ถนนชีวิต...ถนนมิเกล และ ถนนจระเข้









ถนนชีวิตถนนมิเกล ไม่ได้ทำสิ่งที่นอกเหนือไปกว่าวรรณกรรมรุ่นพี่อย่าง ตอติย่าแฟลต (จอห์น สไตล์เบ็ก) ถนนยาสูบ (เออสกิน คอนเวล)  หรือวรรณกรรมไทยอย่าง เสเพลบอยชาวไร่ (รงค์ วงษ์สวรรค์) ช่างสำราญ (เดือนวาด พิมวนา) และอื่น ๆ อีกมากมาย

วรรณกรรมกลุ่มนี้มีลักษณะอย่างหัสคดี คือเป็นเรื่องชุด ตัวละครชุดหนึ่งโลดแล่นอยู่บนพื้นที่ที่แน่นอนพื้นที่หนึ่ง การเล่าเรื่องแบ่งเป็นตอน ๆ  แต่ละตอนอาจจะเป็นเหตุการณ์หนึ่ง ๆ หรือเรื่องราวของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง แต่ตัวละครหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏเหล่านั้นจะต้องผูกพันหรือสัมพันธ์กับสถานที่หลักในเรื่อง

มุมมองที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมประเภทนี้มักจะเป็นมุมมองแบบ คนข้างบ้านและด้วยมุมมองแบบคนข้างบ้าน หรือคนในถิ่นเดียวกันนี้เองจะสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่อยู่นอกเหนือไปจากตัวตนโดด ๆ ของคนคนหนึ่ง

มุมมองแบบคนข้างบ้านนั้นมีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยสาระที่อยู่ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอื่นรอบตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ตำแหน่งแห่งที่ของคนบนพื้นที่หนึ่ง ๆ  หรือกระทั่งอิทธิพลของพื้นที่ที่เข้าหล่อหลอมตัวตนของคน

วรรณกรรมในเรื่องชุดและมุมมองแบบคนข้างบ้าน จึงเป็นโครงสร้างที่ทรงพลังในการเปิดเผยให้เห็นเนื้อหาและสรีระของพื้นที่  พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่ง บ้านสักหลัง ถนนสักเส้น ตรอกสักตรอก แฟลตสักตึก หมู่บ้านสักแห่ง ตำบลสักที่ พื้นที่เหล่านั้น พื้นที่ที่ดูคล้ายหยุดนิ่ง พื้นที่ที่เหมือนดังห่างไกลจากความเคลื่อนไหวภายนอก แท้แล้วเมื่อขยายส่องดูจะเห็นความอึงคะนึง แต่สีสันเหล่านั้น ความเคลื่อนไหวเหล่านั้น ทั้งหมดกระโดดโลดเต้นกันอยู่บนความนิ่ง ความนิ่งของพื้นที่ที่แน่นอน เสมือนโลกเล็ก ๆ  โลกใบนี้คือทั้งตัวละคร ถนน บ้าน เหตุการณ์ และสิ่งต่าง ๆ

เรื่องราวจึงมักจบลงพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวละคร

ไม่จำเป็นที่จะต้องยกถ้อยคำวิลิศมาหรามาสนับสนุนวรรณกรรมประเภทนี้ เพราะข้อเด่นของมันเป็นที่รู้กันมาช้านานแล้ว เรื่องชุดเหล่านี้โดยมากจะสามารถอ่านแยกเป็นตอน ๆ ได้รสแบบเรื่องสั้น หรือจะอ่านต่อเนื่องกันไปจนจบก็ได้รสแบบนิยาย หาได้เป็นสิ่งประหลาดชวนตื่นเต้นอันใดในทางวรรณกรรม

สิ่งที่แตกต่างใน ถนนมิเกลถนนชีวิต คือการคุมน้ำเสียงให้คงที่ ปล่อยให้เหตุการณ์และเรื่องราวคลี่คลายออกมาเอง ทำให้ผู้อ่านและตัวเรื่องได้สัมผัสสัมพันธ์กันเต็มไม้เต็มมือ เต็มมุมมอง โดยไม่ถูกรบกวนจากน้ำเสียง

น้ำเสียงและมุมมองนี้เองที่ทำให้ ถนนมิเกลถนนชีวิต มีความแตกต่างจาก ถนนจระเข้

ดูเหมือน ถนนจระเข้ จะให้มุมมองแบบคนข้างบ้านน้อยมาก หากกลับมีเสียงเล่าอย่างกระแสสำนึก มีการพรรณนาอันยืดย้วยระยาด และมักจะเลือกมองอะไรที่ดูไม่น่าสนใจเอาเสียเลย สิ่งนี้ทำให้ ถนนจระเข้ อ่านยากกว่า น่าเบื่อ และไม่สนุกเหมือน ถนนมิเกลฯ

แต่ด้วยการใช้มุมมองปัจเจกนิยม และการเล่าอย่างกระแสสำนึก ทำให้เรื่องมีความลึกและให้รสที่แปลก เมื่ออ่านแล้วจะรู้สึกได้ถึงพลังที่ประหลาดพุ่งพวยออกมาจากถนนเส้นนี้ ต่างจากถนนมิเกล

ในขณะที่ถนนมิเกลดูสนุกสนานและขบขัน ถนนจระเข้กลับดูทึบทึมและหดหู่ แม้แต่อารมณ์ขันก็ยังเป็นอารมณ์ขันที่ชวนหดหู่ ห่อเหี่ยว ในขณะที่ถนนมิเกลดูซุกซน ผจญภัย ถนนจระเข้กลับเงียบเชียบ เวิ้งว้าง  ภาษาและน้ำเสียงในถนนจระเข้เป็นภาษาที่ละเอียดละออ และน่าทึ่ง ราวกับเป็นการละเมอเพ้อขึ้นมาเองของสิ่งของและสถานที่

สำหรับผู้อ่าน ถนนมิเกลถนนชีวิตเป็นหนังสือที่ชวนอ่าน สนุกสนาน และรื่นรมย์กว่า แต่สำหรับความน่าสนใจทางวรรณกรรม ถนนจระเข้นั้นเย้ายวนกว่า

พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน

Comments