ยาขอบกับครอบครัว






เรื่องสั้น ยาขอบกับครอบครัว เป็นผลงานเล่มใหม่ของนักเขียนหนุ่มกิตติพล สรัคคานนท์ เรื่องสั้นเรื่องนี้แม้ไม่ได้สั้นมาก แต่ก็มีขนาดไม่ยาวนัก อ่านจบได้สบาย ๆ ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง สำหรับคนที่อ่านเร็วครึ่งชั่วโมงก็จบ แต่หากอ่านอย่างละเลียดสักสองชั่วโมงก็ได้รสชาติกำลังดี โดยรูปลักษณ์ภายนอกหนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้ดูไม่บางนัก แต่ความหนาที่ปรากฏก็ดูจะเป็นเรื่องของการจัดรูปเล่มและการประดับประดา มากกว่าสิ่งอื่นใด รวมถึงนิยามของคำต่าง ๆ ที่สอดคั่นอยู่ระหว่างจดหมาย ซึ่งการดำรงอยู่ของมันไม่ได้ตอบสนองเนื้อหาเรื่องราวมากไปกว่ารูปเล่ม

เรื่องราวดำเนินผ่านจดหมายของตัวละคร พ่อ แม่ ปรียา มิตร กิตติ พี่สาว สัตถา  ตัวละครทั้งเจ็ดต่างรุมเวียนกันเขียนจดหมายถึงตัวละครหลักคือยาขอบซึ่งเป็นตัวละครที่ ไม่มีอะไร” (สำหรับตัวเรื่อง)

เหตุที่ยาขอบ ไม่มีอะไรก็เพราะหน้าที่หลักของตัวละครนี้คือความเงียบและการไม่ปรากฏตัว (หรือการไม่สำแดงความดำรงอยู่) แต่คุณลักษณะนี้ก็ไม่ได้หมายถึง การไม่ดำรงอยู่เพราะตัวละครทุกตัวต่างเวียนกันมายืนยันการดำรงอยู่ของยาขอบ ดังนั้น เมื่อ ความไม่มีอะไรไม่ใช่ การไม่ดำรงอยู่การดำรงอยู่ด้วยการสำแดงความไม่ดำรงอยู่ของยาขอบจึงนำไปสู่ ความไม่มีอะไรที่น่าจะมีอะไร

สิ่งที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องสั้นทั้งที่สื่อออกมาโดยโครงเรื่องและวางอยู่ระหว่างเรื่องก็คือ สิ่งที่อธิบายไม่ได้หรือจะเรียกว่า ผีก็ได้

ผีในความหมายทั่วไปอันหนึ่งก็คือคนตาย แต่ไม่ใช่คนตายทุกคนจะกลายเป็นผี คนเมื่อตายแล้วไปไหนไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ก็คือคนตายก็หมายถึงไม่อยู่ ไม่มีอยู่แล้ว ไปแล้ว แต่ผีคือคนตายที่ยังอยู่ ไม่ยอมไป ดังนั้นหากจะพูดให้เวียนหัวก็สามารถกล่าวได้ว่า ผีคือสิ่งไม่ดำรงอยู่ที่ยังดำรงอยู่หรือพูดให้เวียนหัวน้อยลงว่า ผีคือสิ่งที่ไม่ควรจะอยู่แล้วแต่ยังดำรงอยู่

หากเราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่ออธิบายแล้ว สิ่งที่อธิบายไม่ได้นั้นแท้จริงก็คือความปรกติของชีวิต และหากคิดแบบไม่วกวนกับภาษาแล้ว สิ่งที่อธิบายไม่ได้ทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่ ดำรงอยู่มาก่อนมนุษย์ และอันที่จริงมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เดือดร้อนกับสิ่งที่อธิบายไม่ได้เหล่านี้นัก มีเพียงคนจำพวกเดียวเท่านั้นที่ทุกข์ทรมานกับการอธิบายไม่ได้อย่างแท้จริงก็คือ ปัญญาชน

