วิจารณ์คำนูณ สิทธิสมานเรื่องทำแทนไม่ได้



คุณคำนูณ สิทธิสมาน ยกคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีวินิจฉัยว่ารองประธานคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (กอ.) ทำแทนประธาน กอ. ไม่ได้เฉพาะเรื่องการลงโทษทางวินัยร้ายแรง เพื่อมาบอกว่า น่าจะเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีของรองนายกรัฐมนตรีในการเป็นผู้รักษาการในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556

ผมเห็นว่า ข้อเสนอของคุณคำนูณเป็นเรื่องที่มีพิรุธอย่างยิ่ง เนื่องจากเอาบรรทัดฐานในกรณีการใช้อำนาจ "ที่เป็นโทษ" (เรื่องการลงโทษทางวินัยร้ายแรง) มาเทียบเคียงกับ "การปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป" (การกำหนดวันเลือกตั้ง) ประการหนึ่ง

ประการต่อมา ในเมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๑ ได้จำกัด "อำนาจของรัฐมนตรีรักษาการณ์" ไว้เพียง ๔ ข้อ และไม่มีข้อใดที่ระบุหรือมีความหมายไปในทำนองว่า รัฐมนตรีที่รักษาการณ์แทนนายกฯ จะต้อง "ไม่" เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง จึงเห็นได้ว่า กรณีการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการรักษาการณ์ตามกฤษฎีกายุบสภา นั้น ไม่ใช่ "ข้อห้าม" หรือกรณี "พิเศษ" ดังเช่น "การลงโทษทางวินัยร้ายแรง" สังเกตว่า ในมาตรา ๑๘๑ (๑) ก็ระบุเอาไว้ "ตรงกับ" กรณีในคำพิพากษาที่คุณคำนูณยกมาอยู่แล้ว คือ (๑) ไม่กระทำการอันเป็นการแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ.... หมายความว่า กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ หรือรัฐมนตรีที่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนนายกฯ รักษาการณ์ "ไม่สามารถที่จะ "ลงโทษทางวินัยร้ายแรง" ได้อยู่แล้ว ไม่ได้เดียวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่แทนในกรณีกำหนดวันเลือกตั้งแต่อย่างใด

คำถามสำคัญก็คือว่า ในสภาพการเมืองปรกติทั่วไปนั้น หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น ย่อมจะต้องนำไปสู่การเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่ชัดเจน หากตำแหน่งนายกฯ รักษาการณ์ว่างลงในขณะที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ แค่นี้ก็จะเกิดทางตันจนต้องหาทางออก "พิเศษ" กันวุ่นวายเช่นนั้นหรือ?

คงเป็นเรื่องที่ตลกสิ้นดี ที่ถ้าเกิดกรณีตำแหน่งนายกฯ รักษาการณ์ว่างลงแล้วก็จะต้อง "ตัน" หรือ "สูญญากาศ" ทั้งที่การรักษาการณ์นั้น แท้จริงแล้วเป็นแต่ช่วงเปลี่ยนผ่าน รอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่ง คณะรัฐมนตรีที่รักษาการจะต้องมีบทบาทอย่างจำกัดในการบริหารราชการ ทั้งนี้ ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ "เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่มา"

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ หน้าที่ของ รบ. รักษาการณ์นั้น เจตนาของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ต้องดูรัฐธรรมนูญ แต่ใช้สามัญสำนึกคิดเอาก็ได้ก็คือ คุณไม่มีหน้าที่ "บริหาร" แต่มีหน้าที่ดำเนินการให้มีรัฐบาลใหม่ตาม รธน. กำหนด โดยเรียบร้อย ฉะนั้น การ "กำหนดวันเลือกตั้ง" จึงจะต้องเป็นเรื่อง "ทำได้" และ "ต้องทำ" ในกรณีที่ตำแหน่งนายกฯ รักษาการณ์ว่างลงและมี รมต.ทำหน้าที่กแทน ต่อให้ รมต.หมดชุด ปลัดทำหน้าที่แทน ก็ต้องทำได้เหมือนกัน เพราะคือ "จุดมุ่งหมายอันดับแรก" ของการทำหน้าที่รักษาการณ์

ประการสำคัญ ผมเห็นว่า กรณีคำพิพากษที่คุณคำนูณยกมานี้ จริง ๆ แล้ว เป็นกรณีเทียบเคียงที่ชี้ให้เห็นว่า วุฒิสภาไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี มากกว่า

เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๘ ระบุความหมายของ "รัฐสภา" ว่า "รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา" หมายความว่า ขณะนี้ ไม่มีรัฐสภา นี่คือข้อแรก

ข้อสอง ในเมื่อไม่มี "รัฐสภา" จึงไม่มี "ประธานรัฐสภา" และประธานวุฒิสภาก็ไม่สามารถ "ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนได้"

ข้อสาม มาตรา ๑๗๑ วรรคสาม ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" (ไม่ใช่ประธานรัฐสภา) เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโอการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนชี้ให้เห็นว่า ที่ "ทำแทนไม่ได้" น่ะ คือ วุฒิสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแทนสภาผู้แทนราษฎร !!

วุฒิสภา ไม่สามารถ "ทำแทน" สภาผู้แทนราษฎร ได้ ในกรณีนี้

เพราะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญถึง 2 ชั้น 3 ชั้น และกฎหมายระบุชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และผู้ลงนามรับสนองฯ ต้องเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ไม่สามารถเป็นประธานวุฒิสภา เพราะลำพังวุฒิสภานั้นไม่ครบองค์ประกอบของความเป็นรัฐสภาด้วยซ้ำ


14 – 5 – 14

Comments