กะลาของวินทร์ เลียววาริณ
ในบทความ “กล่องใส่ภูเขา ต้นมะพร้าว ทะเล เรือ
หาดทราย” วินทร์
เลียววาริณอ้างนิทานเรื่อง Gordian Knot มาบอกให้คิดนอกกล่องเรื่อง “การเลือกตั้ง”
วินทร์เริ่มต้นด้วยการเอ่ยถึง “การคิดนอกกล่อง” และอ้างถึงการยึดติดกับองค์ประกอบเดิม
และยึดติดกับวิธีคิดแบบระนาบเดียว เสร็จแล้วก็วกกลับมาพูดถึง “ปัญหาทางตัน” ของการเมือง
บอกว่านักวิชาการที่อ้างกฎหมาย อ้างรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นพวกที่มีกล่องครอบหัว
แล้วก็ยกตัวอย่างไปเรื่อย จนมาถึงนิทานเรื่อง Gordian Knot เอามาเปรียบว่าคนที่ไม่รู้จักคิดนอกกล่องนั่นเป็นพวกที่ยึดกับกติกาจนกลายเป็นเงื่อนผูกคอตัวเอง
แล้วบอกว่าถ้าอยากได้อะไรใหม่ต้องกล้าแหกคอก
เสร็จแล้ววินทร์ก็อ้างวิทยาศาสตร์ อ้าง อาร์เธอ
ซี. คลาร์ก อ้างไอแซค นิวตัน อ้างไอน์สไตน์ เพื่อบอกว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ
โดยใช้วิธีคิดเดิม ๆ ได้
วินทร์ยกตัวอย่างวงการโฆษณาและพูดอะไรอีกยืดยาวเพื่อบอกว่า
“วิธีคิดจึงควรมองไปที่เป้าหมาย
ไม่ใช่โจทย์”
แล้ววินทร์ก็ตั้งคำถามว่าการบอกว่า “การเลือกตั้งเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหา” เป็นการสรุปไปก่อนหรือไม่
เป็น “โจทย์ผิด” หรือไม่
ก่อนจะสรุปว่า “เมื่อถอดกล่องที่ครอบหัวออก
เราจะพบว่า ทุกๆ กติกาในโลก ทุกๆ กฎในโลก ทุกๆ รัฐธรรมนูญในโลกเขียนโดยคน
และอะไรที่เขียนโดยคน ลบได้เสมอ ประวัติศาสตร์ยืนยันกับเราเช่นนั้น”
ผมเห็นว่ามี “กะลา” (ความโง่ ความไม่รู้ ความเข้าใจที่ผิด
และการยึดติดกับวิธีคิดเดิมๆ) อย่างน้อย 4 ใบ ที่ครอบหัวของวินทร์อยู่
กะลาใบแรก
วินทร์บอกว่าการเมืองไทยเกิด “ปัญหาทางตัน” และอ้างนิทานเรื่อง
Gordian Knot มาบอกให้ “คิดนอกกล่อง” เพื่อแก้ปัญหาทางตัน
(อย่ายึดติดกับการเลือกตั้ง ประมาณนั้น)
กะลา (ความโง่) ใบนี้ของวินทร์ก็คือ นิทานเรื่อง
Gordian Knot เป็นนิทานโบราณตั้งแต่ในสมัยที่ยังไม่มีวิทยาศาสตร์
การตีความเรื่องนี้จึงมีการตีความ “เงื่อน” หรือ The knot ว่าเป็น
ความเชื่อ หรือศาสนา หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า หมายความว่า The knot ที่เป็น “ทางตัน” นั้น
ไม่ใช่เรื่องของเหตุผลหรือวิทยาศาสตร์หรือประชาธิปไตย แต่เป็น “ความเชื่อศาสนา” ที่ถูกปกป้องโดย
“นักบวช”
แต่ กฎหมาย, รัฐธรรมนูญ
ที่เป็นกติกาในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ตั้งอยู่บน “ความเชื่อศาสนา” แต่ตั้งอยู่บน “หลักการ” ที่ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติโดยกฎหมายอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน
ซึ่งหลักการนี้คือ “หลักประกัน” ของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญนั้น “แก้ได้” และ “ลบได้” แต่ต้องแก้โดยความเห็นชอบของคนทั้งประเทศ
ไม่ใช่พวกเดียวฝ่ายเดียว
อีกทั้งการเมืองปัจจุบันที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่ “ทางตัน” หากแต่เป็น “ความดึงดัน” ที่จะไม่ยอมรับ
“หลักการ” ซึ่งเป็น “หลักประกัน” ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความเสมอภาค
ดังนั้นการ “เลือกตั้ง” จึงต้องเป็นทางออก
เพราะเป็นไปตามหลักการของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว
และมีความชอบธรรมที่สุดเพราะเป็นการแสดงออกของคนส่วนใหญ่จริง ๆ
กะลา (ความไม่รู้) ใบที่สอง
วินทร์อ้างคำพูดของไอน์สไตน์เพื่อมาบอกว่า อย่า “ยึด” กับวิธีคิดเดิมๆ
ทั้งที่ไอน์สไตน์เคยพูดว่า
I
am an adherent of the ideal of democracy, although I well know the weaknesses
of the democratic form of government. Social equality and economic protection
of the individual appeared to me always as the important communal aims of the
state. Although I am a typical loner in daily life, my consciousness of
belonging to the invisible community of those who strive for truth, beauty, and
justice has preserved me from feeling isolated.
