แม่ไฮของชนชั้นกลาง กับภาระที่หลอกลวง



เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ชัยชนะของแม่ใหญ่ไฮดังสนั่น เมื่อได้ที่ดินใต้เขื่อนคืนหลังจากการต่อสู้อันยาวนานถึง 27 ปี แต่ชัยชนะนี้กลับกลายเป็นกรณีที่เหล่าปัญญาชนตั้งข้อสงสัยมากกว่าจะแสดงความยินดี

อันที่จริงการตั้งข้อสงสัยต่อสังคมไทยในกรณีของแม่ไฮนั้น เป็นหน้าที่พึงปฏิบัติของปัญญาชนอย่างแน่นอน ท่ามกลางกระแสการสนับสนุนล้นหลาม ซึ่งก็รวมถึงชนชั้นกลาง สื่อมวลชนและรัฐบาล ปัญหาที่รอคอยการแก้ไขมานับสิบปีก็สาบสูญไปในเวลาชั่วข้ามคืน แต่ประเด็นที่หลายคนรวมถึงอาจารย์นิธิตั้งข้อสงสัยก็คือ ในตอนที่แม่ไฮมาเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจน ทำไมจึงไม่เห็นมีใครสนใจใยดี ทั้งสื่อ ชนชั้นกลางในเมือง และรัฐบาล นอกจากไม่เคยมีฝ่ายใดเหลียวแลอย่างจริงจังแล้ว บางฝ่ายยังมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์เสียด้วยซ้ำ

"...กว่าสิบปีที่ผ่านมา ปัญหาของสมัชชาคนจนไม่เคยได้รับความสนใจ...สังคมเมืองของไทยก็ไม่เคยสนใจด้วยเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่สมัชชาคนจนพยายามนำเอาปัญหาเหล่านั้นมาตีแผ่ให้คนในเมืองได้เห็น ด้วยวิธีการต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้...

"แล้วจู่ ๆ วันนี้ คนในเมืองก็พากันเห็นใจและเห็นความไม่ชอบธรรมที่โครงการของรัฐกระทำแก่แม่ใหญ่ไฮกันอย่างพร้อมเพรียง..."

นิธิ เอียวศรีวงศ์เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 ก.ค. ที่ผ่านมา และต่อจากข้อสงสัยนี้ นิธิได้ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจเอาไว้ ดูเหมือนฝ่ายที่อาจารย์นิธิกังขาที่สุดจะเป็นคนชั้นกลางในเมือง        "เพราะทีวีเป็นสื่อเดียวที่เข้าถึงคนชั้นกลางในเมือง...โดยประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่านักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์

"การที่ทีวีเป็นสื่อเพียงอย่างเดียวที่คนชั้นกลางเข้าถึงนี้ ก็นับว่ามีปัญหานะครับ เพราะทีวีอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐและทุนอย่างหนาแน่น อีกทั้งทีวียังเป็นสื่อที่โดยธรรมชาติของมันแล้วมักให้ข่าวสารที่รวบยอด ไม่ต้องมองมุมอื่น ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวิพากษ์อะไรเลย ผู้รับเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว..

"ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง ซึ่งได้มาจากการศึกษา นั่นก็คือ โลกทรรศน์แบบปัจเจก ผมหมายความว่าคนชั้นกลางไทยเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้แต่เพียงโดยผ่านเรื่องราวของปัจเจก"

จากการอธิบายของนิธิทำให้ได้ข้อสรุปว่า เป็นเพราะสื่อที่มีอำนาจอย่างทีวีนำเสนอเรื่องราวของแม่ไฮในฐานะตัวละครที่ต้องต่อสู้อย่างน่าอัศจรรย์กับชะตาชีวิต และในที่สุดเรื่องราวนี้ก็เอาชนะใจคนดู เรื่องจึงจบลงด้วยชัยชนะของแม่ไฮ ด้วยกระบวนการเช่นนี้ที่สังคมชนชั้นกลางได้แต่ซึมซับความไม่เป็นธรรมผ่านละครโศก มากกว่าจะมองเห็นโครงสร้างของปัญหาที่เป็นจริง จึงทำให้ "คนชั้นกลางไทยมีความสามารถที่จะเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ในเชิงบุคคล แต่ไม่มีความสามารถจะเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ พวกเขาเห็นใจคนจน มีความเมตตาที่พร้อมจะหยิบยื่นความอนุเคราะห์แก่คนจน และพร้อมจะต่อสู้ให้คนอื่นได้รับความเป็นธรรม แต่ความจน และความอยุติธรรมถูกจำกัดให้เหลือเพียงชะตากรรมของบุคคล"

