เสวนา 86 ปี 2475 กิ่งก้านและผลพวงการอภิวัฒน์สยาม
วันที่ 24
มิถุนายน 2561 ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จัดโดย กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย
1.
สิ่งแรกที่คณะราษฎรทำในการปฏิวัติ
2475 ก็คือการยึดอำนาจจากกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงสถานภาพของกษัตริย์
นำลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ในเวลาต่อมา
หลังจากที่คณะราษฎรหมดบทบาทไปแล้ว
ก็มีคำอธิบายว่ากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้กับประชาชนโดยสมัครใจ
เป็นการพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาให้ประชาชน แล้วก็มีคำอธิบายอีกว่าการกระทำของคณะราษฎรเป็นการชิงสุกก่อนห่าม
สังเกตว่าคำอธิบายที่มักจะอยู่คู่กันสองแบบนี้
ซึ่งเป็นคำอธิบายกระแสหลัก เป็นสิ่งที่ขัดกันเอง
เพราะถ้าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามแล้ว
มันจะเป็นการพระราชทานมาโดยความสมัครใจได้อย่างไร จะชิงสุกก่อนห่ามได้ก็คือจะต้องยึดอำนาจจากกษัตริย์
หากเราย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์อย่างละเอียด
จะพบว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไม่ใช่เหตุการณ์สั้นๆ
ที่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือน
แต่มีเหตุการณ์ต่อเนื่อง
เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ มีการต่อสู้ ต่อต้านจากฝ่ายกษัตริย์ ด้วยกำลังอาวุธจนเกิดเป็นกรณีกบฏบวรเดช
มีการปราบปราม จับกุม และนิรโทษกรรม กลับมาคืนดีกัน
จนกระทั่งฝ่ายกษัตริย์มีกำลังและโต้กลับคณะราษฎร
ขณะเดียวกันฝ่ายคณะราษฎรเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพโดยตลอด
มีความแตกแยกไม่ลงรอย และสุดท้ายก็แบ่งเป็นขั้ว ความไม่ลงรอยนี้ปรากฏขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 ที่ฝ่ายปรีดีหันไปร่วมมือกับฝ่ายกษัตริย์นิยมในขบวนการเสรีไทย
และล้มอำนาจของจอมพล ป.ไปในครั้งแรก หลังสงครามที่ไทยตกเป็นฝ่ายแพ้
เสรีไทยในปีกปรีดีมีกำลังเข้มแข็งขึ้น
ขณะเดียวกันฝ่ายกษัตริย์ก็มีกำลังเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน
เมื่อเกิดกรณีสวรรคต
ฝ่ายกษัตริย์ก็หันมาโจมตีปรีดี จนต้องลี้ภัย จอมพล ป. กลับมามีอำนาจ
แต่ก็ไม่อาจต้านฝ่ายกษัตริย์ ซึ่งในที่สุดก็จับมือกับสฤษดิ์ทำรัฐประหาร
และปิดฉากคณะราษฎรออกไปจากการเมืองไทย
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้
ที่ผมเล่าอย่างย่นย่อ กินเวลา 25 ปี คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาของ 3 รัชกาล คือ
รัชกาลที่ 7, 8 และ 9
บรรยากาศทางการเมืองที่เรารู้จากการสำรวจเอกสาร
(ผมจะอ้างอิงจากงานค้นคว้าของณัฐพล ใจจริงนะครับ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
หนังสือเล่มนี้เป็นงานชิ้นสำคัญที่เชื่อมต่อคณะราษฎรกลับมาสู่การเมืองไทยอีกครั้งในช่วงวิกฤต
การที่คณะราษฎรและเหตุการณ์ 2475 กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง
งานชิ้นนี้เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง)
พบว่ามีการอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเข้มข้นในรัฐสภา
เพราะมันคือการยึดอำนาจและต้องจัดวางสถานภาพของกษัตริย์ในระบอบใหม่
ก็คือประชาธิปไตย หรือระบอบรัฐสภาที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
เราได้เห็นการโต้แย้ง การอภิปราย การต่อรอง
จากฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการกำหนดสถานภาพใหม่ จากฝ่ายกษัตริย์ที่ไม่ต้องการเสียอำนาจ
ในช่วงเวลา 25 ปี
เราจะเห็นว่ามีการดึงอำนาจกลับไปกลับมา
คือดึงออกมาจากกษัตริย์และดึงกลับไปที่กษัตริย์ สะท้อนให้เห็นผ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับ
จนกระทั่งสมัยจอมพล ป. ในช่วงสุดท้าย ก็ยังมีความพยายามจะปฏิรูปที่ดิน
ซึ่งส่วนใหญ่ถือครองไว้โดยพวกเจ้า ผ่านกฎหมายสำเร็จแล้ว แต่เมื่อจอมพล ป.
