำให้ยายคือยาย แม่คือแม่ ลูกพี่ลูกน้องคือลูกพี่ลูกน้อง แยมคือแยม และเยลลี่คือเยลลี่
(หน้า 34)

ดูเหมือนอรุณธตี รอย จะไม่สนใจที่จะอำพรางจุดประสงค์ในการเขียนนิยายเล่มนี้ของเธอแม้แต่น้อย (และยังอำนวยความสะดวกผู้อ่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการทำ ตัวเน้น ตัวเอน หัวข้อ การใช้คำซ้ำ การใช้วงเล็บ)

ด้วยการอำนวยความสะดวกดังกล่าว เมื่อเราจับคู่ความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก ก็จะเห็นว่าเป็นจริงดังประโยคที่ยกมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น ความรักของเบบี้ โกจัมมา ที่มีต่อคุณพ่อมัลลิแกน บาทหลวงคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก การที่จักโกแต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ ความสัมพันธ์ต่างวรรณะของอัมมู จนกระทั่งถึงการละเมิดตาบูสุดท้ายของมนุษย์ในตอนจบ

นอกจากนี้ เรายังสามารถจับคู่การกดขี่อันแสนสับสนอลหม่านของสังคมอินเดีย ตั้งแต่การกดขี่ระหว่างชั้นวรรณะ (คนอินเดียกันเอง) การกดขี่ระหว่างผัวกับเมีย (ผู้ชายกับผู้หญิง) การกดขี่ระหว่างชนชาติ (อังกฤษกับอินเดีย) การกดขี่ตัวเอง (คนอินเดียที่ภูมิใจต่อการเป็นขี้ข้าคนอังกฤษ) โดยกระบวนการกดขี่ทั้งหมดเหล่านั้น ได้มีตัวละครร่วมกระทำการไม่เลือกชนชาติ และไม่เลือกลัทธิการเมือง (ฝ่ายซ้าย) เราจึงได้เห็นภาพการปฏิวัติสังคมนิยมทั้งที่ยังกดขี่ชนชั้นวรรณะและเพศ

หลายสิ่งหลายอย่างในนิยายเรื่อง เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ ทำให้นึกไปถึง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล กาเซีย มาเกซ นักเขียนชาวละตินอเมริกา  โดยความคิดเห็นส่วนตัว ข้าพเจ้าเชื่อว่า อรุณธตี รอย ได้รับอิทธิพลจาก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ มาเกซ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกอันใด เนื่องจาก นิยายเรื่องนี้นับได้ว่าเป็น มหากาพย์ของประเทศโลกที่สาม ของยุคสมัยใหม่อันยิ่งใหญ่ที่ยากยิ่งจะหลบหลีก สำหรับวรรณกรรมที่ต้องการอรรถาธิบายสภาพสังคมของประเทศโลกที่สามหลังการล่าอาณานิคม

อรุณธตี รอย ได้พยายามบอกเล่าเรื่องราวของสังคมอินเดียในยุคหลังอาณานิคม ที่ความเป็นสมัยใหม่ใกล้จะล่มสลาย และมีวัฒนธรรมที่ผสมผสาน (ไปพร้อม ๆ กับกดขี่) ตั้งแต่ ชนชั้นวรรณะ มาร์กซิส (ขบวนการนาซัล) จัณฑาลปาราวัน มนต์รักเพลงสวรรค์ (The Sound of Music) เอลวิส เพรสลี การล่าอาณานิคมทางศาสนา ฮัลก์ โฮแกน สินค้าลดราคา การแสดงกถักฬิ ฯลฯ  พร้อม ๆ กันนั้นก็พยายามตั้งคำถามทั้งจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของวังวนแห่งการกดขี่ คล้ายกับการทวนถามว่า หากการกดขี่คือวัฒนธรรม และการต่อต้านทำลายการกดขี่ลงคือสิ่งเดียวกับการละเมิดพื้นที่ต้องห้าม และเมื่อพื้นที่ต้องห้ามถูกละเมิดวัฒนธรรมและมนุษย์ย่อมล่มสลาย ถ้าเป็นเช่นนั้น อะไรจะถูกเลือก ระหว่างการกดขี่และความล่มสลาย





เหมือนแต่ไม่เหมือน
หากจับคู่ความสัมพันธ์ของตัวละครหกตัว คือ จักโก กับ มาร์กาเร็ต, อัมมู กับ เวลุธา, เบบี้ โกจัมมา กับ คุณพ่อมัลลิแกน ขึ้นมาเปรียบเทียบ  ก็จะเห็นตั้งความพ้องและความต่างระหว่างความสัมพันธ์ตัวละครทั้งสามคู่

ประการแรก ความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสามคู่ ล้วนแต่เป็นความสัมพันธ์ที่ ต้องห้าม

ประการที่สอง ความสัมพันธ์ต้องห้ามในกรณีของ จักโก กับ มาร์กาเร็ต ให้ผลที่แตกต่างกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง อัมมู กับ เวลุธา และ เบบี้ โกจัมมา กับ คุณพ่อมัลลิแกน อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

กล่าวคือ แม้ว่าการแต่งงานกับหญิงชาวต่างชาติของจักโกจะเป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมประเพณี แต่ผลลัพธ์ของการแต่งงาน (โซฟี โมล) กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลและชวนปรารถนา ขณะเดียวกัน การผิดธรรมเนียมในกรณีของ อัมมู กลับให้ผลร้ายแรง และลงเอยด้วยความสยดสยอง  และหากใช้กรณีของ เบบี้ ในการเปรียบเทียบกับกรณีของ จักโก และ อัมมูแล้ว  กรณีของ เบบี้ โกจัมมา ก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนของ ตัวเลือกที่สองของอัมมู หากเธอเลือกที่จะไม่ละเมิดพื้นที่ต้องห้าม ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของจักโก ก็จะเห็นภาพเปรียบที่ชัดเจนว่า หาก จักโก เป็นผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชายผลลัพธ์จากการละเมิดย่อมแตกต่างออกไป

ปมของความสัมพันธ์ร่วมสายเลือด การ insane ที่แตกต่าง
Insane Taboo หรือ ความรู้สึกต้องห้ามของความสัมพันธ์ร่วมสายเลือดที่ถูกใช้ในการขยับขยายความรุนแรงของการละเมิดพื้นที่ต้องห้ามในสังคมอินเดีย ในตอนจบของ นิยาย เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ  เป็นการใช้สำนึกอันโบราณเก่าแก่ของมนุษย์เช่นเดียวกับ การ insane ของตัวละครในตอนจบของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว  เป็นการใช้สำนึกเดียวกันในตำแหน่งแห่งที่เดียวกันโดยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน และได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างยิ่ง

การ insane ในตอนจบของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว นั้น ให้ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว และใช้เป็นจุดจบของชะตากรรมที่สืบสายสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นทั้งการตอกย้ำและยั่วล้อสภาวะของการ ถูกสาป  ส่วนการ insane ในตอนจบของ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ ได้ถูกวางคู่ไว้กับ ความสัมพันธ์ต่างชั้นวรรณะ ประหนึ่งเป็นสิ่งเดียวกัน เพื่อท้าทายสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมของมนุษย์

พิมพ์ครั้งแรกวารสารหนังสือใต้ดิน

Comments