ชู้เป็นของผู้ชาย กิ๊กเป็นของผู้หญิง



ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายผู้หญิงในสังคมเป็นสิ่งซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กิ๊กเป็นสถานะที่บ่งบอกความสัมพันธ์แบบใหม่ของผู้ชายและผู้หญิง น่าสงสัยว่าความสัมพันธ์ที่เรียกว่ากิ๊กนี้ดำรงอยู่ในสังคมก่อนที่จะมีคำว่า "กิ๊ก" หรือไม่

ในสังคมเมืองที่มนุษย์มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ผู้คนต้องใช้ชีวิตในหลากหลายพื้นที่ เริ่มต้นจากที่บ้าน คนต้องอยู่ร่วมกับครอบครัว เมื่อออกจากบ้านไปที่ทำงานก็เข้าไปสู่อีกสังคม นอกจากนั้น กีฬา งานอดิเรก ความสนใจอื่น ๆ รวมถึงพื้นที่สมมุติอย่างชุมชนบนคลื่นวิทยุ จ.ส.100 หรือชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ ในไซเบอร์สเปซล้วนเป็นสิ่งที่นำผู้คนไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ มากมาย

ตัวตนของมนุษย์นั้น สัมพันธ์อยู่กับพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่ออยู่ในพื้นที่หนึ่งสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ย่อมมีส่วนในการเปิดเผยตัวตนของคนในแบบหนึ่ง ๆ  คนเมื่อออกจากบ้านอาจเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อไปอยู่ที่ทำงาน และก็อาจจะเปลี่ยนไปอีกเมื่อไปอยู่ในสนามกอล์ฟ และก็อาจเปลี่ยนไปอีกเมื่อไปสู่พื้นที่อื่น ๆ  พื้นที่และกิจกรรมที่หลากหลายในเมืองจึงมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้คน ๆ หนึ่งมีตัวตนมากกว่าหนึ่ง

ความสัมพันธ์ชู้สาวของชายหญิงในสำนักงานเป็นเรื่องปรกติธรรมดาในสังคมเมือง เนื่องจากตัวตนที่หลากหลายของผู้คนทำให้ความรักหรือครอบครัวยากที่จะตอบสนองตัวตนทั้งหมดของคน ๆ หนึ่ง การแสวงหาความพึงพอใจของตัวตนที่เพิ่มขึ้นจึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ชู้สาวในพื้นที่อื่น ๆ  สภาพนี้เองที่ความสัมพันธ์ชายหญิงแบบใหม่ ๆ ที่คำนิยามเก่า ๆ อย่างคำว่า "ชู้" ไม่อาจอธิบาย  คำว่า "กิ๊ก" จึงถือกำเนิดขึ้น

ชู้ เป็นสถานะที่บ่งบอกความสัมพันธ์ของชายหญิงในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ การจะเรียกความสัมพันธ์ใดว่าชู้นั้น สังคมมักจะใช้ผู้หญิงเป็นตัวตั้ง กล่าวคือ ถ้าผู้หญิงมีสามี (เจ้าของ) อยู่แล้ว และไปมีความสัมพันธ์อื่น สังคมก็จะบอกว่ามีชู้ (ขณะที่ถ้าเป็นผู้ชาย สังคมจะเรียกว่ามีเมียน้อย มีบ้านเล็กบ้านน้อย มีเด็ก หรืออะไรทำนองนี้) ดังนั้น ชู้ จึงสะท้อนถึงความเป็นใหญ่ของผู้ชายและผู้หญิงเป็นวัตถุที่ถูกครอบครอง

แต่คำว่า กิ๊ก กลับให้ภาพที่แตกต่างออกไป ข้อสังเกตหนึ่งคือ คำว่ากิ๊กนั้นสะท้อนลักษณะที่ผู้ชายเป็นตัวเลือกของผู้หญิงมากกว่าที่ผู้หญิงจะไปเป็นตัวเลือกของผู้ชาย และคำว่ากิ๊กก็ใช้เรียกผู้ชายมากกว่าจะเรียกผู้หญิง (ก่อนหน้านี้ผู้ชายมักจะเรียกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ว่า เด็ก "เด็กกู" "เด็กผม" อะไรอย่างนี้)