ถูกยึดอำนาจ กฎหมายนี้ในที่สุดก็ถูกเลิกไป
ลองมาดูตัวอย่างคำอภิปรายในสภา
อันนี้เป็นสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นคำอภิปรายของ ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ส.ส.ปราจีนบุรี
“...พระราชบันทึกของพระองค์
พระองค์ต้องการให้ประเทศเรามีการปกครองอย่างประชาธิปไตยอย่างอังกฤษแท้ๆ
แต่พระองค์ก็บอกไว้ในนั้นเอง บอกแย้งในนั้นเองว่า
จะให้ฉันทำอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (-หมายถึงให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับรัฐบาลและต้องเสียภาษีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์)
ไม่ได้
(คือไม่ยอมเสียภาษีและไม่ต้องการให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับรัฐบาล)
ทีการปกครองละก็จะเอาอย่างอังกฤษ (หมายถึงให้กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสภาขุนนาง – ในตอนนั้น)
แต่ไม่อยากจะเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (ในเรื่องทรัพย์สิน)
เพราะฉะนั้นก็เหลือที่จะทนทานเหมือนกัน”
อีกตัวอย่างหนึ่ง
เป็นสมัยรัชกาลที่ 9 คือหลังจากที่เพิ่งเกิดกรณีสวรรคต ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท
ได้ถวายรายงานแด่รัชกาลที่ 9 ว่า
“(แม้) พวกคณะราษฎรจะประสบชัยชนะ (จากการต่อต้านของกลุ่มกษัตริย์นิยม)
แต่เป็นการชนะแบบหมาจนตรอกที่สู้ไม่คิดชีวิต นับแต่วันนั้น พวกเขาอยู่ด้วยความกลัว
เพราะความกลัวนี้ทำให้พวกเขายังคงรวมตัวกันได้ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ณ วันนี้
(มิถุนายน 2490) สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม”
5
เดือนต่อมาก็เกิดรัฐประหาร 2490
ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าผู้สำเร็จราชการได้กล่าวให้การรับรองการรัฐประหารกับทูตสหรัฐอเมริกา
และรัฐประหารครั้งนี้เองที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2492
ที่มีการเพิ่มคำขยายระบอบประชาธิปไตยว่า “มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่อท้าย
ซึ่งเป็นคำสร้อยที่คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตอนนั้น
ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังมี
ส.ส.อภิปรายวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง
แต่มีลัทธิการปกครองแปลกประหลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้คือ ลัทธินิยมกษัตริย์”
และอีกคน
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้โดยปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป
โดยการถวายอำนาจมากกว่าเดิม... ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆ ทีเดียว”
เป็นคำอภิปรายจาก
ส.ส. ชื่น ระวิวรรณ และ ส.ส. เลียง ไชยกาล
คือมีการอภิปรายโจมตีรัฐธรรมนูญในประเด็นกษัตริย์ตรงๆ
โดยใช้คำว่า “ระบอบซ่อนเร้น” บางท่านอาจจะนึกถึงคำว่า
รัฐประหารซ่อนรูป นะครับ
แต่ครั้งนั้นเขาพูดถึงประเด็นกษัตริย์และลัทธินิยมกษัตริย์ตรงไปตรงมา
ไม่มีการเปรียบเปรยจากฟ้าถึงดินหรือสร้างภาพอุปมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม
ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกเลิกไปเมื่อจอมพล ป. ยึดอำนาจกลับคืนมาในปี 2494
การเมืองไทยหลังปี
2500 เป็นต้นมา ซึ่งไม่มีคณะราษฎรแล้ว
ยังมีความเปลี่ยนแปลงและได้รับอิทธิพลจากหลายทาง โดยเฉพาะอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา
ที่ใช้ไทยเป็นฐานในการต่อต้านคอมมูนิสต์ในอินโดจีน ผมจะไม่ลงรายละเอียด
แต่ภาพกว้างๆ คือเป็นการเมืองที่สลับฉากด้วยการรัฐประหารและการเรียกร้องประชาธิปไตย
แต่สัดส่วนการครองอำนาจของเผด็จการจะมากกว่า และก็มีรัฐธรรมนูญอีก 9 ฉบับ
ก่อนจะถึงรัฐธรมนูญ 40 คือไม่ใช่การเมืองที่มีเสถียรภาพแต่อย่างใด
