จดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีเกียรติในรายการตอบโจทย์เรื่อง accountability ของบุคคลในสถาบันกษัตริย์



เรียนคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, คุณอานันท์ ปันยารชุน, อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์พนัศ ทัศนียานนท์ และอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ และผู้ที่มีความห่วงใยต่อกรณีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยความนับถือ

ต่อประเด็นเรื่อง แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า คดีนายอำพลที่เกิดขึ้นล่าสุดอาจเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหายุ่งยาก และมีความลึกซึ้ง นอกจากส่วนที่ท่านทั้งหลายได้อภิปรายสนทนากันบ้างแล้ว จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาหาหนทางในการอภิปรายให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างถูกต้องตรงประเด็นที่สุด ดังความที่จะพรรณนาต่อไปนี้

The King can do wrong เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ล้อหลักการเกี่ยวกับกษัตริย์ที่กล่าวว่า The King can do no wrong

หลักการ The King can do no wrong นั้นเป็นหลักการทางการเมืองอันเกี่ยวกับ accountability (ความรับผิดชอบ) ของกษัตริย์ในทางการเมือง หลักการนี้ไม่ได้หมายถึงว่า กษัตริย์ทำอะไรก็ไม่ผิด หากแต่หมายถึง กษัตริย์ ไม่สามารถจะทำผิดได้  เหตุเพราะกษัตริย์ไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยตัวเอง หากแต่ใช้อำนาจนั้นผ่านสถาบันทางการเมืองอื่นที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น สภาผู้แทนราษฎร์ หรือคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ด้วยเหตุนี้ การใช้อำนาจทางการเมืองของกษัตริย์จึงต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ เพราะกษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกระทำโดยตัวเอง กษัตริย์จึงไม่มี accountability หรือ ความรับผิดทางการเมือง

The King can do wrong นั้นเป็นการล้อหลักการดังกล่าว ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามว่า ถ้าหากกษัตริย์กระทำผิดหรือใช้อำนาจนอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการ ความรับผิดจะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นผู้พิจารณาความผิดของกษัตริย์ กรณีดังกล่าวสามารถจะเปรียบเทียบได้กับการกระทำผิดทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่อย่างไร

ความไม่เป็นธรรมสองประเด็นอันเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในคดีอากงนั้นอยู่ในข้อความเอสเอ็มเอสที่ถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำผิด

ประเด็นแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือความผิดสัดส่วนกันของการลงโทษและการกระทำผิด เนื่องจากข้อความในเอสเอ็มเอสเป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้น อีกทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่าเป็นตัวหนังสือที่เกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือของบุคคลเพียงคนเดียว

ไม่ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นการจาบจ้วงหมิ่นประมาทหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพร้ายแรงเพียงใด โดยภาวะวิสัยของการกระทำแล้ว ก็เป็นเพียงการส่งตัวหนังสือให้อ่านเท่านั้น และเป็นการกระทำต่อบุคคลเพียงคนเดียว

โทษจำคุก 20 ปี กับพฤติการณ์กระทำผิดดังที่กล่าวมา ถือได้ว่าผิดสัดส่วนกันอย่างหาเหตุผลไม่ได้ จนกระทั่งยากที่จะเชื่อว่าเป็นคำตัดสินที่ออกมาจากดุลยพินิจของผู้ที่มีจิตใจ จิตสำนึกอันเป็นสามัญปรกติเช่นผู้คนโดยทั่วไป หรือออกมาจากเงื่อนไขของการตัดสินคดีโดยปรกติทั่วไป

เหตุใดจึงมีคำตัดสินคดีออกมาอย่างผิดสามัญเช่นนี้ มีความจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นที่สอง

ประเด็นที่สองคือ ตัวข้อความตามฟ้องนั้นว่าเป็นการจาบจ้วง หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์อย่างหยาบคาย โดยการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9, 11, 12, 22 พฤษภาคม 2553