ในหมู่ปัญญาชนที่เป็นทุกข์กับการอธิบายไม่ได้ที่เด่น ๆ ก็เห็นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์กับนักปรัชญา ซึ่งก็ทุกข์กันไปคนละแบบเพราะอยู่กันคนละโลก และเผชิญกับ สิ่งที่อธิบายไม่ได้ในคนละสภาพแวดล้อม แม้ว่าสิ่งที่อธิบายไม่ได้นั้นอาจจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นทุกข์กับ สมการขณะนักปรัชญานั้นเป็นทุกข์กับ ภาษา

ตัวละครยาขอบเป็นนักปรัชญา ประเด็นของเรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของคนที่เป็นทุกข์เพราะ เผชิญกับสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยภาษาเพราะคนจำพวกนี้เป็นหมู่ชนที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกด้วยการอธิบายผ่านภาษา แม้แต่ในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ภาษาไม่สามารถรับมือได้ก็ยังคงดึงดันจะพยายามอธิบายด้วยภาษาให้ได้ เมื่ออธิบายไม่ได้ก็พากันเป็นทุกข์ไปตาม ๆ กันไม่เว้นแม้แต่ผู้เขียนซึ่งก็ได้ร่วมสำแดงความทุกข์ของเขาทั้งโดยตรงและผ่านการอ้างตัวบททั้งโดยโครงเรื่อง ระหว่างเรื่อง และนามานุกรมชื่อหล่นท้ายเรื่อง จึงน่าจะเป็นการนำเสนอและท้าทายผู้อ่านโดยความจงใจของผู้เขียนให้ ความไม่มีอะไรที่น่าจะมีอะไรกลับกลายเป็น ความไม่มีอะไรที่นำไปสู่ความไม่มีอะไรอันทุกข์ทน

อันที่จริง ประเด็นการเผชิญสิ่งที่อธิบายไม่ได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวรรณกรรมไทย แต่เรื่องสั้นของกิตติพลก็กล่าวได้ว่าเป็นประเด็นเดิมในลีลาใหม่ร่วมสมัย ลักษณะของตัวเรื่องร่วมสมัยแบบนี้คือ แทนที่จะเข้าหา หรือเผชิญหน้ากับตัวประเด็น (ประสบการณ์) ตรง ๆ ก็เข้าหาผ่านตัวบท (ภาษา) เสียด้วยการอัญเชิญเทพเทวาในอดีตมาประชุมกันในพิธีกรรมทางภาษา (ในแง่นี้ทำให้เห็นว่านักปรัชญาหรือปัญญาชนไม่มีความแตกต่างจากนักทรงเจ้าเข้าผี)

แม้ภาษาในเรื่องสั้นอาจจะทำให้ใครนึกถึงภาษาเก่าอยู่บ้าง แต่มันก็คือภาษาเขียนร่วมสมัยปัจจุบันนั่นเอง กลิ่นเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นกลิ่นที่ปรุงขึ้นใหม่ คนอ่านผิวเผินก็อาจประหวัดคิดไปถึงภาษาเก่าได้ เหมือนโฟล์คเต่ารุ่นใหม่นำรูปทรงรุ่นเก่าคลาสสิกมาใช้ แต่มองให้ดีแล้วนี้คือภาษาไทยร่วมสมัยที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคำ วรรคตอน หรือรูปประโยค เพียงแต่มีการผสมผสานและคัดสรรคำขึ้นตามประสบการณ์การอ่านและรสนิยมของผู้เขียน

เรื่องสั้นเรื่องนี้อ่านสนุก แต่มันไม่ใช่เรื่องตลกชวนหัว หรือเรื่องพิลึกพิลั่นโศกเศร้าเคล้าหรรษาอย่างแน่นอน (ตรงกันข้าม การอ่านด้วยท่าทีที่พยายามจะทำให้เป็นเรื่องตลกกลับเป็นสิ่งน่าขันและเก้อเขินเพราะพยายามกลบเกลื่อนประเด็นที่จริงจังที่สุดของเรื่อง) ความสนุกของเรื่องนี้อยู่ที่การไขปริศนาของเกมอันทุกข์ทนที่ผู้เขียนชวนผู้อ่านเล่น (อย่างจริงจัง) และอารมณ์ขันลึก ๆ ที่ต้องรับผ่านการรู้ก่อนจะปล่อยเสียงหึออกมา


พิมพ์ครั้งแรก IMAGE

Comments