ตัดมาที่สภาพการเมืองก่อนจะเกิดวิกฤตการเมืองครั้งนี้
จะเห็นว่าก่อนหน้านี้เรื่องราวของคณะราษฎรไม่เคยกลับมาเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองไทย
แบบที่เกิดขึ้นในวิกฤต ไม่ว่าจะช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภา 34, 35
อาจจะมีการรื้อฟื้นความสำคัญของคณะราษฎร โดยมุ่งไปที่ปรีดี ฟื้นฟูเกียรติปรีดี
แต่เป็นไปในทางที่ไม่ขัดหรือระคายต่อสถาบันกษัตริย์ คำอธิบายต่างๆ ที่ไม่ลงรอยกันก็อยู่เคียงกันมาเรื่อยๆ
โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ก็อยู่กันมาแบบนี้จนถึงสมัยทักษิณ
ลักษณะพิเศษของสมัยทักษิณก็คือ
เป็นสมัยที่สถาบันกษัตริย์มีเสถียรภาพที่สุด มีความมั่นคงที่สุด
และมีการถวายพระเกียรติแบบยิ่งใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกัน รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็มีเสถียรภาพที่สุดเช่นกัน
มีอำนาจแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ลักษณะที่ว่าก็อยู่ไปไม่ได้ตลอด
สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างทักษิณกับราชสำนัก
เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยนะครับว่า ถ้าไม่เกิดวิกฤตการเมืองขึ้น
สภาพแบบนี้จะอยู่ต่อไปได้นานเพียงใด
หรือจริงๆ แล้ววิกฤตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สุดท้ายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็ต้องขัดกับอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้งอยู่ดี
ถ้าเราถอยออกมา
มองวิกฤตการเมืองจากภาพกว้าง สิ่งที่เห็นก็คือการยื้ออำนาจกันไปมาระหว่างสองขั้ว
คือฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งกับฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
อันนี้เป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด
ฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งพยายามจุดประเด็นเรื่องการคืนพระราชอำนาจ
ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ 40 และเขียนใหม่เพื่อให้อีกฝ่ายไม่สามารถกลับมา
ถ้าเปรียบเทียบภาพการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวิกฤตกับภาพการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในสมัยคณะราษฎร
จะเห็นว่าสมัยคณะราษฎรเมื่อยึดอำนาจกลับมาแล้วก็สามารถที่จะฉีกรัฐธรรมนูญของฝ่ายกษัตริย์ได้
แต่ในวิกฤตการเมืองนั้นฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลย
ทำได้เพียงชนะการเลือกตั้งกลับมาแล้วก็ถูกล้มไปอีก
ส่วนการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์
ในรัฐสภาแทบไม่มีเลย แต่เกิดพัฒนาการของเหตุการณ์ไปในลักษณะที่คนค่อยๆ
ไม่กล้าพูดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่กล้าพูดเลย จากตอนแรกที่พูดอยู่บ้าง
จากทั้งสองฝ่าย เช่น ฝ่ายหนึ่งก็พยายามจะจุดเรื่องคืนพระราชอำนาจ
อีกฝ่ายก็พูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ
มาปัจจุบันไม่มีใครกล้าพูดถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกษัตริย์เลย
ผมอยากให้สังเกตภาพเปรียบเทียบสามภาพ
เกี่ยวกับการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ระหว่างสมัยคณะราษฎร
สมัยก่อนที่จะเริ่มวิกฤตการเมือง กับสมัยปัจจุบัน เวลานี้
สมัยคณะราษฎร
นึกถึงตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเมื่อครู่นะครับ พูดกันตรงๆ เลย อภิปรายกันตรงๆ
เลยว่าตกลงจะให้กษัตริย์มีอำนาจแค่ไหนอย่างไร เป็นการถกเถียงตรงไปที่ประเด็นเลย
คณะราษฎรก็เถียงกับพระปกเกล้าตรงๆ เลย พระปกเกล้าก็ต่อรองกับคณะราษฎรตรงๆ
แน่นอนมันมีความเห็นแย้งกัน มีการตกลงกันไม่ได้ มีการต่อสู้และชิงอำนาจกัน
แต่ถ้าเราดูไปที่ paradigm นะครับ คือกระบวนทัศน์ในการถกเถียง