ไม่แน่ใจว่าข้อสรุปของอาจารย์นิธิ จะเป็นข้อสรุปเดียวกับอีกหลายคนที่ตั้งข้อสงสัยกับกรณีนี้หรือไม่ แต่เป็นข้อสรุปที่ผมเห็นต่างอย่างแน่นอน

ประการแรก ผมไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายที่ว่าสื่อทีวีเป็นสื่อเดียวที่เข้าถึงคนชั้นกลางในเมือง คนชั้นกลางนั้น ต้องกล่าวว่าเป็นชนชั้นที่มีทางเลือกมากที่สุด และสื่อที่สามารถเข้าถึงชนชั้นนี้ (หรือชนชั้นนี้สามารถเข้าถึง) ก็มีหลากหลายที่สุดยิ่งกว่าชนชั้นอื่น ๆ ตั้งแต่วารสารทางวิชาการ ไปจนถึงหนังสือพิมพ์หัวสี ชนชั้นที่สื่อทีวีเป็นสื่อเดียวที่สามารถเข้าถึงจึงน่าจะเป็นชนชั้นชายขอบยิ่งกว่าชนชั้นกลาง เพราะชาวเขาที่อยู่บนภูเขาก็อาจจะไม่มี มติชน ฟ้าเดียวกัน หรือ OPEN อ่าน วิทยุก็อาจฟังไม่ชัด แต่ก็ยังสามารถดูทีวีช่องที่ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมได้ (คมจัดชัดทั่วไทย) ชนชั้นกลางจึงเป็นชนชั้นที่มีสื่อให้เสพหลากหลายที่สุด เป็นชนชั้นที่เสพสื่อมากที่สุด จนหัวกบาลของชนชั้นนี้แทบจะเป็นที่ปะทะทังสรรค์ของสื่อทุกชนิดอยู่แล้ว นักศึกษาที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์นั้น ก็อาจจะอ่านสื่ออีกหลายเล่มที่เราอาจไม่เคยเปิดดู หรือถ้าเขาไม่อ่าน เขาก็อาจจะรับข้อมูลข่าวสารผ่านกระทู้ หรือการแชตกันบนอินเตอร์เน็ต ดังนั้น สื่อทีวีน่าจะมีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางน้อยกว่าชนชั้นล่างหรือชนชั้นชายขอบ

ในส่วนที่ว่าสื่อทีวีให้ข่าวสารรวบยอดนั้นคงจะจริง แต่ถ้าบอกว่าสื่อทีวีเป็นสื่อที่ผู้รับถูกกระทำฝ่ายเดียวนั้น กรณีนี้อาจจะเป็นเรื่องของความเร็วมากกว่าอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นสื่อไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ผู้เสพก็ตกเป็นผู้รับอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของสื่อกับชนชั้นกลาง สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ชนชั้นกลางไม่ได้ถูกจำกัดโดยสื่อ แต่ปัญหาคือเสพสื่อมากจนเกินไป จนกล่าวได้ว่า ต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับในแง่ของข้อมูลข่าวสารฝ่ายเดียวมาตลอด (จนมาได้ระบายบ้างเมื่อมีอินเตอร์เน็ต) การตกเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอดเช่นนี้ ก่อให้เกิดภาวะคลื่นเหียนข้อมูล และสำรอกเอาได้ง่าย ๆ ชนชั้นกลางจึงกลายเป็นชนชั้นที่มีปฏิกิริยาโต้กลับ สื่อ/ข้อมูลข่าวสาร มากที่สุด แต่หนทางให้โต้กลับ หรือหนทางในการสำรอกบรรดาข้อมูลที่บริโภคเข้าไปก็มีไม่มากนัก ในสังคมที่มีการสื่อสารทางเดียว (คือผู้ผลิตสาร (สื่อ/ทุน/รัฐ/ปัญญาชน) คิดแต่จะยัดข้อมูลให้คนอย่างเดียว)