-
Albert Einstein, The World As I See It (1949)
ซึ่งแปลได้ว่า
ผมคือคนที่ “ยึด” กับความคิดประชาธิปไตย
ถึงแม้ผมจะรู้ว่ารูปแบบของรัฐบาลประชาธิปไตยมีความอ่อนแอ
ความเท่าเทียมทางสังคมและการปกป้องเศรษฐกิจของปัจเจกเป็นสิ่งที่ผมคำนึงถึงเช่นเดียวกับความสำคัญของจุดหมายในการอยู่ร่วมกันของรัฐ
แม้ว่าผมจะเป็นคนที่มีชีวิตประจำวันอันเงียบเหงา แต่สำนึกของผมที่เป็นของชุมชนซึ่งไม่อาจจับต้อง
ของผู้ที่ต่อสู้เพื่อความจริง, ความงาม และความยุติธรรม
ก็ป้องกันผมไว้จากความรู้สึกโดดเดี่ยว
วินทร์ไม่รู้ว่าแม้แต่ไอน์สไตน์ที่วินทร์อ้างคำพูดมาบอกว่า
“อย่ายึดกับวิธีคิดเดิมๆ” ก็ยังบอกว่า
เขา “ยึด” กับความคิดประชาธิปไตย
ซึ่งต้องมี “ความเท่าเทียม”
กะลาใบที่สาม (ความเข้าใจที่ผิด)
วินทร์ยกตัวอย่างวิทยาศาสตร์ วงการโฆษณา
อะไรต่อมิอะไรอีกยืดยาว เพื่อกล่าวว่า “วิธีคิดจึงควรมองไปที่เป้าหมาย
ไม่ใช่โจทย์”
วินทร์ไม่เข้าใจว่า “การเลือกตั้ง” ไม่ใช่โจทย์
แต่เป็น “กระบวนการ” (process) และสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือ
“กระบวนการที่ถูกต้อง” (due process)
วินทร์ไม่เข้าใจว่า การ “ยึดอำนาจ” ไปปฏิรูปของคนฝ่ายเดียว
ไม่ใช่การแก้ปัญหาทางตัน แต่เป็นการละเมิด due process และทำลายหลักความเสมอภาคของระบอบประชาธิปไตย
ด้วยวิธีการที่ผิด due process แบบนี้
ไม่มีทางที่จะเกิดผลลัพธ์เป็นระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะประชาธิปไตยนั้นเป็นทั้ง “กระบวนการ” และเป็นทั้ง “วัฒนธรรม”
ไม่ใช่เป็นผลลัพธ์ (conclusion) แต่เพียงอย่างเดียว
ดังนั้น วินทร์จึงไม่เข้าใจว่า
ที่อ้างว่าจะปฏิรูปเพื่อให้เกิด “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” นั้น
เพ้อเจ้อและเป็นไปไม่ได้ เพราะผิด due process ตั้งแต่แรก
กะลาใบที่สี่ (การยึดติดกับวิธีคิดเดิมๆ)
วินทร์สาธยายยืดยาว อ้างโน่นอ้างนี่
รวมทั้งอ้างตัวเองด้วยว่า “คิดนอกกล่อง” มาตั้งแต่ทำงานโฆษณา
และเริ่มเขียนหนังสือ “แนวทดลอง” จนกระทั่งปัจจุบันเมื่อเขียนบทความชิ้นนี้ในเรื่องการเมือง
ก็ยัง “คิดเหมือนเดิมอยู่” คือเสนอให้ “คิดนอกกล่อง”
คนที่เอาแต่ “ยึด” กับวิธีคิดเดิมๆ
แท้จริงแล้วก็คือวินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเอาแต่ “ยึดติด” อยู่กับ “วิธีคิดนอกกล่อง” ในทุกเรื่องทุกประเด็น
โดยไม่รู้จักวิธีคิดแบบอื่น ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรคิดนอกกล่อง เมื่อไรควรคิด “ในกล่อง ในลู่
ในทาง” เพราะไม่รู้จักแยกแยะว่า
อะไรเป็นเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์” อะไรเป็นเรื่อง
“หลักการความถูกต้อง”
พอมาคิดเรื่องการเมือง เรื่องกฎหมาย
เรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของคนทุกคน เกี่ยวพันกับสิทธิ
เสรีภาพ ความเสมอภาคของคนอื่นในประเทศ ก็ “คิดไม่เป็น” ได้แต่อ้างข้าง
ๆ คู ๆ เพื่อจะ “คิดนอกกล่องแบบเดิมๆ” ตามวิธีคิดที่ตัวเองเคยชิน
โดยมองไม่เห็นว่า “วิธีคิดในเชิงหลักการ” ที่ถูกต้องและเป็นธรรมนั้น
ต้องคิดอย่างไร
กะลาสุดท้าย (แถม)
วินทร์
เลียววาริณเป็นนักเขียนที่ทำเป็นคิดนอกกล่องเท่ๆ
โดยนึกว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา หารู้ไม่ว่า
แท้จริงแล้วการคิดนอกกล่องของตัวเองนั้น เป็นแค่ความเท่ในกะลา คือมองไม่เห็น “วิธีคิด” หรือ “ความเชื่อ” จริง ๆ
ที่ครอบงำตัวเองและสังคมไทยอยู่ เราจึงได้เห็นแต่การคิดนอกกล่องแบบดัดจริต ๆ
ของวินทร์ในทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่วินทร์ไม่เคยคิดนอกกล่อง
ไม่เคยคิดในระนาบอื่นไหน ไม่เคย “กล้าแหกคอก” ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
24-12-13
Comments
Post a Comment