ด้วยกฎหมายและอุดมการณ์








การปฏิบัติไปตามหลักการที่ถูกต้อง อธิบายได้ ต้องถือว่าเป็นความดีอย่างหนึ่ง แต่เวลาที่พูดถึงการเมืองไทย คำว่า ความดี ความชั่ว ได้ถูกฉวยเอาไปใช้ ถูกทำให้เป็นอัตลักษณ์ของบางคน บางกลุ่มไป แล้วคนเหล่านั้นในนามของการอ้างความดี ทำดีเพื่อสิ่งนั้น ทำดีเพื่อสิ่งนี้ ก็ทำได้ทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเลย การใช้คำว่าความดี ความชั่ว แบบนี้ต่างหากที่ผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผมยกตัวอย่าง สมมติ เราจะลงโทษใครสักคนหนึ่ง เราไม่ใช้ความรู้สึกว่าคนๆ นั้น ดี หรือเลว เพราะความรู้สึกว่าคนๆ หนึ่ง ดี หรือเลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลซึ่งไม่มีทางตรงกันได้ เวลาจะลงโทษใครสักคนหรือวินิจฉัยใครสักคนว่าผิดหรือไม่ จึงต้องมีข้อเท็จจริง มีเกณฑ์ในทางกฎหมาย แล้วก็มีระบบวิธีพิจารณา ซึ่งต้องมีหลักการบางประการ



หนังสือ ด้วยกฎหมายและอุดมการณ์
ผู้เขียน วรเจตน์ ภาคีรัตน์
สำนักพิมพ์ Shine Publishing House
เวลาพิมพ์ ตุลาคม 2015
ISBN 9786167939025
ขนาดรูปเล่ม 143x210x20 มม.
เนื้อใน กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ
ปก กระดาษพิเศษ พิมพ์ 5 สี  ปั๊มนูนที่ชื่อปกและชื่อผู้เขียน
จำนวนหน้า 408 หน้า
ราคาปก 360 บาท



โปรยปกหน้า

-รวมบทอภิปรายและบทสัมภาษณ์ 
-บทสนทนาและข้อเขียนว่าด้วยหลักการทางกฎหมายมหาชนต่อกรณีปัญหาต่าง ๆ ในวิกฤตการเมือง


โปรยปกหลัง

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงเวลาที่สภาวะแห่งอำนาจของชนชั้นปกครองที่ทั้งยึดโยงและกดทับสังคมไทย เริ่มผุกร่อนลง การรัฐประหารสองครั้งในห้วงระยะเวลาแปดปี สะท้อนให้เห็นความพยายามในการเหนี่ยวรั้งสภาวะผุกร่อน ร่วงโรยของชนชั้นปกครองไทยไว้ สิบปีที่ผ่านไปและปัญหาที่ยังไม่จบแสดงให้เห็นถึงการตรึงกำลังของฝ่ายที่ต้องการผลักสังคมไทยไปข้างหน้ากับฝ่ายที่ต้องการเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้กับที่หรือย้อนกลับไปข้างหลัง สิบปีที่ผ่านมานี้เป็นสิบปีที่ทำให้คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยเห็นถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของสังคมที่เราอาศัยอยู่ ในอีกหลายปีข้างหน้าเมื่อมองย้อนกลับมา เราจะพบว่าสิบปีที่ผ่านมานี้เป็นสิบปีแห่งความสูญเสียทั้งในแง่ของชีวิตผู้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมือง และทั้งในแง่ศรัทธาที่มีต่อคุณค่ารากฐานของสังคม เป็นสิบปีที่สิ่งทีเร้นอยู่ในสังคมไทยเริ่มเผยตัวออกมาอย่างยากที่จะอำพรางต่อไปได้ เป็นสิบปีที่จะเป็นฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน

วาด รวี: การอุทิศตัวให้กับกิจกรรมสาธารณะในช่วงที่ผ่านมาของวรเจตน์ ภาคีรัตน์นั้น คือการได้ทำลายกำแพงกฎหมายที่ขวางกั้นประชาชนกับความยุติธรรมเอาไว้ ทำให้กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ยากจะเข้าใจและยากจะเข้าถึงอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือ เป็นหลักการ ที่ต้องดำรงไว้เพื่อพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนอย่างแท้จริง


คำบรรยายแบบย่อ

ข้อเขียนและบทสนทนาเกี่ยวกับปัญหาหลักการกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการเมือง เช่น ความเป็นมาและความแตกต่างระหว่างหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม, เรื่องนายกฯพระราชทาน, กรณีปลดนายกฯสมัคร, กรณีกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ หลักการประชาธิปไตย และความเป็นมาของกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยในแง่มุมของความเป็นประชาธิปไตย เป็นต้น


สารบัญ                

ลำดับเหตุการณ์คณะนิติราษฎร์  

บทนำ ว่าด้วยกฎหมายและอุดมการณ์ฯ  

ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 ก่อตั้งคณะ 

100 ปีชาตกาล หยุด แสงอุธัย 

10 ปีนักกฎหมายมหาชนไทย: ฤๅจะเดินหน้าลงคลอง  

นิติรัฐกับความยุติธรรมทางสังคม

หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม

ตุลาการภิวัฒน์กับความบิดเบือน  

ปัญหาขององค์กรอิสระ  

การลบล้างคำพิพากษาที่ขัดหลักการ 

จุดยืนคณะนิติราษฎร์  

คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย

การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ฯ

กฎหมายกับความเป็นธรรม

ภาคผนวก

เรื่องมาตรา 7 และนายกฯ พระราชทาน 

ผู้มีอำนาจตีความกฎหมายคือผู้ทรงอำนาจโดยแท้จริง 

กรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรีสมัครพ้นจากตำแหน่ง

การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง! ไม่ยอมรับรัฐประหาร!!

