ฉันทลักษณ์ของเนาวรัตน์



อีกสักสเตตัสเกี่ยวกับวรรณกรรมก่อนจะเข้าฌาน อันนี้เป็นบทความของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เกี่ยวกับเรื่องฉันทลักษณ์ไทย ตรงเรื่องเสียงและจังหวะนี่ผมเห็นด้วยนะ  (หุ หุ จะไม่เห็นด้วยได้ไง ก็ไอเดียเรื่องเสียงและจังหวะนี่ผมพูดไว้ที่บอร์ดไทยโพเอ็ทสัก 5-6 ปีก่อนแล้วกระมัง )

บทความชิ้นนี้อ่านดูเผิน ๆ แล้วก็เหมือนจะไม่มีอะไรขัดแย้ง แต่อ่านดี ๆ แล้วทัศนะต่อบทกวีโดยภาพรวมนี่ผมเห็นคนละเรื่องคนละทางเลย เพราะโลกทัศน์ของเนาวรัตน์ถึงอย่างไรก็ยังมีสำนึกแบบจารีตนิยมเป็นสารตั้งต้นอยู่ คือมองว่า บทกวี = ฉันทลักษณ์

เนาวรัตน์เริ่มจากเกริ่นนำเรื่องคน แต่ง-อ่าน บทกวีไม่เป็น เกรงว่าสุนทรียรสในบทกวีจะหายไปจากใจคน บอกว่าคนเขียนบทกวีประกวดส่วนใหญ่อ่อนด้อยเรื่องฉันทลักษณ์ ครั้นฉีกฉันทลักษณ์ไปแต่งแบบ ลำนำร้อยแก้ว ที่เรียกว่า กลอนเปล่าก็แห้งแล้งแข็งทื่อ ขาด โวหารกวี””  ยกคำของ พ. ณ ประมวญมารค บทกวีคือการร่ายรำของภาษามากล่าว แล้วก็ ตีความแบบกำปั้นทุบดินว่า บทกวีคือการ ร่ายรำเพราะฉะนั้น (ก่อนรำ) ก็ต้อง แต่งตัวให้ตัวอักษร [ตรงนี้เองที่เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่า เนาวรัตน์เห็นว่า บทกวี = ฉันทลักษณ์ เดี๋ยวจะอธิบายตอนท้าย] 

เพราะ (พ. ณ ประมวญมารคบอกว่า) บทกวีคือการร่ายรำ ฉะนั้นก่อนรำก็ต้องแต่งตัว และการแต่งตัวนั่นก็คือการฝึกด้วยฉันทลักษณ์นั่นเอง เสร็จแล้วเนาวรัตน์ก็เข้าเรื่องฉันทลักษณ์ไทยโดยพูดถึงไอเดียเกี่ยวกับเสียงและจังหวะ

เนาวรัตน์ไม่เพียงกล่าวถึงฉันทลักษณ์ไทยว่ามี เสียงและจังหวะเป็นหัวใจ แต่ยังพูดเลยไปถึง ศิลปะทั้งปวงอีกด้วย โดยเฉพาะส่วนที่ไปคลุมเหมาเอาทั้งภาพเขียนไปด้วยว่า เสียงก็คือโทนสี จังหวะก็คือองค์ประกอบรูปตรงนี้สะท้อนปัญหาสำคัญในวิธีคิดของเนาวรัตน์

ผมไม่อยากเสียเวลามากไม่งั้นบทความจะยาวเกินไป จึงขอชี้แค่ 2 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก เนาวรัตน์พูดถึงฉันทลักษณ์ไทยว่ามี เสียงและจังหวะ เป็นหัวใจสำคัญ เสร็จแล้วก็กระโดดข้ามชนิดของการรรับรู้ (type of perception) ไปบอกว่าเสียงและจังหวะเป็นองค์ประกอบและหัวใจของ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม ฯลฯ กล่าวคือ เนาวรัตน์ไม่เพียงเอาความเข้าใจเรื่องฉันทลักษณ์ไปสวมเข้ากับการเสพศิลปะแขนงอื่นที่ใช้ หูฟังเหมือนกัน ยังกระโดดจากการ ฟังด้วยหูไปสู่การ ดูด้วยตาคือเหมาเอาศิลปะแขนงอื่น ๆ ที่แม้จะต่างชนิดการรับรู้ก็ถูกกำหนดด้วย เสียงและจังหวะไปด้วย!?

อันนี้สะท้อนความ มั่วในเชิงวิธีคิดที่ไม่มีแก่นสารความคิดจริง ๆ แต่อาศัย โวหารให้คนอ่านเคลิบเคลิ้มและคล้อยไปด้วยถ้าไม่ฉุกคิด ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ใช่แค่เนาวรัตน์คนเดียว แต่ผมเห็นว่าคนที่มีวิธีคิดแบบจารีตนิยมส่วนใหญ่ก็มักจะมีลักษณะแบบนี้