กิ๊กอธิบายตัวเองว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศเป็นพื้นฐาน เนื่องจากกิ๊กรวมเอากิจกรรมอื่น ๆ (ที่ตอบสนองตัวตน) อันไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ และการที่ความสัมพันธ์ทางเพศจะเกิดขึ้นไปถึงระดับไหน (ตั้งแต่จับมือจนถึงมีเซ็ก) ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนด

ดังนั้นกิ๊กจึงเป็นวาทกรรมของผู้หญิงโดยแท้ เป็นสถานะที่นำเอาระดับของความสัมพันธ์ทางเพศมาเป็นเครื่องต่อรองกับผู้ชาย (เช่น ถ้าฝ่ายชายทำให้ฝ่ายหญิงพึงพอใจ จากยอมให้จับมืออาจจะขยับมายอมให้โอบไหล่) ซึ่งนอกจากผู้หญิงจะต่อรองอำนาจกับชายที่เป็นคู่กิ๊กของตนแล้ว ผู้หญิงยังอาจจะใช้กิ๊กเป็นเครื่องต่อรองกับคนรัก (ตัวจริง) ของเธอด้วย

เนื่องจากตัวตนที่หลากหลายขึ้นทำให้แม้แต่ความรักก็ไม่สามารถสนองตัวตนทั้งหมดได้ ฉะนั้น เมื่อผู้หญิงไม่สามารถเรียกร้องทุกสิ่งที่เธอต้องการได้จากผู้ชายคนเดียว เธอจึงเลือกที่จะไปแสวงหาเอาจากการมีกิ๊ก และใช้กิ๊กเป็นเครื่องต่อรองความต้องการของเธอ ทั้งจากชายที่เป็นคนรัก และเป็นกิ๊ก  ข้อสังเกตที่สอง การใช้กิ๊กในการต่อรองนี้ จำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องมีแฟนหรือคนรักอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้สถานะของ แฟน หรือ คนรัก เข้ามาจำกัดอำนาจของผู้ชายที่จะเป็นกิ๊กไม่ให้มาครอบครอง หรือมีอำนาจเหนือเธอได้ ("ฉันมีแฟนอยู่แล้วนะ" "เธอเป็นแค่กิ๊ก" "เธอไม่ใช่เจ้าของฉัน") ขณะเดียวกันเธอก็ยังสามารถเอาสถานะของกิ๊กไปต่อรองกับผู้ที่ชายที่มีอำนาจเหนือเธอหรือครอบครองเธออยู่ ("ถ้าเธอมีชู้ฉันจะมีกิ๊กนะ") หรืออย่างน้อยก็ใช้เป็นเครื่องชดเชยความบกพร่องของแฟนหรือคนรัก

กิ๊กจึงเป็นสถานะที่เข้ากับความเป็นผู้หญิงไทยหรือผู้หญิงตะวันออกอย่างยิ่ง เนื่องจากในความสัมพันธ์ที่เรียกว่ากิ๊ก แม้จะมีความสัมพันธ์ทางเพศเข้ามาเกี่ยว แต่ก็ถูกอำพรางอยู่อย่างแนบเนียนด้วยกิจกรรมอื่น  และในสังคมไทยที่ผู้หญิงถูกบังคับให้ไม่สามารถแสดงออกในเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งนี้ กิ๊กจึงเป็นสถานะที่สร้างขึ้นโดยผู้หญิงไทย เพื่อเธอจะสามารถสลัดตัวเองออกจากการกดขี่ของคำว่า "ชู้" และใช้คำว่า "กิ๊ก" ขึ้นมาต่อรองกับผู้ชาย

เมื่อเขามีชู้ เธอจึงมีกิ๊ก เพื่อต่อรองอำนาจจากเขา เพราะนี่คือโลกของเธอ โลกที่ผู้ชายไม่ใช่จ้าวโลกอีกต่อไป

พิมพ์ครั้งแรก อิมเมจ กรกฎาคม 2547


Comments