วันที่ 4 สิงหาคม 2553 ในการเข้าจับกุมนายอำพล ทั้งตำรวจและสื่อมวลชนต่างระบุว่านายอำพลเป็น แดงฮาร์ดคอร์และมีความเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แม้ว่าในคำพิพากษาจะไม่มีการระบุว่าจำเลยมีความเชื่อมโยงทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่ในการรายงานข่าวของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ทีนิวส์ และขบวนการเคลื่อนไหวที่กล่าวอ้างการปกป้องราชบัลลังก์ยังคงกล่าวหาว่านายอำพลเป็น แดงฮาร์ดคอร์ปากน้ำอยู่ในปัจจุบัน เช่นบทความของเว็บไซต์ผู้จัดการซึ่งวิจารณ์บทความของภิญโญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม*

ถึงแม้การกล่าวหาดังกล่าวจะไม่เป็นความจริง ไม่มีระบุในการอ่านคำพิพากษา และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นความเชื่อมโยงทางการเมืองดังกล่าว แต่ประเด็นว่า ข้อความในเอสเอ็มเอสมีความเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมือง ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะช่วงเวลาของการกระทำความผิด ซึ่งเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่มีความแหลมคมทางการเมืองอย่างสูงในปี 2553 เป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ประกาศวันยุบสภา และแกนนำ นปช. ประกาศยอมรับและจะยอมยุติการชุมนุม ก่อนที่จะเกิดความอลหม่านอันไม่แน่ชัดจนทำให้การยุติการชุมนุมโดยสงบและสันติต้องล้มเหลวไป และเกิดเหตุการณ์นองเลือดรุนแรงเป็นเวลากว่าหนึ่งอาทิตย์

ข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นประจักษ์พยานแวดล้อมต่อ ข้อความเอสเอ็มเอสที่เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าว มีเหตุการณ์สำคัญควรพิจารณาตามลำดับดังต่อไปนี้

วันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 21.15 น. นายอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรีประกาศแผนการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสร้างความปรองดอง และประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน

ฝ่าย นปช.แถลงตอบรับโรดแม๊ปของนายกรัฐมนตรี และขอให้ระบุวันยุบสภาที่ชัดเจน

ระหว่างที่ยังมีการถกเถียงกันในประเด็นว่า จำเป็นต้องกำหนดวันที่ในการยุบสภาที่ชัดเจนหรือไม่ โดยฝ่าย นปช. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กำหนดวันที่ที่ชัดเจน ขณะที่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิและพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การกำหนดวันที่ที่ชัดเจนอาจคลาดเคลื่อน จึงขอกำหนดวันเลือกตั้งแทน เพื่อให้วันที่ยุบสภาอยู่ในระหว่างครึ่งหลังของเดือนกันยายน  ระหว่างที่ยังทำการตกลงในประเด็นนี้ไม่ได้ในวันที่ 7 พฤษภาคม ก็เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่หน้าธนาคารกรุงไทย ใกล้แยกศาลาแดง และที่หน้าสวนลุมพินี จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ประชุมแกนนำ นปช. แถลงมีมติเอกฉันท์ตอบรับเข้าสู่แผนปรองดอง ยอมรับกำหนดวันยุบสภาระหว่างวันที่ 1530 กันยายน โดย แกนนำ นปช.จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มอบตัวกับตำรวจตามหมายจับเพื่อสู้คดี และให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน ในกรณี 10 เมษายน

หลังจากนั้นมีการถกเถียงและเกี่ยงงอนกันเรื่องการเข้ามอบตัวของนายสุเทพที่ดีเอสไอ ว่าถือเป็นการมอบตัวอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ โดยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ วันที่ 12 พฤษภาคม นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุระบุว่านายอภิสิทธิ์ตัดสินใจยกเลิกแนวทางปรองดอง เนื่องจากฝ่ายแกนนำ นปช. ไม่ยอมยุติการชุมนุม

วันที่ 13 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้สัมภาษณ์แสดงความชัดเจนว่ายกเลิกเงื่อนไขวันเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน เนื่องจากกลุ่ม นปช. ไม่ยอมยุติการชุมนุม ประกาศให้เอกชนหยุดงานในวันที่ 14 พฤษภาคม และเริ่มปฏิบัติการ กระชับพื้นที่

วันเดียวกัน เวลา 18.30 น. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกถูกลอบสังหารระหว่างให้สัมภาษณ์โธมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ในพื้นที่ชุมนุมบริเวณทางลงรถไฟฟ้าใต้ดิน ตรงข้ามหัวถนนสีลม