ในการเข้าหาประเด็นของทั้งสองฝ่าย ต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน
เป็นการคุยกันเรื่องเดียวกัน คือจะจัดการยังไงกับอำนาจของกษัตริย์ ความเห็นต่างกัน
แต่ก็ปะทะกันอยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกัน โต้แย้งกันในปัญหาเดียวกัน
จะวางสถานภาพของกษัตริย์ไว้ยังไง พระปกเกล้าก็พูดตรงๆ
ว่าต้องให้เกียรติกันมากกว่านี้ จะจำกัดอำนาจมากน้อยแค่ไหน
จะเอายังไงเรื่องทรัพย์สิน ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าตัวเองและอีกฝ่ายต้องการอะไร
ในสภาพก่อนที่จะเกิดวิกฤต
ก็คือช่วงสมัยทักษิณ สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น
ไม่มีใครนึกถึงประเด็นนี้ เวลาพูดเรื่องการเมืองก็มองไปที่นักการเมือง มีทหาร
ตำรวจ แต่ไม่มีใครนึกไปถึงประเด็นที่เกียวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่มีการพูดถึง
ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามีสถาบันกษัตริย์นะ แต่เห็นก็เหมือนไม่เห็น นึกถึงแบบไม่เห็น
เวลามองไปที่การเมืองจะมองไม่เห็นเลยว่าสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบการเมือง
มองไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองที่เป็นไปเลย
มันมีคำพูดของทักษิณอยู่คำหนึ่งที่เขาตอบนักข่าวต่างประเทศเรื่องสถาบันกษัตริย์
เขาบอกว่าในความคิดของเขาตอนนั้น กษัตริย์เหมือนกับพระเจ้า
คือเป็นสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปไม่ได้เป็นคนที่มีอำนาจอยู่ในระบบการเมือง
เขาจึงไม่ได้คิดถึงการไปแข่งขันกับกษัตริย์
ผมคิดว่านี่เป็นกระบวนทัศน์ทั่วไปเลยในการมองการเมือง คนอื่นๆ
ก็ไม่ได้ต่างจากทักษิณ
คือทุกคนเวลามองไปที่การเมืองก็จะมองไม่เห็นหรือไม่ได้นึกถึงสถาบันกษัตริย์
เวลาวิจารณ์ก็จะด่านักการเมืองเลว ด่าทุนสามานย์ ด่าทหารตำรวจ อะไรก็ตาม
แต่จะมองไม่เห็นกษัตริย์อยู่ในระบบอำนาจนั้น
ทีนี้พอเกิดวิกฤตการเมืองขึ้น
มีคนจุดประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ ในหลวงมีพระราชดำรัสกับศาลเรื่องโมฆะการเลือกตั้ง
ผมคิดว่าทักษิณเริ่มรู้สึก เขาก็พูดเรื่องผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ
คือมันเกิดความไม่ลงรอย
เกิดความขัดกันระหว่างอำนาจของสถาบันกษัตริย์กับอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย หลังเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองจำนวนมาก
อย่างน้อยหลังวิกฤตการเมืองรอบแรกไปแล้ว จากปี 2553 มา
มันเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ สิ่งที่ไม่ถูกเห็นมันถูกเห็น และมันเปลี่ยนโลก
มันเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในการมองการเมือง บางคนก็เรียกว่า paradigm shift คำที่ฮิตหน่อยก็คือตาสว่าง บางคนก็เปรียบกับหนังเรื่องเมทริกซ์
คือมันเหมือนได้เห็นระบบที่อยู่เหนือระบบ เห็นความจริงที่ก่อนหน้านี้ไม่เห็น
แล้วพอเห็นแล้วมันเห็นเลย ไม่สามารถกลับไปไม่เห็นแบบเดิมได้อีก กลับไปไม่ได้
หลังจากปรากฏการณ์นี้ คือหลังจากวิกฤตการเมืองช่วงแรกเนี่ย
เราไม่สามารถที่จะมองไปที่การเมืองโดยไม่เห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้อีกแล้ว
ไม่สามารถที่จะกลับไปอยู่ใน
paradigm เดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตมองการเมืองได้อีกแล้ว
นี่คือประเด็นที่เป็นฐาน
ซึ่งเดี๋ยวผมจะใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในช่วงที่สอง
ช่วงนี้ขอปิดไว้ที่ภาพสามภาพเปรียบเทียบกันที่ผมอยากให้ผู้ฟังลองครุ่นคิด
สมัยคณะราษฎรเห็นและคุยกันตรงๆ คุยเรื่องเดียวกัน สู้กันก็สู้อยู่ในระนาบเดียวกัน, ก่อนวิกฤตหรือสมัยทักษิณ
มองไม่เห็น ไม่คิดว่าเป็นประเด็น, หลังวิกฤตช่วงแรก
เห็นและไม่สามารถกลับไปไม่เห็นได้อีก
2.
