เสวนาเชิงปฏิบัติการ: การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ






ในวาระครบรอบ 3 ปี การคุมขัง สมยศ พฤกษาเกษมสุข
วันที่ 23 เมษายน 2557  9.00-16.30 น.
ห้องประชุม จี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หัวข้อ: ทางออกและการปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ



ความคิดที่อยู่เบื้องหลังสถานการณ์

ความมั่นคงของชาติ (National security)

แนวคิดที่เรียกว่า ความมั่นคงของชาตินี้เป็นแนวคิดใหม่ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหรัฐอเมริกา ใช้ในสงครามเย็น และในความขัดแย้งกับประเทศต่าง ๆ เช่นกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา ในตะวันออกกลาง เป็นข้ออ้างอันดับหนึ่งในการสะสมและพัฒนาอาวุธ รวมถึงใช้ปฏิบัติการทางทหาร

รัฐไทยเองเอาคอนเซปท์อันนี้มา ใช้อย่างเข้มข้นคือการทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งสหรัฐมีส่วนร่วม มีบทบาทในไทยอย่างสูง อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเวลา 20 กว่าปี จนถึงทศวรรษ 2520 คือหลังป่าแตก และหลังค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย

เมื่อเวลาที่รัฐไทยจะควบคุม ริดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน หรือจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ใช้ปฏิบัติการทางการทหารในกรณีต่าง ๆ ก็จะอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติขึ้นมา จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วไม่มีความโปร่งใส ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ผ่านรัฐสภา ไม่มีการตรวจสอบหรือกำกับการใช้อำนาจ อำนาจนี้ส่วนใหญ่แล้วถูกใช้โดยกองทัพ ซึ่งศาลไทย องค์กรอิสระไทย ส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจสอบกองทัพ ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดเหมือนที่ตรวจสอบนักการเมือง หรืออาจจะข้าราชการส่วนอื่น ๆ แต่กองทัพมักไม่ถูกตรวจสอบเท่าที่ควร


องค์ประกอบของความมั่นคงของชาติ

แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ หรือเรียกว่าเป็นองค์ประกอบของความมั่นคงของชาตินั้น ค้ำจุนไว้ด้วยแนวคิด ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 โดยกล่าวกันว่ารับมาจากอังกฤษอีกที คือมาจากคำว่า God, Queen and Country

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี้ ไม่ได้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในไทยเป็นกรณีเฉพาะ ในกัมพูชาก็มีความคิดเรื่องนี้ และมีเพลงชาติที่เกี่ยวกับแนวคิดนี้

ในทางประวัติศาสตร์ แนวคิดทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือ God, Queen and Country เหล่านี้ เกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้าง ศูนย์รวมขึ้นจากความแตกต่างหลากหลาย อย่างอังกฤษนั่นคือใช้เป็นธงนำของจักรวรรดิ เป็นสัญลักษณ์ เพราะจักรวรรดิอังกฤษประกอบด้วยประเทศมากมาย มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อดำรงจักรวรรดินิยมเอาไว้ก็พยายามที่จะรวมศูนย์ความคิดของคนไว้ที่สัญลักษณ์สูงสุด

รัชกาลที่ 6 ก็พยายามที่จะสร้างศูนย์รวมอันนี้ โดยใช้แนวคิดนี้มาค้ำจุนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไว้อีกที ซึ่งในเวลานั้นเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอำนาจของรัชกาลที่ 6 ก็ไม่มั่นคง ถูกท้าทาย

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ แม้เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ไม่ได้ถูกรื้อถอนออกไป อาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะเวลานั้นแนวคิดนี้ยังไม่ได้มีพลังมากนัก แต่ในที่สุดเมื่อเผด็จการสฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจ แนวคิดนี้ก็ถูกใช้ในการทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ ถือเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง

