เขียนฝันด้วยชีวิต






นับเป็นเวลาหลายสิบปีที่บรรณพิภพของไทยปราศจากงานที่เรียกว่า สารนิยายอย่างแท้จริง  ตั้งแต่ที่สมบูรณ์ วรพงษ์ เขียน รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี แล้ว ดูเหมือนงานวรรณกรรมในส่วนที่ไม่ได้เป็นเรื่องแต่งจะมีแต่บทบันทึกการเดินทาง สารคดีท่องเที่ยว ข้อเขียนสั้น ๆ ที่มาจากปรากฏการณ์ในชีวิตซึ่งมักปรากฏในรูปแบบของบันทึก ความเรียง หรือเรื่องสั้น แทบไม่มีชิ้นงานอันโดดเด่นที่อาศัยทักษะการประพันธ์ที่ต้องร้อยเรียงโครงเรื่องขนาดยาวอย่างนิยายปรากฏขึ้นเลย

สารนิยายคือรูปแบบการเขียนเรื่องจริงที่อาศัยศิลปะการประพันธ์และโครงสร้างของนิยายในการนำเสนอเรื่อง มีการวางโครงเรื่อง ลำดับการเล่าเรื่อง สร้างตัวละคร และพัฒนาตัวละครในลักษณะเดียวกับนิยาย เพียงแต่ข้อจำกัดคือสิ่งที่เขียนทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่จินตนาการของผู้เขียน และ เขียนฝันด้วยชีวิต ของ ประชาคม ลุนาชัย ก็เป็นอัตชีวประวัติ ที่สามารถนับเป็น สารนิยายที่เข้มข้นและชวนอ่านที่สุดเล่มหนึ่ง

ประชาคม ลุนาชัย คือนามปากกาที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีมานี้ เป็นนามที่โดดเด่นและค่อย ๆ ได้รับการยอมรับขึ้นเป็นลำดับในวงการวรรณกรรมสร้างสรรค์ กระทั่งปัจจุบันก็กล่าวได้ว่านามปากกานี้คือนักเขียนแถวหน้าของวงการวรรณกรรมสร้างสรรค์ มีสถานะศักดิ์ศรีเคียงข้างกันไปกับนามปากกาที่ถือกำเนิดไล่เลี่ยกันมา ไม่ว่าจะเป็น วินทร์ เลียววาริณ, กนกพงศ์ สงสมพันธ์, เดือนวาด พิมวนา, ทินกร หุตางกูร, ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร ฯลฯ หรือแม้แต่นามที่ตามมาทีหลังแต่ popular อย่างยิ่ง เช่น ปราบดา หยุ่น  นักเขียนกลุ่มนี้ ยกเว้นปราบดา หยุ่นแล้ว ถือเป็นผลิตผล หรือเป็นนักเขียนที่เติบโตขึ้นจากนิตยสาร ช่อการะเกด นิตยสารเรื่องสั้นที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลิตนักเขียนคุณภาพให้กับวงการวรรณกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งปิดตัวไปแล้วเมื่อเกือบสิบปีก่อน

แม้ว่า ประชาคม ลุนาชัย จะไม่ใช่นามที่โดดเด่นซึ่งถูกพูดถึงเป็นนามแรก ๆ ในหมู่นักเขียนหัวก้าวหน้า แต่ผู้คนในวงวรรณกรรมสร้างสรรค์ต่างก็มิได้กังขากับสถานะนักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ของประชาคม

ครั้งหนึ่ง เรื่องสั้นของประชาคมที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด เป็นเรื่องสั้นที่จัดเป็น งานสัจนิยมมหัศจรรย์ ซึ่งยังเป็นที่ตื่นเต้นกันในหมู่นักเขียนวรรณกรรม ณ ช่วงเวลานั้น  แต่ภาพรวมผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดของเขาในช่วงสิบกว่าปีนี้ นักวิจารณ์คงยินดีที่จะวางประชาคมไว้ในตำแหน่งของนักเขียนสัจนิยมมากกว่านักเขียนที่ทดลองสไตล์และรูปแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดอย่างวินทร์ เลียววาริณ  เป็นที่ทราบกันดีถึงประวัติชีวิตอันโชกโชนของเขาก่อนจะไต่เต้าขึ้นเป็นนักเขียนมีชื่อของบรรณพิภพไทย และผลงานส่วนใหญ่ของประชาคมก็เชื่อกันว่าเป็นผลิตผลจากชีวิตอันชุ่มโชกของเขา  เมื่อเขาลงมือเขียนประวัติชีวิตของตนเองอย่างตรงไปตรงมาในรูปแบบของนิยาย จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่คอวรรณกรรมจะไม่รู้สึกอยากอ่าน เขียนฝันด้วยชีวิตเล่มนี้

