ชายชราและทะเล ฉบับสองภาษา ปกแข็ง และสมุดโน้ต








The Nobel Prize in Literature 1954 was awarded to Ernest Miller Hemingway "for his mastery of the art of narrative, most recently demonstrated in The Old Man and the Sea, and for the influence that he has exerted on contemporary style."



สมุดโน้ต ชายชราและทะเล
ขนาดรูปเล่ม 116x185x18 มม.
เนื้อใน กระดาษถนอมสายตา 
ปกแข็ง ปั๊มฟรอยดำ
จำนวนหน้า 204 หน้า
ราคา 179 บาท



หนังสือ ชายชราและทะเล 
ฉบับ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ
ผู้เขียน เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
ผู้แปล วาด รวี
สำนักพิมพ์ Shine Publishing House
เวลาพิมพ์ ธันวาคม 2018
ISBN 9786167939117
ขนาดรูปเล่ม 116x185x18 มม.
เนื้อใน กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ
ปกแข็ง ปั๊มฟรอยดำ หุ้มแจ็กเก็ต พิมพ์สี่สี
จำนวนหน้า 204 หน้า
ราคาปก 230 บาท


โปรยปกหลัง

“ปลา” ชายชราพูด
“ปลา ยังไงแกก็ต้องตาย
แกจะให้ข้าตายด้วยหรือ”


โปรยแจ๊กเก็ต

เฮมิงเวย์เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก เลื่องลือในแง่สำนวนการเขียนภาษาอังกฤษที่กระชับหากคมคาย และวิธีเล่าเรื่องด้วยบทสนทนาและการบรรยายภาพอย่างสมจริง และ "น้อย แต่ได้มาก” โดยเฉพาะในงานประพันธ์เรื่องสั้น ด้วยวิธีเลือกเล่าเฉพาะฉากและสถานการณ์ราวเผยให้ผู้อ่านเห็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง”

Hemingway won the Nobel Prize in Literature “for his powerful, style-forming mastery of the art of narration.” One of the most important influences on the development of the short story and novel in American fiction, Hemingway has sized the imagination of the American public like no other twentieth-century author.


สารบาญ                

ชายชราและทะเล  07
The Old Man and the Sea  91
หมายเหตุผู้แปล 185
เกี่ยวกับผู้เขียน 189
About the Author  191
บรรณานุกรมสัตว์และสิ่งต่าง ๆ 193


หมายเหตุผู้แปล

ชายชราและทะเล มีชื่อตามต้นฉบับว่า The Old Man and the Sea เป็นผลงานของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ในวัย 52 ปี ซึ่งเขียนขึ้นในขณะที่เขาพำนักอยู่ที่คิวบาในปี ค.ศ. 1951  วรรณกรรมชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในทันทีที่พิมพ์เผยแพร่ (ปี ค.ศ.1952) ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี ค.ศ.1953 และเป็นผลงานสำคัญที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลนำมาพิจารณาเพื่อมอบรางวัลให้กับเฮมิงเวย์ในปี ค.ศ.1954

The Old Man and the Sea จัดได้ว่าเป็นผลงานสำคัญในช่วงหลังของชีวิตการเขียนหนังสือของเฮมิงเวย์ ในขณะที่บางคนกล่าวว่าเป็นผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของเขา หนังสือเล่มนี้ขายไปมากกว่า 50,000 เล่มในการพิมพ์ครั้งแรก และได้รับการพิมพ์ซํ้าอีกนับครั้งไม่ถ้วนในหลายเอดิชั่น ทั้งวรรณกรรมตัวหนังสือ มีภาพประกอบ หรือวรรณกรรมประกอบภาพ เป็นหนังสือเรียนในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ผู้แปลเองก็เคยเรียนวรรณกรรมเล่มนี้ในชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ จึงกล่าวได้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมาก ไม่เพียงต่อวงวรรณกรรม นักเขียน นักอ่าน แต่กล่าวได้ว่ามีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์ ไม่มากก็น้อย

ความเป็นมนุษย์คือทั้งคำถามและคำตอบที่อัดแน่นอยู่ในทุกบรรทัดและระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ เฮมิงเวย์ทำทุกอย่างให้สั้นและกระชับ แต่แน่นไปด้วยความหมายที่สามารถระเบิดออกเป็นจักรวาลหากผู้อ่านทะลวงผ่านเข้าไปได้ ในวันเวลาซึ่งสิ่งที่เรียกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังเป็นการเมืองน้อยกว่านี้ และมีความหมายที่แน่นอนน้อยกว่าทุกวันนี้ เฮมิงเวย์ได้เสนอภาพที่ส่องสะท้อนประกายอันแหลมคม เป็นผลึกที่วับวาวของโลกวรรณกรรม ทำให้สิ่งที่อธิบายได้ยากแสดงรูปร่างหน้าตาของมันออกมาอย่างหมดจด