เหตุที่เรื่องราวของคณะราษฎรกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในวิกฤตการเมือง
ก็เพราะปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ประเด็นไม่ใช่เรื่อง 112 นะครับ
ไม่ใช่แค่กฎหมายอาญามาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชน
แต่ปัญหาจริงๆคือราชสำนักเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองแล้วมีการพูดมีการวิจารณ์
คนมีปฏิกิริยาแล้วก็ถูกจับและถูกปิดปากด้วยกฎหมาย
แต่การปิดปาก
การห้ามพูด มันไม่สามารถย้อนให้คนกลับไปมองไม่เห็นเหมือนเดิมได้อีก
คือมันได้เห็นไปแล้ว
ตอนนี้เมื่อมองไปที่การเมืองไม่สามารถที่จะไม่เห็นสถาบันกษัตริย์ได้อีกแล้ว
แต่ปัญหาคือมันมีการปิดกั้น มีการห้ามแสดงออก ซึ่งทำให้กระบวนการหยุดชะงัก
ทำให้คนไม่สามารถปรับการรับรู้เข้าหากัน
นึกดูสภาพปรกติ
ถ้าไม่มีการปิดกั้น เมื่อมีการเห็นก็จะมีการแสดงออก
ความรับรู้ไม่ได้อยู่แค่ว่าเราเห็น แต่อยู่ที่เห็นแล้วแสดงออก
ซึ่งคนย่อมแสดงออกแตกต่างกันไป
แต่จุดที่จะปรับการรับรู้คือการที่เราได้เห็นการแสดงออกของคนอื่นด้วย
นอกจากเราเห็นปรากฏการณ์แล้วเรายังต้องเห็นการแสดงออกของคนอื่นที่มีต่อปรากฏการณ์
แสดงออกแล้วถกเถียงแลกเปลี่ยน ก็จะเกิดการปรับการรับรู้ คือถึงแม้ยังเห็นไม่ตรงกัน
แต่มันจะรู้สภาพ เราจะได้เห็นขอบเขตของการรับรู้ในสังคมว่ามันมีอยู่แค่ไหน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแสดงออกถูกขัดขวาง
เบี่ยงเบน ในหลายลักษณะ เช่น ง่ายๆ เรื่อง 112
ที่ชอบพูดกันเหมือนกับว่าปัญหาอยู่ที่กฎหมาย
กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มันใช่ แต่มันยังไม่ถูกประเด็น
ประเด็นไม่ใช่เรื่องกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ
แต่ประเด็นคือมันมีปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์กับการเมืองแล้วกฎหมายก็เข้ามาปิดปาก
ขัดขวางการแสดงออก ประเด็นคือระบบกำลังมีปัญหาเรื่องอำนาจของกษัตริย์
ซ้อนทับกับปัญหาการเมืองอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งต้องการพื้นที่ในการทำความเข้าใจ
สภาวะของการห้ามมันส่งผลต่อการรับรู้
และกำหนดให้เกิดสภาพไม่มีทางไป อันดับแรก แสดงออกไม่ได้ก็ต่างคนต่างคิด อันดับสอง
เมื่อมองไม่เห็นความคิดของคนอื่น ก็เกิดการคาดเดา ก็เดากันสะเปะสะปะ
มีการป้ายสีใส่ความ เกิดความไม่เข้าใจเต็มไปหมด ทั้งไม่เข้าใจปรากฏการณ์และไม่เข้าใจความคิดของคนอื่นที่มีต่อปรากฏการณ์
อันดับสาม แม้จะห้าม แต่มันก็มีการพูดอยู่ดี มันก็ไปออกในโลกออนไลน์ซึ่งห้ามไม่ได้
ก็ทำให้เกิดพื้นที่สองแบบคือพื้นที่ที่ถูกห้าม รัฐสามารถควบคุมไว้ได้
กับพื้นที่ที่รัฐควบคุมไม่ได้ ก็พัฒนากลายเป็นพื้นที่คู่ขนานกัน แต่การรับรู้กลับยิ่งโกลาหล
เพราะคนเชื่อมต่อไม่เหมือนกัน คนที่ไม่เชื่อมต่อเลยก็ยังมี
จะเห็นว่าในคลิปใต้ดินก็เตลิดเปิดเปิงไปอีกแบบ
ความคิดของคนที่ฟังคลิปก็วิ่งไปอีกทาง
ในขณะที่อีกส่วนที่ไม่ได้ฟังหรือไม่เชื่อมต่อเลยแต่รับรู้จากการได้ยินมาอีกทีหรือฟังการพรอพเพอกานดาของรัฐก็จะไปอีกทาง
มันไม่ใช่ปรากฏการณ์แบบปัจเจกนะครับ
เป็นปรากฏการณ์รวมหมู่