วิพากษ์นักกฎหมาย 

ปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 

112 กับความหมายในวงเล็บ (ที่เงียบจนแสบแก้วหู) 

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย 


เกี่ยวกับผู้เขียน

ผู้แต่งตำราทางกฎหมาย อาทิ กฎหมายปกครองภาคทั่วไป (2554) คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน (2555) และมีผลงานบทสัมภาษณ์เล่มแรกได้แก่ จุดไฟในสายลม (2552)  เป็นนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สอบได้คะแนนสูงสุด ศึกษากฎหมายมหาชนที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สำเร็จการศึกษาได้คะแนนระดับสูงสุดจากมหาวิทยาลัย Goettingen  เขียนวิทยานิพนธ์ภาษาเยอรมนีเรื่อง “วิวัฒนาการทางทฤษฎีของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายเยอรมนี” ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Dunker & Humblot (Berlin) ในปี พ.ศ.2542

คือหนึ่งใน 5 อาจารย์ นิติ มธ. ผู้ออกแถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหารในปี 2549 ให้ความเห็นทางกฎหมายและวิจารณ์ระบบตุลาการในประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวขบวนในการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ เหล่านักกฎหมายที่นิยามกลุ่มตนเองว่า “นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” ร่างข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสนอการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสำคัญต่างๆ  หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ยกย่องให้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของปี พ.ศ.2553 ปัจจุบันรับราชการที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์


ย่อจากคำนำ

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความ ข้อเขียน คำอภิปราย และบทสัมภาษณ์ของ รศ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เนื้อหามีทั้งส่วนที่เป็นบทความกึ่งวิชาการ อธิบายความหมายและประวัติความเป็นมาของหลักการและทฤษฎีสำคัญๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ส่วนที่เป็นบทอภิปรายวิเคราะห์แสดงความเห็นต่อประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับกฎหมาย บทวิจารณ์และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และบทสัมภาษณ์ซึ่งสนทนาความคิดเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่เป็นหัวข้อสาธารณะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแต่ละครั้งระหว่างวิกฤตการเมืองในรอบสิบปีมานี้

รศ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์เป็นนักกฎหมายมหาชนผู้มีบทบาทให้ความเห็นและวิจารณ์ข้อกฎหมายอย่างโดดเด่นในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเด็นข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวพันกับการเมือง ในท่ามกลางความสับสนทางการเมืองและความสลับซับซ้อนของกฎหมาย ความคิดเห็นของวรเจตน์ ภาคีรัตน์กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากในประเทศเฝ้ารอฟัง

เมื่อเกิดกรณีทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับกฎหมายมหาชนขึ้นจำนวนมากที่ขัดกับความรู้สึกธรรมดาของผู้คน จนเกิดความเคลือบแคลง คนจำนวนมากที่มีความรู้สึกร่วมกันเช่นนี้ ต่างตกอยู่ในความมืดมนสิ้นหวัง แม้ว่าจะรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่อาจอธิบายความไม่ยุติธรรมนั้นออกมาให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างชัดแจ้ง เมื่อมีนักกฎหมายที่มีความรู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนในระดับต้นๆ ของสังคมได้อธิบาย ให้ความเห็น ให้ความรู้ และแม้กระทั่งทำข้อเสนอทางกฎหมายออกสู่สาธารณชน เสนอต่อประชาชนโดยตรง อย่างต่อเนื่องในระหว่างวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ในความรู้สึกของผู้คน จึงเปรียบเสมือนว่า ได้มีแสงสว่างสาดส่องเข้ามาขับไล่ความมืดมิดที่กลุ้มรุม และมองเห็นสิ่งที่พันธนาการพวกเขาไว้อย่างชัดแจ้ง

หนังสือเล่มนี้เป็นการคัดสรรส่วนสำคัญ โดยรวบรวมจากชิ้นงานที่เป็นบทความซึ่งเขียนให้ประชาชนทั่วไปอ่าน และการอภิปรายในครั้งที่เนื้อหามีความโดดเด่นอย่างสำคัญและไม่ซํ้าซ้อนกัน หลายชิ้นได้รับการปรับปรุงใหม่โดยผู้เขียน และได้มีการทำบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นพิเศษขึ้นเพื่อเป็นบทนำของหนังสือเล่มนี้ พอจะกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมการแสดงทัศนะในประเด็นสำคัญเกือบทั้งหมดของผู้เขียนในห้วงเวลาสิบปีมานี้

Comments