จริง ๆ แล้ว ลัทธิ ชาตินิยมนั้นเกิดขึ้นหลังรัฐแบบกษัตริย์เสื่อมไป สังเกตว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่ คำว่าชาติจะมาก่อน คำว่า ชาตินี้จริง ๆ แล้วหมายถึง คนคือ ประชาชน หรือพลเมืองที่มาอยู่ร่วมกันและก่อให้เกิดความเป็นชาติขึ้นมา เรียกว่า ปัจเจกภาพหลาย ๆ ปัจเจกมารวมกัน คือตั้งอยู่บนความเชื่อและการแสวงหาอิสรภาพสัมบูรณ์ของคน คือเชื่อว่ามนุษย์มีอิสรภาพ แต่อิสรภาพของปัจเจกหรือมนุษย์เพียงคนเดียวนั้นไม่มีความสัมบูรณ์ อิสรภาพที่สัมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้เมื่อปัจเจกภาพมารวมกัน กลายเป็นจิตวิญญาณของอิสรภาพอันสมบูรณ์ ซึ่งก็คือ ชาติอันนี้เป็นรากของการกำเนิดแนวคิดชาตินิยม ที่มาของมันคือการตระหนักในความเป็นอิสระและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ปฏิเสธอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ของเจ้า ของพระ แล้วจึงแสวงหาอิสรภาพสัมบูรณ์ของมนุษย์ แล้วก็พัฒนากลายเป็นชาตินิยม และเผด็จการฟาสซิสมในที่สุด

แนวคิดเรื่องชาติเกิดขึ้นหลังจากมีแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพแล้ว เพราะฉะนั้น ชาติ โดยตัวของมันเอง เป็นปฏิปักษ์กับพระมหากษัตริย์ แนวคิดหรือองค์ประกอบของชาติมีแต่ ประชาชน ในบางกรณี ชาตินั้นเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาด้วย เพราะพระก็มีส่วนในการผูกขาดอำนาจ แต่การที่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มารวมอยู่ด้วยกันนั้น เป็น การเมืองคือเป็นการพยายามประนีประนอมอย่างหนึ่งในช่วงเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์


ความคิดที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน

ระบอบที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ลักษณะที่เป็นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่แบบเดียวกับอังกฤษ ไม่ใช่แบบเดียวกับ constitutional monarchy ของประเทศอื่น ๆ โดยทั่วไป เช่น ยุโรป, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่กัมพูชา

โดยรูปรัฐ โดยกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญ ดูผิวเผินแล้วรัฐไทยอาจไม่แตกต่างเท่าไร อาจเหมือนกับประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อื่น ๆ แต่หากดูตัวความคิดที่ขับเคลื่อนจะพบว่าไม่ใช่ ความคิดที่ขับเคลื่อนคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเหมือนสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองและทิศทางพัฒนาไปของประชาธิปไตย แต่เป็นลักษณะที่ฝืนขัด เหนี่ยวรั้งไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ประชาธิปไตยเป็นประสบการต่อสู้ร่วมกันของมนุษย์ เป็นภูมิปัญญาและอารยธรรมในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ สูตรของการปกครองที่เป็นของสำเร็จรูป แล้วเอามาอ้างได้ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึก ด้วยการตระหนักรู้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดหรือเกิดได้ยากในสังคมไทย เพราะมีกระบวนการขัดฝืนอยู่ตลอดเวลา การอ้างอิงคุณค่าของประชาธิปไตย การพยายามเรียกร้องหรือผลักดันให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ในอีกทางหนึ่งจึงเป็นการปะทะกับสิ่งที่ขัดฝืนนั้น

โดยลำพังแนวคิด ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแนวคิดที่มีปัญหาในตัวเอง แต่กรณีของเรา ประเด็นสำคัญก็คือ ความหมายของพระมหากษัตริย์และศาสนาที่กินความเหนือชาติ คือเป็นกระบวนการที่กลับตาลปัตร ไม่ใช่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ธรรมดา ที่ชาติมีความสำคัญสูงสุด แต่กลายเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ตามด้วยศาสนา และชาติอยู่หลังสุด โดยความหมายที่แท้จริงของชาติ คือ ประชาชน ไม่เคยเปล่งประกายออกมา

ความมั่นคงของชาติจึงถูกนำไปผูกอยู่กับสถาบันกษัตริย์ มากกว่าประชาชน พลเมือง จึงทำให้ชาติกลายเป็นความว่างเปล่า เป็นชาติที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนไม่ดำรงอยู่ และกลายเป็นข้ออ้างของการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ยอมยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ย้ายออกไปจากหมวดความมั่นคง ทั้งที่โดยเนื้อหากฎหมายแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแต่อย่างใด

ไม่มีรัฐประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ผูกความมั่นคงของรัฐไว้กับสถาบันกษัตริย์ และที่สำคัญ เหนือกว่าสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ในรัฐประชาธิปไตย ความมั่นคงต้องผูกอยู่กับสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง หมายความว่า สิทธิ เสรีภาพของพลเมืองนั้น มีความสำคัญสูงสุดที่จะต้องปกป้องเอาไว้เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่สิ่งที่จะมาถูกริดรอนเพื่อสถาบันใดสถาบันหนึ่งโดยเฉพาะ สิทธิ เสรีภาพของพลเมืองจะถูก จำกัดหรือริดรอนได้ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือ ความมั่นคงของสิทธิ เสรีภาพเอง ในระยะยาว