คนไม่ได้เข้าถึงสิ่งที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตเหมือนกันและเท่ากัน
มีความแตกต่างผิดเพี้ยนมากมายหลายระดับ สังคมทบทวีไปด้วยความไม่เข้าใจ
การปรับความรับรู้ที่จะสร้างสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าอยู่ในโลกเดียวกันมันพังทลาย
เกิดความแปลกแยกขึ้นทั่วไป คนๆ
หนึ่งพอได้ฟังความคิดของอีกคนหนึ่งรู้สึกว่าเหมือนมาจากคนละโลก
เป็นความแปลกแยกรวมหมู่ คนที่อยู่ปีกเดียวกันก็ไม่ใช่ว่ารับรู้เหมือนกัน
ต้องการประชาธิปไตยเหมือนกันแต่ความคิดเหมือนอยู่กันคนละโลกก็มี ต่างคนต่างคิดในใจ
แล้วก็ต้องคิดเองเออเอง เพราะแสดงออกและแลกเปลี่ยนไม่ได้
ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ทำให้ภาพการเมือง
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่ในหัวของคน
อันเป็นส่วนที่แสดงออกมาไม่ได้ มันมั่วไปหมด บางทีก็เลอะเทอะ
เหมือนกับหน้าหรือทรงผมของคนในโลกที่ไม่มีกระจก
ลองแบ่งวิกฤตการเมืองออกเป็น
2 รอบนะครับ รอบแรกคือตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ถึงปี 2553
รอบหลังตั้งแต่ม็อบ กปปส. ในปี 2556 ถึง ยุค คสช.
ในวิกฤตการเมืองรอบแรกมีความขัดแย้งเหลืองแดง
สถาบันกษัตริย์มีบทบาทชัดเจนนะครับ ทุกคนมองเห็น คนที่ไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ยังเห็นรับรู้ได้
มีการจะคืนพระราชอำนาจ มีการพูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ
คณะรัฐประหารก็อ้างสถาบันกษัตริย์ชัดเจน
อ่านหนังสือพิมพ์ก็เห็นพาดหัวพระราชินีเสด็จงานศพพันธมิตร
ประเด็นสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นถกเถียงนะครับ แม้จะไม่ได้ถกกันตรงๆ อย่างสมัยคณะราษฎร
แต่ก็มีการพูด
ลองนึกถึงปาฐกถาของกษิตย์
ภิรมย์ ที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เดือนเมษายน ปี 2553 นะครับ ถ้ายังจำกันได้
เป็นการพูดอย่างชัดเจนเลยว่าจะต้องนำเรื่องสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาพูดกันบนโต๊ะอย่างเปิดเผย
เป็นการพูดหลังจากเหตุการณ์ 10 เมษายน
และเดือนต่อมาก็เกิดการล้อมปราบที่สี่แยกราชประสงค์
ปิดฉากวิกฤตการเมืองรอบแรกด้วยการนองเลือด
หลังจากวิกฤตรอบแรกนี่แหละที่เราไม่สามารถกลับไปมองการเมืองเหมือนก่อนวิกฤตได้อีกแล้ว
เราไม่สามารถกลับไปมองไม่เห็นสถาบันกษัตริย์ได้อีก แต่เมื่อเราพูด ประเด็นที่พูดมันก็ไปไกลได้แค่
112 ซึ่งไม่ใช่ประเด็นจริงๆ การพูดเรื่อง 112 ในวงกว้างนะครับ การเคลื่อนไหวของ
ครก.112 เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตรอบแรก สุดท้ายเมื่อการเมืองกลับไปสู่การเลือกตั้ง
มันเหมือนกับว่าในที่สุดสังคมไทยก็กลับคืนไปสู่ประชาธิปไตย
แต่ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยความโกลาหลอลหม่าน
นักวิชาการก็พูดไปทางหนึ่ง ชาวบ้านก็เข้าใจไปทางหนึ่ง พวกทำคลิปใต้ดินอะไรต่างๆ
พวกที่อยู่นอกประเทศก็พูดไปทางหนึ่ง
สังเกตว่าช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีม็อบฝ่ายขวาพยายามก่อตัวอยู่เป็นระยะ
ผมค่อนข้างเชื่อว่าแรงผลักดันลึกๆ
อันหนึ่งที่ขับเคลื่อนผู้ชุมนุม กปปส.