ฉะนั้นกรณีของแม่ใหญ่ไฮ จึงไม่น่าจะเป็นเพราะโลกทรรศน์ปัจเจกของชนชั้นกลาง (ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับม๊อบมือถือและม๊อบสีลม:สองกรณีดังกล่าวไม่เห็นจะเป็นละครโศกตรงไหน) แต่น่าจะเป็นเพราะกรณีนี้เป็นเหมือนช่องว่างเล็ก ๆ เป็นเหมือนหน้าต่างที่เปิดแง้มออก เป็นช่องทางให้คนชั้นกลางได้ระบายความอัดอั้นจากการตกเป็นฝ่ายรับทางข้อมูลข่าวสาร กรณีของแม่ไฮจึงไม่ใช่แค่เรื่องของยายแก่ใจเด็ดที่สามารถต่อสู้จนเอาชนะรัฐ แต่เป็นการสำแดง/สำรอกตัวตนของชนชั้นกลางที่ถูกกดทับจากข้อมูลข่าวสาร ชัยชนะชองแม่ไฮก็เปรียบได้กับการสำแดงอำนาจและตัวตนของชนชั้นกลาง เป็นปฏิกิริยาเล็ก ๆ ที่โต้กลับกระแสมหึมาของข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้าสู่ตัวตนของคน

ปัญหาหนึ่งที่อยากเสนอให้มองในมุมกลับ เมื่อเวลาที่เราวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลาง เรามักกล่าวว่าชนชั้นกลางไม่ค่อยเห็นหัวคนจน จะเห็นกันได้ก็เมื่อทีวีเอามาทำเป็นละครโศก คนจนก็คือคนจน คนจนก็หน้าตาเหมือน ๆ กันไปหมด ไม่ได้มีอะไรสลักสำคัญหรือแตกต่าง นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เราวิพากษ์คนชั้นกลางในเมือง แต่ขณะที่วิพากษ์นี้ เราก็เห็นคนชั้นกลางก็เป็นคนชั้นกลาง ก็ขี่รถเก๋งและหน้าตาเหมือน ๆ กันไปหมด การไม่เห็นหัวกัน หรือไม่อาจจำแนกแยกแยะกันได้นั้นดูท่าจะไม่ใช่ปัญหาของชนชั้นกลางเท่านั้น ผมว่าคนจนก็ไม่ต่างกัน ก็เห็นชนชั้นกลางก็หน้าตาเหมือน ๆ กันไปหมด

ปัญหาก็คือ ภาระของการเหลียวแลคนจนตกอยู่บนบ่าคนชั้นกลางตั้งแต่เมื่อไร จริง ๆ แล้วคนจนด้วยกันต้องเหลียวแลคนจนด้วยกันมั้ย คนจนหมู่บ้านใกล้ ๆ บ้านยายไฮ มีใครเห็นใจยายไฮกันสักคนหรือเปล่า

สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ในสายตาปัญญาชนซึ่งชอบวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลางในเมือง แต่สุดท้ายแล้ว เหล่าปัญญาชน (ซึ่งจริง ๆ ก็สังกัดชนชั้นกลาง) ก็ยังเห็นว่าชนชั้นกลางเป็นชนชั้นเดียวที่มีศักยภาพที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นใช่หรือไม่

ดังนี้แล้วเรามาทำความเข้าใจชนชั้นกลาง (ชนชั้นของเรา!) ในฐานะของตัวแปรมากกว่าถังขยะจะดีไหมครับ

พิมพ์ครั้งแรก open 45, กันยายน 2547


Comments