สมจริง



วรรณกรรมสร้างสรรค์ ของไทย เพิ่งเกิดขึ้นต้นทศวรรษ 2521 ด้วยการ “ดัดแปลง” สัญนิยมของวรรณกรรมเพื่อชีวิต คือ รับบางส่วน ปฏิเสธบางส่วน และพยายามกลบทับบางส่วน + รวมกับวาทกรรมคุณค่าวรรณกรรมในเชิงสากลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่

นักเขียนที่เขียน ๆ งานกันอยู่แล้วส่งประกวดซีไรต์กัน ต่างล้วนอยู่ในสัญนิยมของ “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นนี้ทั้งสิ้น ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือ 1 คุณค่าแบบ “เพื่อชีวิต” ที่ถูกดัดแปลง  และ 2 คุณค่า “ความเป็นสากล” ที่อยู่ในกระแสการรับรู้ หรือเรียกว่า วาทกรรม “ความเป็นสากล” ที่ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 2520 (คนสำคัญที่มีส่วนผลิตวาทกรรมนี้ นอกจากโลกหนังสือ ก็คือ เจตนา นาควัชระ)

การทำให้เรื่อง “สมจริง” นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างเรื่องให้ “สอดรับ” กับความเคยชินเท่านั้น แต่ยังสามารถที่นำความเคยชินมา “นำเสนอใหม่” ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย แล้วแต่กลวิธีการประพันธ์ และนี่ไม่ใชเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดในวรรณกรรม “หลังสมัยใหม่” อย่างที่มักเข้าใจกัน มีมาตั้งนานแล้ว

ประเด็นสำคัญของ “ความน่าเชื่อถือ” ของเรื่องและตัวละคร คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญนิยมที่ผู้เขียนนำมาใช้สร้างเรื่องเป็นสำคัญ กล่าวคือ รู้ตัวหรือไม่ว่าตนเองกำลังเขียนเรื่องอยู่ใน “ขนบ” ใด  รู้ตัวหรือไม่ว่าตนเองกำลังใช้ “สัญนิยม” อะไร และมีความเข้าใจในที่มาและการขับเคลื่อนของสัญนิยมดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

เรื่องแต่งที่เป็นวรรณกรรมซีเรียส โดยส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทั้งหมด) มีสัจนิยมเป็นฐานทั้งสิ้น ตั้งแต่หลังยุคโรแมนติกเป็นต้นมา (หลังต้นศตวรรษที่ 19)

มันมีความจำเป็นบางอย่างในเชิงไวยกรณ์ของเรื่อง และในเชิงทักษะ คล้าย ๆ กับเป็น กฎพื้นฐาน ที่ไม่เปลี่ยนมานานแล้ว ในแง่ของการเขียนงานซีเรียส และแน่นอนว่า สัญนิยมของ “วรรณกรรมสร้างสรรค์” แบบที่เขียน ๆ กันอยู่ในไทยก็เช่นกัน

พูดให้เข้าใจง่าย มันคล้าย ๆ เรื่องอานาโตมีของคนฝึกวาดรูป แน่นอนว่ามันไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าจะต้องเริ่มจากตรงนี้ ในแง่ของวรรณกรรมงานที่แข็งแรง มันต้องการ “อานาโตมีของเรื่องราว” ที่แข็งแรง ซึ่งประกอบไปด้วย ทักษะการใช้ภาษา, การสร้างตัวละคร และความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ที่อยู่ในเรื่อง


24-11-14

Comments