เขียนฝันด้วยชีวิต เป็นหนังสือที่กินใจ และมีเสน่ห์ ด้วยน้ำเสียงซื่อ ๆ เล่าเรื่องราวด้วยชั้นเชิงที่ทำให้ผู้อ่านสนิทใจกับตัวละคร ถึงบทฟูมฟายก็ทำได้อย่างไม่เลยเถิด จึงทำให้ผู้อ่านสามารถสะเทือนใจและติดตามตัวละครต่อไปได้อย่างกระตือรือร้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของหนุ่มบ้านนอกที่ออกจากบ้านมาผจญภัยยังเมืองหลวง และเส้นทางชีวิตก็นำเขาไปยังสถานที่และชะตากรรมมากมาย ตลอดเส้นทางการผจญชีวิตนี้ สิ่งหนึ่งที่หนุ่มคนนี้ต่อสู้จนล้มแล้วลุกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็คือ การเขียนหนังสือ  จากจุดที่เริ่มต้นเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านย่อมตระหนักอยู่แล้วถึงสถานะและชื่อเสียงของ ประชาคม ลุนาชัย ดังนั้น สิ่งที่เร่งเร้าการอ่านย่อมไม่ใช่คำถามว่าตัวละครจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ไหม แต่เป็นความใคร่รู้ใคร่สนใจว่าตัวละครจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ อย่างไรซึ่งตรงส่วนนี้นี่เองที่ประชาคมสามารถดึงเอา สาระสำคัญของชีวิตตัวเองออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและงดงามยิ่ง จนเมื่ออ่านจบ ผู้อ่านย่อมจะเข้าถึงความหมายอันเป็นผลิตผลของชีวิตอันโชกโชนเยี่ยงนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าไม่ว่าภูมิหลังของคนอ่านคนนั้นจะเหมือนหรือแตกต่างจากตัวละครเพียงใด สำหรับผู้อ่านที่ละเอียดลออและคาดหวังถึงคุณค่าทางวรรณกรรมแล้ว ก็ยังจะได้รับสิ่งที่มุ่งหวังอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจจะรู้สึกว่าตัวละครออกจะขี้สงสารตัวเองไปหน่อยเท่านั้นเอง แต่นั่นก็ต้องนับเป็นส่วนหนึ่งของความสัตย์ซื่อที่ตัวเรื่องเปิดเผยออกมา

ตามธรรมเนียมของชีวประวัติทำนองนี้ หลังส่วนเนื้อเรื่องจบโดยบริบูรณ์แล้ว ก็มักจะมีภาคผนวกในตอนท้ายเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงผลปลายท้ายสุด หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังตัวเรื่อง ว่าตัวละครประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไร แต่เนื่องจากนี่เป็นอัตชีวิตประวัติ เป็นการที่ผู้เขียนเขียนถึงตัวเอง และผู้เขียนเองก็เป็นนักเขียน ดังนั้น เข้าใจว่าเป็นความขัดเขินของตัวผู้เขียนเองที่จะใส่ภาคผนวกดังกล่าวเข้ามา จึงมีเพียงข้อความสั้น ๆ ในหน้าสุดท้ายว่าหลังจากนั้น ประชาคม ลุนาชัย มีผลงานทั้งหมดกี่เล่ม

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผู้อ่านทั่วไปจะได้รับอรรถรสและความหมายอย่างน่าพึงพอใจ ขณะเดียวกันผู้อ่านที่เป็นนักเขียน หากเขียนหนังสือมาในเวลาไล่เลี่ยกับประชาคม ก็จะได้หวนรำลึกถึงความหลังหลายช่วงตอน หากเป็นนักเขียนรุ่นหลัง ก็จะได้แรงบันดาลใจใหญ่หลวง หรือหากเป็นนักเขียนรุ่นก่อนก็จะได้ทั้งแรงบันดาลใจและการหวนรำลึก

พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน

Comments