แน่นอนว่าวรรณกรรมเล่มนี้ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับความเป็นมนุษย์ หลายมิติได้เดินทาง และผ่านความซับซ้อนยิ่งกว่า กว่าจะมาถึงปัจจุบัน แต่วรรณกรรมเล่มนี้ก็สามารถเตือนให้เราระลึกถึงอะไรบางอย่างขึ้นมาได้เสมอ ในวันที่การต่อสู้ระหว่างคนกับปลาเช่นที่เกิดในวรรณกรรมอาจกลายเป็นเพียงสิ่งที่มีอยู่แต่ในนิยายตลอดกาล

The Old Man and the Sea เป็นนวนิยายขนาดสั้น หรือเรียกว่าเรื่องสั้นขนาดยาว เป็นสิ่งเดียวกัน คือวรรณกรรมที่ไม่มีเรื่องย่อย หากทุกสิ่งมุ่งไปสู่แก่นเรื่องเดียว แต่มีขนาดที่ยาวกว่าเรื่องสั้นโดยปรกติทั่วไป และการอ่านชวนให้ต้องตีความอย่างละเอียด วิธีการอ่านวรรณกรรมแบบนี้จึงคล้ายเรื่องสั้นมากกว่านิยายโดยทั่วไปที่มักมีเรื่องย่อยซอยลงไปอีกเรื่อง หรือหลายเรื่อง การวางโครงเรื่องและการดำเนินเรื่องอาจจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเขียนให้ตีความ

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์เป็นนักเขียนอเมริกันที่นักอ่านชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี มีผู้แปลผลงานของเขาเป็นภาษาไทยอยู่หลายเล่ม แม้จะไม่นับว่ามากเมื่อเทียบกับผลงานที่เขาผลิตขึ้น เฮมิงเวย์เป็นนักเขียนที่มีสีสัน และให้ความสำคัญกับความเป็นนักเขียนของตน เขาเป็นนักข่าว นักผจญภัย และเชื่อในการหาประสบการณ์จริงเพื่อจะเขียนหนังสือ และแน่นอนว่าเขาเป็นนักตกปลา มีคู่หูที่ออกไปตกปลาด้วยกันเสมอชื่อ เกรโกริโอ ฟูเอ็นเตส (Gregorio Fuentes) ซึ่งเชื่อกันว่าเฮมิงเวย์สร้างตัวละครชายชราขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากคนคนนี้ ฟูเอ็นเตสเกิดที่หมู่เกาะคานารี เป็นชาวสเปนที่อพยพไปแสวงโชคที่คิวบาและไม่สามารถกลับไปได้เพราะความจน แต่ก็เชื่อกันอีกว่าเฮมิงเวย์ผสมผสานซันติอาโกขึ้นจากคนหลายคนมากกว่า อีกคนที่ได้รับการกล่าวถึงก็คือ คาร์ลอส กูเตียเรซ (Carlos Gutiérrez) ซึ่งเป็นคู่หูตกปลาคนแรกของเฮมิงเวย์  กูเตียเรซตกปลาในกระแสนํ้าอุ่นมา 40 ปีแล้วตอนที่เฮมิงเวย์ได้พบเขา และเขาเป็นคนสอนวิธีตกปลามาร์ลินให้กับเฮมิงเวย์ และยังเล่านิทานคิวบาจำนวนมากให้ฟัง ซึ่งต่อมาเขาได้ใช้เขียน On the Blue Water: A Gulf Stream Letter ชุดเรื่องสั้นซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกทางนิตยสารในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1920-1936  เฮมิงเวย์จัดเป็นนักเขียนที่ผู้คนสนใจตัวเขาไม่น้อยไปกว่างานเขียน ชีวิตของเขาแทบไม่เคยมีช่วงที่ราบเรียบ และมีเรื่องตื่นเต้นจนกระทั่งช่วงท้ายของชีวิต เขาฆ่าตัวตายในปี ค.ศ. 1961 ในวัย 62 ปี

