ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน






หนังสือ ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น  95 ปี 4 เดือน 9 วัน เป็นเรื่องราวชีวิตของพูนศุข พนมยงค์ ประกอบไปด้วย 4 ส่วน  ส่วนแรกเป็นภาพถ่าย จัดหมวดหมู่ตามรอบนักษัตรได้ 8 รอบ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งละสังขาร  ส่วนที่ 2  เป็นข้อเขียนและบันทึกที่พูนศุขเขียนไว้ในวาระต่าง ๆ  จัดลำดับตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต  ส่วนที่ 3  รวบรวมบทสัมภาษณ์ สุนทรพจน์ และสารที่เธอได้กล่าวไว้ตามโอกาสต่าง ๆ  ส่วนทุดท้ายเป็นจดหมายจากปรีดี พนมยงค์เขียนถึงเธอ

คำว่า ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น  ของชื่อหนังสือมาจากข้อหนึ่งในพินัยกรรมของพูนศุข ส่วน 95 ปี 4 เดือน 9 วันนั้นก็คืออายุของเธอจนถึงวันสิ้นอายุขัย (12 พฤษภาคม 2550) นั่นเอง

พูนศุข พนมยงค์เป็นภรรยาของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรผู้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเป็นผู้ที่กล่าวกันว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นผู้ร่างรายละเอียดทางกฎหมายและวิธีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเขียนเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ให้กับคณะรัฐบาลจนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต้องออกไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส กระทั่งสามเดือนถัดมาจึงได้รับการเรียกตัวให้กลับมาร่วมบริหารประเทศ

ปรีดี พนมยงค์เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีส่วนในเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง  เป็นรัฐบุรุษและผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8  ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย  ถูกรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ  พยามยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลเผด็จการทหารในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 (กรณีกบฏวังหลวง) แต่ประสบความล้มเหลว ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนราว 21 ปี ก่อนจะย้ายไปพำนักที่ฝรั่งเศสจนถึงแก่กรรมที่นั่น  ชีวิตของปรีดีเป็นชีวิตของนักการเมืองที่มีความผันผวนสูง และต้องระหกระเหินหลายครั้งหลายครา พัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองจนเป็นอันตรายแก่ชีวิต  ชีวิตของพูนศุขเป็นชีวิตของภรรยาที่ผูกพันกับสามี จึงต้องประสบกับมรสุมชีวิตดังที่พระพรหมคุณากรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ใน ลิขิตชีวิต ลิขิตประสบการณ์ว่า

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ ในฐานะภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น  แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว อย่างน้อยในกระแสแห่งความผันผวนปรวนแปรของเหตุการณ์บ้านเมือง ที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข ถูกกระทบกระแทกอย่างหนักหน่วงรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิง รู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก

พูนศุข พนมยงค์เกิดเมื่อปี 2455 ในครอบครัวเสนาบดีในรัชกาลที่ 6  ชื่อ พูนศุขนี้ได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่ออายุราว 6 ขวบครอบครัวย้ายจากสมุทรปราการเข้ามากรุงเทพมาหานคร เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนแวนต์ เรียนจนถึงชั้น standard 7 จึงแต่งงานกับปรีดี พนมยงค์ ในปี 2471  มีส่วนช่วยสามีในการดำเนินกิจการโรงพิมพ์ นิติสาส์น จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองนายปรีดีจึงยกโรงพิมพ์นี้ให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หลังจากแต่งงานกับปรีดีเธอสมัครเรียนภาษาฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศสร่วมชั้นเรียนกับ จำกัด พลางกูร และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะในขบวนการเสรีไทย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พูนศุขเป็นหนึ่งในเสรีไทย มีบทบาทหน้าที่หลายอย่างในการช่วยงานปรีดีซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการ ซึ่งเธอก็ได้เล่าช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานระหว่างสงครามโลกไว้หลายบทหลายตอนในหนังสือเล่มนี้ เช่น อยู่มาวันหนึ่ง นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็มาเซ็นชื่อเยี่ยมที่ทำเนียบของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ แล้วก็เดินเข้ามาที่ศาลาริมน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่พวกเสรีไทยใช้เป็นที่ทำงาน โตโจคงอยากเห็นส่วนที่เราอยู่หมด น่ากลัวเหมือนกัน แต่โชคดีที่พวกญี่ปุ่นคงไม่ระแคะระคาย ส่วนฉันตอนนั้นก็ช่วยทำทุกอย่าง ช่วยนายปรีดีฟังข่าวติดตามสถานการณ์ต่างประเทศจากวิทยุ...

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพูนศุขที่เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือวันที่ทหารนำรถถังยิงเข้าใส่ทำเนียบท่าช้างซึ่งบันทึกไว้ในข้อเขียน รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 

พลันได้ยินเสียงปืนกลจากรถถังยิงรัวใส่ตัวตึก ข้าพเจ้าไม่มีเวลาถามต่อไปว่า ท่านไปไหน? ไปกับใคร?’ รีบกลับไปห้องนอนของลูก ๆ ที่ชั้น 3 เรียกลูก ๆ มารวมกันในห้องนอนทิศเหนือด้านริมน้ำ เผอิญวันนั้น พรพงา (ซูซาน) สิงหเสนี มาค้างที่บ้านด้วย เธอเป็นบุตรสาวของหลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) เพื่อนร่วมก่อการ 2475  ของนายปรีดี