สังเกตว่าฝ่ายที่ปกป้อง ไม่ยอมให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากจะนำสถาบันกษัตริย์ไปผูกไว้กับความมั่นคงของชาติแล้ว ยังนำไปผูกไว้กับสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองด้วย คือเอา สิทธิที่จะรักและปกป้องสถาบันกษัติย์ขึ้นอยู่เหนือสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานจริง ๆ นี่คือแก่นของความเสื่อม เพราะจริง ๆ แล้ว การรักหรือหวงแหนสถาบันกษัตริย์นั้น ไม่ใช่ สิทธิแต่เป็น วัฒนธรรมและวัฒนธรรมไม่สามารถที่จะอยู่เหนือสิทธิได้

เพราะในสังคมประชาธิปไตยจะต้องไม่มีอะไรมีอภิสิทธิ์เหนือสิทธิ เสรีภาพ แบบทั่วไป นี่คือหลักการ และหลักมีเพียงหลักเดียวคือ สิทธิ เสรีภาพ นั้นจะถูกจำกัดก็ในกรณีเพื่อไม่ให้ละเมิดตัวสิทธิ เสรีภาพเองเท่านั้น แต่ สิทธิที่จะรักและปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้นไม่ใช่สิทธิ เสรีภาพ ซึ่งในทางปรัชญาคือเป็นธรรมชาติ หมายความว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมเสรีภาพ และไม่สามารถที่จะให้ วัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างกำหนดขึ้นมา มาละเมิดสิทธิ เสรีภาพได้

สถาบันกษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่องค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสถาบันสาธารณะรูปแบบหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้หลักการทั่วไป คือสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ กฎหมายเพื่อรักษาเกียรติสถาบันกษัตริย์อาจจะมีได้ แต่ต้องมีโดยไม่ละเมิดหลักการที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่นั้น กลับตาลปัตร คือ ละเมิดสิทธิ เสรีภาพด้วยกฎหมาย 112 แล้วอ้างว่าการใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์นั้น ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ทั้งที่จริง ๆ แล้วนั่นไม่ใช่สิทธิ ไม่ใช่เสรีภาพ แต่เป็นวัฒนธรรมที่ไม่เท่าเทียมและก่อให้เกิดการละเมิดและกดขี่ นี่คือตรรกะวิบัติ และฝืนขัดกลไกของประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา เอาหลักประชาธิปไตยมาใช้แบบย้อนศร จำแลงสิ่งอื่นมาอ้างเป็นสิทธิ เสรีภาพ และทำให้ในที่สุดแล้ว สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายน้อยที่สุดไป


สถานการณ์ที่เป็นอยู่

สถานการณ์ปัจจุบัน

ในเรื่องการประกันตัว ปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล มีข้อสังเกตว่า ดุลยพินิจของศาลนี้ ขึ้นอยู่กับกรณี ที่ผ่านมาผมเห็นว่าศาลมีการปรับตัวอยู่บ้าง คือไม่ได้บังคับใช้กฎหมายทื่อ ๆ เหมือนก่อน แต่การปรับตัวนี้ เป็นการปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่?

ในคดีหลัง ๆ หลายคดี ศาลเริ่มมีการให้ประกันตัว ยกฟ้อง หรือรอลงอาญา เช่นในคดีของคุณบัณฑิตย์ อานียา ผมไม่ลงรายละเอียดของแต่ละคดีนะครับ แต่สังเกตว่าศาลจะยืดหยุ่น หรือผ่อนปรนในบางกรณี

คำถามสำคัญก็คือ การที่ศาลผ่อนปรนนั้น ศาลผ่อนปรนเพราะว่าศาลเริ่มมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือเห็นคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพของประชาชน หรือว่า เป็นการผ่อนปรนเนื่องจากเห็นว่าหากไม่ผ่อนปรน อาจก่อความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์?