ประด็นที่สอง จะด้วยความ มั่วในเชิงวิธีคิด หรือชอบคิดแบบไม่มีกระดูกมีแต่โวหารแบบนี้ หรือเพราะมี สุนทรียะเป็นแบบแผนแบบจารีตนิยม (จึงทำให้คิดแบบนี้) เนาวรัตน์จึงมองเห็นบทกวีเป็นเพียงแต่แพทเทิร์นของเสียงและจังหวะที่จะต้องมีรูปแบบ คงที่ตลอดชิ้น (ในฉันทลักษณ์ประเภทเดียวกัน) แบบฉันทลักษณ์ไทย คือต้องเป็นเสียงและจังหวะที่เป็นแบบแผนวนอยู่ในรูปแบบเดียวกันไปเรื่อย ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเป็นเสียงและจังหวะที่ไม่มีแบบแผน คาดเดาไม่ได้ (improvise) จึงทำให้เนาวรัตน์ อ่านกลอนเปล่าไม่เป็นโดยเฉพาะกลอนเปล่าที่ไม่ได้ใช้เสียงและจังหวะในลักษณะที่แบ่งเป็นบท ๆ แล้วก็มีแพทเทิร์นของเสียงและจังหวะวนกันมาทุกบททุกบท แบบฉันทลักษณ์ไทย

และที่สำคัญคือ เนาวรัตน์ไม่เข้าใจว่าบทกวีสมัยใหม่มี type of perception ที่หลากหลาย คือไม่ได้แค่ใช้แต่ หูฟังเท่านั้น ยังประกอบไปด้วยการใช้ ตาดูอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรม การอ่านและ การเขียนวรรณกรรมที่เข้ามาแทนที่วัฒนธรรม การขับและ การฟังที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้มีการปรับตัว-ผสมผสาน ทั้งการ อ่านออกเสียง”, “อ่านในใจและใช้ตาดู เกิดขึ้นในพื้นที่ของกวีนิพนธ์สมัยใหม่

ดังนั้น บทกวี สำหรับเนาวรัตน์ก็จึงมีเพียงฉันทลักษณ์ไทย และเนาวัตรน์ก็อ่านเป็นแต่บทกวีฉันทลักษณ์ที่มีเสียงและจังหวะเป็นองค์ประกอบสำคัญ และต้องเป็นเสียงและจังหวะที่มีแบบแผนด้วย (ถ้าเป็นเสียงและจังหวะที่คาดเดาไม่ได้ไม่เป็นระเบียบแบบแผนเนาวรัตน์ก็เสพไม่เป็นแล้ว) ตรงนี้เนาวรัตน์เปิดช่องไว้ว่า รู้เรื่องเสียง เรื่องจังหวะ หัดแต่งจน อยู่มือแล้วก็สามารถพลิกแพลงไปได้ดังใจดูคล้ายว่าจะยอมรับรูปแบบของเสียงและจังหวะที่ไม่เป็นแบบแผน แต่ถ้าดูตอนท้าย ๆ โดยเฉพาะตรงที่แน้นว่า ฉันทลักษณ์คือรูปแบบ (ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ใช้ไม่ได้กับกวีนิพนธ์สมัยใหม่) และยกรูปแบบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ขึ้นมาเป็นรูปแบบมาตรฐาน ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าเนารัตน์ไม่เข้าใจบทกวีสมัยใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีแพทเทิร์นของเสียงหรือสัมผัส เช่นบทกวีก่อนสมัยใหม่ (ไม่ว่าจะของไทยหรือต่างประเทศ) ที่เรียกว่า free verse หรือของไทยที่มักเรียกว่ากลอนเปล่า ว่ามันไม่ใช่การจัดตั้งรูปแบบหรือแพทเทิร์นของเสียงและจังหวะขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วก็ขับวนไปจนจบเป็นบท ๆ แบบการขับหรืออ่านบทกวีก่อนสมัยใหม่

ผมไม่ปฏิเสธว่า คนเขียนบทกวีรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับ เสียงน้อยลง และมีความเข้าใจองค์ประกอบสำคัญของฉันทลักษณ์ไทยน้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความสามารถในการ สร้าง-สื่อ-รับ สุนทรียรสของบทกวีจะด้อยลงหรือน้อยลงกว่าเดิม เพราะบทกวีไม่ได้เท่ากับฉันทลักษณ์

พอดีเลยว่ามติชนเล่มเดียวกันนี้มีบทกวีของ "จารี จันทราภา" อยู่ถัดจากคอลัมน์ของเนาวรัตน์ไปไม่กี่หน้า ที่แสดงให้เห็นถึงการเล่นกับเสียงที่ "ล่องลอย" อยู่ในสังคม เช่น เพลงร็อค, คำประกาศ หรือคำพูดที่เห็นบ่อย ๆ ในสื่อ นำมาร้อยเรียงสลับกับเสียงของผู้ประพันธ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นอัตวิสัย คือเสียงและจังหวะในกลอนเปล่าร่วมสมัยส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่มีแบบแผน เป็นอัตวิสัย คนอ่านเดาไม่ได้ทั้งหมดว่าเวลากวีอ่านออกเสียงจะอ่านอย่างไร ดังนั้นเวลาอ่าน (ในใจ) คนอ่านก็มักจะอ่านไปตามรูปแบบของการจัดคำผสมกับอัตวิสัยของผู้อ่านเอง แต่ชิ้นนี้จารี กำกับเสียงเป็นช่วง ๆ ด้วยการใช้วรรคตอนของเพลงที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ส่งเสียงให้เห็นจังหวะและเสียงในใจของกวี บทกวีชิ้นนี้มีการใช้เสียงและจังหวะแน่ ๆ แต่ไม่ได้เป็นไปอย่างมีแบบแผนวนมาเป็นบท ๆ แบบฉันทลักษณ์

27-11-2015

Comments