วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐวิบัติ







แดนเศรษฐศาสตร์ได้กลายเป็นดินแดนที่มีภูมิประเทศวกวนและสลับซับซ้อน จนกระทั่งคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ หรือถึงนักเศรษฐศาสตร์เองก็ยังหลงทางและไม่สามารถทำความเข้าใจกับดินแดนแห่งนี้ได้ทั้งหมด แม้แต่นักคิดคนสำคัญอย่างนอม ชอมสกี้ ก็ยังเคยกล่าวไว้เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจวิบัติโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ปะทุขึ้นเป็นครั้งแรกทำนองว่า ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกในเวลานี้คงมีแต่เพียงนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ไม่กี่คนในโลกที่จะเข้าใจมันได้

ทว่าระบบที่มีคนเพียงไม่กี่คนจะเข้าใจได้นี้คือระบบหลักหรือ ห้องเครื่องซึ่งทำให้โลกปัจจุบันหมุนไป กล่าวอีกแบบว่าสิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจนี้คือสิ่งที่มีผลกับชีวิตของเราในทุกระดับ หรือแม้แต่อาจจะบงการและกำกับชีวิตของเราในแต่ละวัน (ปัจจุบันมีใครสักกี่คนไม่ต้องไปธนาคารหรือไม่มีเงินฝากในธนาคาร) เอาเข้าจริงลำพังเพียงแค่การต้องใช้ เงินเป็นเครื่องดำรงชีวิตก็กล่าวได้ว่าถูกพัวพันโดยระบบแล้ว

เช่นนั้นเราจะไม่แสวงหาความเข้าใจฟ้าฝนความกดอากาศสูงต่ำมวลความหนาวร้อนที่เคลื่อนปะทะกันไปมาจนกระทั่งเกิดพายุเศรษฐกิจวิบัติซึ่งกำลังกระหน่ำเราอยู่ในภูมิประเทศแห่งนี้กันสักหน่อยหรือ

ช่วงปีที่ผ่านมามีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจออกมาไม่น้อย แต่มีอยู่สองเล่มที่จี้ไปตรงประเด็นเศรษฐกิจวิบัติตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมหรือวนเวียนอยู่กับน้ำเดิม ๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยนถ่ายประเภท เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจฉันจะทำอย่างไรหรือ วิกฤตคือโอกาส (ฉันจะฉกฉวยจากความฉิบหายได้อย่างไร)หรือ...ฯลฯ

เล่มแรกคือ วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยข้อเขียนสามชิ้นของ กอบศักดิ์ ภูตระกูล, สฤณี อาชวานันทกุล และปกป้อง จันวิทย์ ในที่นี้จะยกมากล่าวเฉพาะข้อเขียนของสฤณี นักการเงินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเขียนจำนวนไม่น้อยแล้ว เพราะเป็นข้อเขียนที่ว่ากันที่ปัญหาตรง ๆ แบบเลกเชอร์บนกระดานดำทีเดียว

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ซับไพรม์คุ้นหูอยู่บ่อย ๆ คำนี้เรียกเป็นภาษาไทยได้ง่าย ๆ ว่า หนี้ชั้นสองซับไพรม์ หรือวิกฤตซับไพรม์คือจำเลยตัวสำคัญในวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังดำเนินอยู่นี้ แต่มันคืออะไร?

สฤณีแจกแจงไว้อย่างละเอียดและเข้าใจง่ายพอสมควร วิกฤตซับไพรม์ (subprime) คือการที่ตลาดทุนที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นั้นเกิดพังลงมา วิกฤตนี้เกิดขึ้นที่อเมริกา พูดกันง่าย ๆ ภาษาชาวบ้านก็คือ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาแตก แต่ฟองสบู่นี้คืออะไร และมันแตกได้อย่างไร

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ หรือที่จะเรียกตรงนี้ว่าฟองสบู่บ้านนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยกระบวนการ แปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ปรกติเวลาเราซื้อบ้านซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง คนส่วนใหญ่ก็จะต้องกู้แบงก์เพราะไม่สามารถซื้อเงินสด หรือแม้แต่ในกรณีที่มีเงินสดเพียงพอก็ยังยินดีที่จะกู้แบงก์มากกว่าเพื่อเก็บเงินสดไว้สำหรับการทำธุรกิจหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เนื่องจากดอกเบี้ยซื้อบ้านนั้นถูกกว่าดอกเบี้ยเพื่อธุรกิจหรือเพื่อการบริโภคประเภทอื่น ในการกู้ยืมนี้แบงก์ก็จะยึดบ้านของเราไว้ หรือที่เรียกว่าการจำนอง จนกว่าเราจะทยอยจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจนหมด ความเป็นเจ้าของบ้านจึงจะกลับคืนมาสู่เรา ถ้ากระบวนการซื้อบ้านจบลงแค่นี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน และไม่มีฟองสบู่ แต่..