จากเหตุการณ์ทางการเมืองแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า การส่งเอสเอ็มเอส 3 ครั้งแรก คือวันที่ 9, 11 และ 12 พฤษภาคม 2553 นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญคือ ช่วงที่มีการประกาศวันเลือกตั้ง มีการหารือเพื่อยุติการชุมนุม และมีคนร้ายยิงระเบิด ก่อนที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์จะประกาศยกเลิกแผนปรองดอง  และการส่งเอสเอ็มเอสครั้งที่ 4 นั้น เกิดขึ้น หลังจากสิ้นสุดเหตุการณ์ล้อมปราบ หรือตามที่มีประกาศว่า กระชับพื้นที่เพียง 2 วัน

ดังที่ข้าพเจ้าใด้เขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความ ภูเขาน้ำแข็งของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และการเปลี่ยนรัชกาลของราชวงศ์จักรี” **  ว่าปัญหายุ่งยากลำบากใจประการหนึ่ง อันเนื่องมาจากการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็คือ การที่มีการกล่าวอ้างการสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งที่ผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมายจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การอ้างดังกล่าวนั้น มีความจริงเท็จแค่ไหนอย่างไร และมีบทบาทเพียงใดในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา อันเนื่องจากกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นอุปสรรคทำให้การอภิปรายข้อเท็จจริงหรือการพิสูจน์ในประเด็นเหล่านั้น ไม่สามารถกระทำได้

ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาทางการเมืองในคดีอากง และปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ในกรณีนี้ จึงคือ โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า มีการส่งข้อความจาบจ้วง หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์อย่างหยาบคายนี้ เกิดขึ้นในบริบทและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อนอันเป็นเหตุการณ์ขัดแย้งสืบเนื่อง ซึ่งหลายช่วงเหตุการณ์บุคคลในสถาบันกษัตริย์และตัวสถาบันกษัตริย์ได้ถูกกล่าวอ้างโดยผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง (เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ) ว่ามีส่วนร่วมสนับสนุน และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่อย่างไร

ดังนั้น การพิจารณาความผิดของผู้ส่งข้อความ และการพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวเป็นการกระทำผิด ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเงื่อนไขทางการเมืองประกอบด้วย

ในเมื่อยังไม่สามารถจะทำให้ข้อเท็จจริงของการกล่าวอ้างการสนับสนุนจากพระราชินีและสถาบันกษัตริย์ นั้น เป็นที่ประจักษ์ได้ว่าถูกผิดอย่างไร

ในเมื่อยังไม่มีโครงสร้างกฎหมาย และโครงสร้างประเพณีรองรับว่า ในกรณีที่ The king do wrong นั้น จะต้องทำอย่างไร และใครจะเป็นผู้พิจารณาความผิด

การตัดสินลงโทษประชาชนอย่างรุนแรงในเงื่อนไขดังที่กล่าวมาทั้งหมด หรือการคงโครงสร้างกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้เช่นดิม โดยแก้ไขเพียงแค่การลดโทษนั้น จะไม่แก้ปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะทำให้ปัญหาที่แท้จริงถูกกลบเกลื่อนให้คลุมเครือ และยากต่อการแก้ไขยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาควบคู่กับการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112  ตามทำนองของเรื่องที่ปรากฏดังที่ได้อภิปรายไปแล้วนี้ คือ จะต้องปฏิรูปให้สามารถอภิปรายในกรณีที่บุคคลในสถาบันกษัตริย์อาจจะละเมิดสถาบันกษัตริย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยใช้อำนาจในลักษณะที่ขาดจาก accountability กล่าวคือ ไม่เชื่อมโยงกับสถาบันการเมืองอื่นที่ต้องมีหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการในเรื่องนั้น ๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องถือว่าเป็นการละเมิดสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยก็ทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเสื่อมเกียรติ

และจะต้องมีการวางโครงสร้างทางกฎหมายที่ชอบธรรม โดยกระบวนการที่ชอบธรรมผ่านรัฐสภา เพื่อกำหนดว่าหากเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวขึ้นแล้ว จะแก้ปัญหานี้ในกรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างไร

*กรุณาดู http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157143
** กรุณาดู http://www.facebook.com/note.php?note_id=194195247337307


Comments