คือความวิตกกังวลเรื่องการสิ้นสุดของรัชกาลที่ 9
แน่นอนว่าไม่เคยมีการแสดงออกเรื่องนี้อย่างเปิดเผย และผมต้องเดา
เดาจากระหว่างบรรทัด เช่นคำพูดของพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เรื่องพ่อ
หรือความวิตกกังวลในบทสนทนาของเปรม สิทธิ์ อานันท์ กับทูตสหรัฐ
แต่นี่คือสิ่งที่พูดไม่ได้และผมต้องเดา ย้อนกลับไปนึกถึงบรรยากาศตอนนั้นนะครับ
เรื่องเปลี่ยนรัชกาลเป็นเรื่องที่ไม่กล้าพูดกันโดยเปิดเผยนะครับ
เป็นความกังวลที่ต่างคนต่างคิดอยู่ในใจเอง
ต่างคนต่างกลัวแล้วก็แสวงหาการปลดปล่อยร่วมกัน สุดท้ายก็ออกมาแบบไร้ทิศทางจนนำไปสู่การขัดขวางการเลือกตั้ง
ถึงที่สุดปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องราชสำนักเกี่ยวพันกับการเมือง
แต่มันไปถึงเรื่องระบบการเมืองด้วย
มันย้อนกลับไปหาประเด็นสมัยคณะราษฎรว่าจะจัดวางสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ยังไง
มันเป็นคำถามเรื่องกฎเกณฑ์ว่าจะจำกัดอำนาจของกษัตริย์ไว้แบบไหน
ถ้าเป็นแบบเดิมเลยนี่คือราชสำนักเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองโดยไม่มีการตรวจสอบนะครับ
องคมนตรีมีการประชุมหารือร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล พลอากาศเอกสิทธิ
เศวตศิลาเคยบอกกับทูตสหรัฐว่าจะเสนอแผนขจัดรัฐบาลสมัครกับในหลวง ร.9
ผมไม่ทราบว่าได้มีการเสนอจริงๆ ไหม แต่มีบันทึกไว้ว่าบอกว่าจะเสนอ
ในหนังสือปรัชญาเกรียน คุณสมบัติก็เล่าให้ฟังว่าคุณวีระ
สมความคิดเคยเล่าให้เขาฟังว่า ในช่วงม็อบพันธมิตร เข้าใจว่าน่าจะช่วงที่ยึดสนามบิน
ก็มีวีไอพี เขาใช้คำว่าบิ๊กระดับวีไอพี ติดต่อมาที่แกนนำ
บอกว่าเดี๋ยวศาลรัฐธรรมนูญจะยุบพรรค และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ให้เตรียมคนของพันธมิตรไว้สองคนเพื่อรับตำแหน่ง
แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ยุบพรรคจริงๆ
หรือแม้แต่การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง
เช่นการตั้ง ผบ.ตร.ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์
ที่เห็นจากภายนอกว่ามีปัญหายืดเยื้อไม่สามารถแต่งตั้งได้ ก็มีบันทึกของวิกิลีคส์ระบุว่ามีการแทรกแซงจากคนในราชสำนัก
สื่อมวลชนก็พูด ตอนนั้นใช้คำว่าคนระดับสูง อัญชะลี
ไพรีรักก็ใช้คำว่าสัญญาณพิเศษจากเยอรมันและสัญญาณพิเศษกว่า
ประเด็นสำคัญคือ
เมื่อมองไปที่การเมืองแล้วทุกคนก็เห็น ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เห็นกันหมด
แล้วต่างก็ทราบกันดีว่าต่างก็เห็น มันจึงมีสปีชของกษิต ภิรมย์ออกมา
สิ่งที่เรียกกันว่า
“ตาสว่าง” ก็ดี paradigm shift ก็ดี หรือ เดอะ เมทริกซ์ เพาะพันธุ์มนุษย์เหนือโลกอะไรนี่ ก็ดี
ผมอยากให้เราลองใส่ใจปรากฏการณ์นี้อย่างละเอียด ดูให้ดีๆ ว่าจริงๆ
แล้วความรับรู้ทางการเมืองมันไปได้แค่ไหน
เราต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการเรื่องนี้
แต่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์มันถูกขัดขวาง ถูกกักไว้ด้วยความรู้สึกว่าแสดงออกไม่ได้