“ ‘อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็กข้าพเจ้าตะโกนร้องสวนเสียงปืนกล

และสองปีหลังจากนั้น เมื่อปรีดี พนมยงค์พยายามยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลทหารแต่ประสบความล้มเหลวในกรณีกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492  พูนศุขก็ได้กลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนช่วยนายปรีดีซึ่งกำลังถูกตามล่าหลบหนีออกนอกประเทศ

“...ตอนกลับจากเยี่ยมนายปรีดีที่บ้านสวนฉางเกลือ คุณอุดรนั่งเรือจ้างมาส่งข้าพเจ้าที่ท่าเรือสาทร ใกล้ฟ้าสาง รถรางบนถนนสีลมออกเดินรถแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจวัตรประจำวันแต่เช้ามืด ข้าพเจ้าเดินจากบางรักผ่านป่าช้ากวางตุ้ง ป่าช้าสารสิน ป่าช้าซาเวียร์และป่าช้าคาทอลิก เพียงคนเดียว กลับมาถึงบ้านป้อมเพชร์ (ปัจจุบันได้ถูกเวนคืนเป็นช่วงหนึ่งของถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และอาคาร I.T.F.) ก่อนที่คนในบ้านจะตื่น

และในช่วงวิกฤตสำคัญถึงชีวิตที่ปรีดีต้องระเหเร่ร่อนเพื่อหลบซ่อนนี้เองที่พูนศุขในฐานะภรรยาได้อยู่ในมุมมองที่เห็นนายปรีดีในมุมที่คนนอกไม่เคยได้เห็น ซึ่งเธอเล่าไว้ในรายการ นี่แหละชีวิต ของ เสถียรธรรมสถาน ว่า เข้ามาทำขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภา ประสบความล้มเหลว ผู้คนที่ร่วมด้วย บางคนก็ไม่ได้ร่วมด้วย เขาเอาไปฆ่ากันตั้งหลายคน พอนายปรีดีทราบข่าวก็ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ เพราะทำให้เพื่อนฝูงต้องเสียชีวิตไป ก็อยากจะตาย ไม่อยากจะอยู่ ฉันก็ห้าม บอกว่า อย่านะเธอ การตายคือความพ่ายแพ้ ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป เตือนสติไว้ครั้งสุดท้ายที่พบกัน ก่อนจะจากกันไปอีก 5 ปี

หลังจากกรณีกบฏวังหลวงซึ่งปรีดี พนมยงค์ทำการไม่สำเร็จต้องหลบหนีไปยังประเทศจีน ส่งผลให้ปรีดีและพูนศุขต้องพลัดพรากกันถึง 5 ปี  และในระหว่าง 5 ปีที่จากกันไปอย่างไม่รู้ว่าจะได้เห็นหน้ากันอีกหรือไม่นี้เอง มรสุมอีกลูกก็โหมพัดเข้าใส่ชีวิตเมื่อเธอและ ปาล พนมยงค์ ลูกชายถูกจับในกรณี กบฏสันติภาพซึ่งภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่เธอถูกคุมตัวไปขังก็คือภาพที่ใช้เป็นภาพปกหนังสือเล่มนี้ จะเห็นได้ว่าเธอเดินเชิดหน้าอย่างทระนงขณะถูกกุมตัว

กล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งของชีวิตพูนศุข พนมยงค์คือประวัติศาสตร์ชาติไทย และส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยคือชีวิตของเธอ เป็นสองสิ่งที่แยกกันไม่ออก โดยที่เธอก็ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ หรือบทบาททางการเมืองโดยตรง  นอกจากเรื่องราวชีวิตผันผวนอันพัวพันกับการเมืองแล้ว ยังมีข้อเขียนอื่น ๆ ที่บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยในอดีต เช่น วัฒนธรรมสงกรานต์แต่เดิมที่เรียกตรุษสงกรานต์ และเนื่องจากพำนักอยู่ถนนสีลมตั้งแต่เด็กดังที่เธอกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นชาวสีลมเต็มตัวในช่วง พ.ศ. 2465พ.ศ. 2485  หรืออีกนัยหนึ่ง อยู่ถนนสายนี้มาตั้งแต่ 11 ขวบจนถึงอายุ 30 ปี และอีกช่วงหนึ่งจาก พ.ศ. 2490พ.ศ. 2496  จึงมีข้อเขียนที่เล่าความถึงถนนสีลมแต่หนหลัง และมีแทรกแผนที่ถนนสีลมในอดีตบอกตำแหน่งบ้านบุคคลต่าง ๆ บนถนนสีลมในอดีตครั้งยังเป็นคลองและมีรถรางวิ่ง

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นด้วยภาษาเรียบง่าย ทุกถ้อยความมีความหมายชัดเจน บางข้อเขียนเป็นบันทึกที่พูนศุขเขียนเล่าให้ลูกหลานในครอบครัวรู้ถึงความเป็นมาของบรรพบุรุษ ด้วยเสียงเล่าดังกล่าวจึงทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกอบอุ่น เหมือนนั่งฟังญาติผู้ใหญ่บอกเล่าความหลัง เรื่องราวความเป็นไปของบ้านเมืองในอดีตจึงไม่ใช่ตำราประวัติศาสตร์ที่หนักอึ้งและชวนง่วงนอน หากแต่เป็นเรื่องเล่าอันเข้มข้นและเป็นอดีตที่มีชีวิต

พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน

Comments