“คนอาจถูกทำลายได้ แต่ไม่อาจพ่ายแพ้” กลายเป็นคำคมที่คนทั้งโลกรู้จักจากหนังสือเล่มนี้ ความหมายนี้จริง ๆ แล้วเป็นเช่นใด และทำไมคนจึงประทับใจจนนำมาพูดต่อ ๆ กันจนกลายเป็นคำคม ผู้อ่านจะหาคำตอบได้ในหนังสือเล่มนี้

สุดท้าย มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขอบคุณเวียง-วชิระ บัวสนธ์ ผู้อ่านต้นฉบับแปลครั้งแรก และบอกให้ทราบถึงความเข้าใจผิดของผมเกี่ยวกับชนิดของปลา ขอบคุณปราบดา หยุ่น บรรณาธิการที่ทำงานอย่างละเอียดและเอาใจใส่ และช่วยชี้ให้เห็นส่วนที่แปลผิดพลาด ช่วยแก้ไข และเสนอทางเลือก

ผมได้ทำหมายเหตุไว้จำนวนหนึ่งสำหรับข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้น แม้จะไม่ลงรายละเอียดนัก แต่ก็ให้ข้อมูลที่ผู้อ่านสามารถค้นหาต่อได้ไม่ยาก

วาด รวี
กรกฎาคม 2557


เกี่ยวกับผู้เขียน

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
(Ernest Hemingway, 1899-1961)

นักเขียนชาวอเมริกัน เฮมิงเวย์เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก เลื่องลือในแง่สำนวนการเขียนภาษาอังกฤษที่กระชับหากคมคาย และวิธีเล่าเรื่องด้วยบทสนทนาและการบรรยายภาพอย่างสมจริง และ “น้อยแต่ได้มาก” โดยเฉพาะในงานประพันธ์เรื่องสั้น ด้วยวิธีเลือกเล่าเฉพาะฉากและสถานการณ์ราวเผยให้คนอ่านเห็นเพียง “ยอดภูเขานํ้าแข็ง”

นอกจากงานเขียนที่หลากหลาย ชีวิตของเฮมิงเวย์ยังโชกโชนและเป็นพยานในเหตุการณ์สำคัญของโลกหลายครั้ง ในวัยหนุ่มเขาเริ่มเขียนหนังสือขณะอาศัยอยู่ในกรุงปารีสท่ามกลางกลุ่มศิลปินและนักเขียนสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมของศตวรรษที่ 20  เขาเดินทางไปทำข่าวเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War) ในปี 1937 และมีส่วนร่วมในสนามรบแถบยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีบ้านบนเกาะคิวบาและเป็นมิตรกับฟิเดล คาสโตร ก่อนจะย้ายออกไปจากคิวบาในช่วงท้ายของชีวิต แม้ว่ารายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับบทบาทของเฮมิงเวย์ในหลายเหตุการณ์ยังเป็นข้อถกเถียงในแง่ข้อเท็จจริง ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าเขาเป็นนักเขียนที่มากด้วยสีสันและประสบการณ์ ยังไม่นับความชื่นชอบในการใช้ชีวิตกลางแจ้ง การล่าสัตว์ และออกเรือตกปลา ซึ่งได้ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนจำนวนมาก รวมทั้ง The Old Man and the Sea (1952) นวนิยายขนาดสั้นและผลงานเขียนเล่มสุดท้ายที่พิมพ์ออกมาก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายในปี 1961

เฮมิงเวย์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (Nobel Prize in Literature) ในปี 1954 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาอยู่ในระหว่างการพักฟื้นร่างกายจากความบอบชํ้าในอุบัติเหตุเครื่องบินตกถึงสองครั้ง ระหว่างเดินทางในแอฟริกา เขาจึงไม่ไปรับรางวัล แต่ส่งบทปราศรัยไปแทน หลายคนเชื่อว่าความบกพร่องทางกายภาพและทางจิตใจที่ไม่หายขาด เป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้เฮมิงเวย์ดับชีวิตตนเองในที่สุด

ผลงานสำคัญ ๆ ของเฮมิงเวย์ อาทิ นวนิยาย The Sun Also Rises (1926), A Farewell to Arms (1929), For Whom the Bell Tolls (1940) และหนังสือรวมเรื่องสั้น รวมทั้งบันทึกชีวิตช่วงอยู่ในกรุงปารีส A Moveable Feast (พิมพ์ปี 1964 หลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว) ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านและนักเขียน เป็นหนังสือในหลักสูตรการศึกษาทั่วโลก พิมพ์อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

The Old Man and the Sea เป็นผลงานที่หลายคนเชื่อว่ามีผลในการตัดสินใจของคณะกรรมการโนเบลในการมอบรางวัลให้เฮมิงเวย์

Comments