ถ้าได้อ่านคำวินิจฉัยของแต่ละคดีที่ผ่านมาในระยะหลัง ย่อมจะเห็นได้ว่า ศาลยังไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติหรือความคิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ ยังขับเคลื่อนด้วยความคิดเดิมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่กล่าวไปตอนต้น และไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนความคิด ดังนั้น การผ่อนปรนในหลายกรณี จึงน่าจะมาจากความต้องการรักษาความคิดแบบเดิมให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น หรือให้มีการต่อต้านน้อยลง ให้เกิดผลกระทบน้อยลง ถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง มากกว่า

ผมเห็นว่าปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่อยู่เบื้องหลังความคิดที่ขับเคลื่อนคำพิพากษาในกรณี 112 คือ ค่านิยมของสังคม และโครงสร้างอำนาจ ซึ่งทั้งสองส่วนยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปจากจารีตถือกษัตริย์เป็นใหญ่ ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่เกิดขึ้นหากปัจจัยสำคัญทั้ง 2 ประการยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับกรณีของนักโทษการเมืองในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งไม่ใช่ 112 ปัจจัย 2 ประการก็คือ สภาพหรือสถานการณ์ของวิกฤตการเมือง หรือการต่อสู้ทางการเมือง และโครงสร้างอำนาจ นี่เป็นกรณีของนักโทษการเมืองที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองเท่านั้น หากถามต่อไปถึงกรณีของนักโทษที่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงอื่น ๆ เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ไม่เกี่ยวกับการเมือง) แบบเคสของชาวต่างประเทศบางคน กรณีเหล่านี้อาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ แม้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโครงสร้างอำนาจ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่านิยมและอุดมการณ์


ลักษณะของการต่อสู้คดี

การต่อสู้คดี 112 ทราบกันดีว่ามีอยู่สองทางคือ ยอม เพื่อจะติดคุกน้อย ๆ หรือได้รับการผ่อนผันเยอะ ๆ ออกมาเร็ว ๆ หรือสู้คดีเพื่อยืนยันอุดมการณ์ เป็นที่ชัดเจนว่าแนวทางแรกเป็นแนวทางหลักที่คนส่วนใหญ่เลือกและได้ผล ขณะที่แนวทางที่สองเป็นหนทางที่ยากลำบากแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นกรณีของดา ตอร์ปิโด หรือกรณีของคุณสมยศ

ปรากฏการณ์ดังที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวทีต่อสู้ในทางอุดมการณ์ของประชาชนกับอำนาจรัฐ ของการปกป้องสิทธิ เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยกับความมุ่งหมายที่ต่อต้านขัดฝืนประชาธิปไตย การเลือกทางที่สองจึงมีความสำคัญและพิเศษยิ่ง

นี่จึงเป็นลักษณะเฉพาะของกรณีคุณสมยศ เนื่องจากคุณสมยศเลือกที่จะสู้ และสู้ด้วยอุดมการณ์ และผมเชื่อว่าอีกฝั่งหนึ่งก็จะไม่ยอมอ่อนข้อให้ง่าย ๆ  หมายความว่าฝ่ายถือกษัตริย์นั้น ตระหนักดีถึงความแตกต่างของกรณีสมยศกับกรณีอื่น ๆ  และจะไม่มีวันยอมให้คุณสมยศเป็นฝ่ายชนะ เพราะนี่เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์และอุดมการณ์ และเป้าหมายของกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นคือ ความต้องการการศิโรราบ ต้องการให้คุณยอมจำนนให้กับอำนาจและความคิดความเชื่อของเขา

คดีของคุณสมยศจึงเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่คุณสมยศเอาตัวเข้าแลก เอาอิสรภาพของตนเข้าแลกกับการยืนยันอุดมการณ์ ที่ผ่านมาอาจจะมีคนอื่นเลือกต่อสู้เช่นเดียวกัน แต่เวลานี้เหลือคุณสมยศคนเดียว


การปฏิรูปและวิธีการของเจ้าไทย

ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน วิธีการต่อสู้ทางการเมืองของเจ้าไทยคือ ถ่วงเวลา หากยังไม่ชนะหรือได้ประโยชน์ก็จะใช้วิธีผัดไปเรื่อย เลื่อนเวลาออกไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด วิธีการแบบนี้ยังคงใช้อยู่ และใช้อยู่ในกรณี 112 ด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นการผัดผ่อน หรือการผ่อนปรน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เจตจำนองที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนกฎหมายหรือเปลี่ยนสำนึก

การปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้น หากอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้ทางการเมือง พูดอีกแบบก็คือ หากอำนาจการเมืองไม่มีความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง หากค่านิยมทางการเมืองไม่มีความเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก ก็จะไม่มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญามาตรา 112  แม้แต่การปฏิรูปการประกันตัวก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างมากศาลก็ใช้วิธีผ่อนปรนให้ในกรณีที่เห็นว่าอาจจะกระทบกับภาพลักษณ์ แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแท้จริงใด ๆ เกิดขึ้น
               

Comments