เมื่อมีเครื่องมือทางการเงินอย่าง การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ธนาคารก็เกิดขี้เกียจรอเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจากลูกหนี้เป็นยี่สิบสามสิบปี ก็เลยจัดการแปลงสินเชื่อบ้านนี้ให้เป็นหลักทรัพย์แล้วก็ขายเสียเพื่อจะได้เงินในทันที ซึ่งก็ทำให้เกิดตลาดทุนตัวใหม่ขึ้นซึ่งมีสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์และให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ปรากฏว่าตลาดนี้บูมมากและบูมอย่างต่อเนื่อง บรรดากองทุนใหญ่ ๆ ของโลกจึงพากันมาลงทุนกันเป็นการใหญ่ เมื่อมีการลงทุนก็มีความเสี่ยง คราวนี้บริษัทประกันก็เลยมาขอมีส่วนร่วมในตลาดที่รุ่งโรจน์นี้ด้วยโดยการขายประกันความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อนี้ค้ำประกัน

และเนื่องจากตลาดบูมมาก และสินเชื่อก็ให้ผลตอบแทนที่สูง เพราะราคาบ้านมีแต่ขึ้นกับขึ้น กระบวนเอาสินเชื่อมาเป็นหลักทรัพย์นี้จึงไม่ได้ทำกันชั้นเดียว แต่มีการจัดอันดับหลักทรัพย์ เป็นเอเอเอ บีบีบี อะไรต่อมิอะไร แล้วก็เอาหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อค้ำประกันมาค้ำประกันหลักทรัพย์อีกที และก็เอาหลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อค้ำประกันมาค้ำประกันหลักทรัพย์อีก เป็นทริปเปิลเลยทีเดียว

ฟองสบู่ขยายกลายเป็นบอลลูนยักษ์ขนาด 50 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐ หรือ 62 ล้านเท่าของฐานเงินของธนาคารกลางสหรัฐ โดยอลัน กรีนสแปนประธานธนาคารกลางของสหรัฐบอก (ก่อนลงจากตำแหน่ง) ว่าฟองสบู่นี้ไม่มีอะไรน่าวิตก ขณะที่ทั้งกองทุนทั้งธนาคารทั่วโลกต่างก็มาลงทุนกันในตลาดนี้กันอย่างสนุกสนาน แม้แต่ธนาคารในอเมริกาที่แปลงสินเชื่อของตัวเองขายเป็นหลักทรัพย์ไปแล้วก็ยังย้อนกลับมาลงทุนในหลักทรัพย์นี้อีกที

พอล ครุกแมน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า แชร์ลูกโซ่

พอล ครุกแมนคือนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้เขียนหนังสืออีกเล่มที่ผมจะแนะนำ หนังสือเล่มนี้ชื่อ เศรษฐวิบัติ แปลโดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ เป็นหนังสือที่พูดถึงเรื่องยากได้สนุกและเพลิดเพลินจนน่าประหลาด

ฟองสบู่แตกได้อย่างไร (ทำไมมันไม่พองไปเรื่อย ๆ?) ครุกแมนเรียกฟองสบู่นี้ว่าแชร์ลูกโซ่ เพื่อหมายความว่ามันจะพังทันทีที่หาคนใหม่มาเล่นด้วยไม่ได้ การที่ตลาดนี้บูมก็เพราะราคาบ้านขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าราคาบ้านยังขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะไม่มีใครขาดทุน (ถ้าหาคนใหม่ได้เรื่อย ๆ แชร์ลูกโซ่ก็ยังอยู่ได้) แต่ด้วยสาเหตุใดสักอย่างราคาบ้านก็ไม่ขึ้นอีกต่อไป และเมื่อมันตกลง สิ่งที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นก็คือ หนี้เสีย

ถ้าปีที่แล้วคุณซื้อบ้านมา 3,000,000 ผ่อนจนถึงปีนี้ยังเหลือเงินต้นเป็นหนี้แบงก์อยู่ 2,900,000 แต่ราคาบ้านตกลงมาเหลือ 2,600,000 ถามว่าคุณยังจะผ่อนต่ออีกไหม (ทิ้งบ้านหลังนี้ไปซื้อหลังใหม่ก็ยังเสียตังค์น้อยกว่า)

พอหนี้เสียคนก็เริ่มพากันแห่ถอนเงินออกจากตลาดทุนนี้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความวิบัติ กระนั้น..

ทำไมวิกฤตซับไพรม์จึงได้ส่งผลกระทบระเนระนาดจนกระทั่งเกือบจะทำให้ระบบการเงินของทั้งโลกแทบจะพังครืนลงมา ผมไม่สามารถจะเล่าต่อได้อีกแล้วแต่ผู้อ่านควรไปหาอ่านหนังสือของครุกแมนด้วยตนเองเพื่อรู้ว่า ระบบธนาคารเงา” “ตาข่ายกันภัยและ สหกรณ์เลี้ยงเด็กคืออะไร เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร และทำไม กระบวนการแห่ถอนเงินจึงก่อให้เกิดความพินาศขึ้นมาได้

พิมพ์ครั้งแรก IMAGE

Comments