แล้วการห้ามนี้มันก็ค่อยๆ รุนแรงขึ้น แล้วสภาพการณ์ก็สะสมมา
การไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ในภาพที่สามก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมาแบบนี้
มันไม่ใช่แค่พูดไม่ได้
แต่มันมีการห้าม และมีการพูด การห้ามหรือการขัดขวางการพูด ปรากฏขึ้นในหลายลักษณะ
มีการขู่ให้กลัว มีการก่อกวนการแสดงออก ผลก็คือการรับรู้มันรวน
และไม่มีพื้นที่ในการปรับการรับรู้ เสร็จแล้วก็เบี่ยงเบน
เบี่ยงเบนนี่มาจากทั้งความมุ่งหมายที่จะขัดขวางการแสดงออกและกลบเกลื่อนหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
แต่ผลก็คือมันบิดเบือนเหมือนกัน แล้วพอมันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม มันโกลาหล
และการพูดก็ยังอยู่
การพูดและการรับรู้ไม่ได้ถูกขัดขวางจนเงียบสนิทเพราะว่ามันมีอินเตอร์เน็ต
ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ทำให้
ภาพการเมืองที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่ในหัวของคน
ในส่วนที่แสดงออกมาไม่ได้มันมั่วกันไปหมด
สิ่งที่ผมกำลังพูดนี่คือความพยายามจะเข้าใจภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนะครับ
การไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ส่งผลหลายทาง ประการแรกเลยมันทำให้บทบาทและสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ในระบบการเมืองเป็นไปอย่างไม่มีกฎเกณฑ์
เช่น ตกลง รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ (แม้จะเป็นประชามติของเผด็จการนะครับ)
ถ้ากษัตริย์ไม่เห็นด้วยก็แก้ได้ใช่ไหม
หรือตกลงแล้วทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นี่เป็นของแผ่นดินหรือเป็นของส่วนพระองค์
ก่อนหน้านี้ ในช่วงแรกของวิกฤต
คนที่เชียร์เรื่องพระราชอำนาจพยายามจะบอกว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์เป็นบารมีเฉพาะพระองค์
แต่พอเวลานี้คนเหล่านี้ก็เงียบกริบ ไม่เคยมีความรับผิดชอบอะไร
ระบบการเมืองแบบในสมัยในหลวงภูมิพลนั้นพังทลายไปแล้วพร้อมกับวิกฤตการเมือง
ตอนนี้ที่เป็นอยู่คือสภาพไม่มีกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์ที่เหมือนจะมีอยู่บ้างก็ล้มระเนระนาด
แล้วประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์คนก็กลัวยิ่งกว่าเดิม
คนส่วนใหญ่ก็กักขังตัวเองเอาไว้ในโลกที่ คสช.นำเสนอ
คนที่ไม่ขังตัวเองก็จะเห็นว่าความรับรู้ในสองพื้นที่ที่แตกต่างกัน คือพื้นที่ที่พูดเรื่องนี้
กับไม่พูดเรื่องนี้ นับวันยิ่งถอยห่างจากกันไปทุกขณะ
การยึดอำนาจของ
คสช. มันทำให้คนจำนวนมากลี้ภัย
คนที่ลี้ภัยไปหลายคนก็เป็นคนที่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์
หลายคนที่ลี้ภัยไปซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยพูดก็หันมาพูด ในช่วงหนึ่งจะเห็นว่า
ถ้าด้านหนึ่งยิ่งกดปราบรุนแรงอีกด้านหนึ่งก็จะยิ่งพูดรุนแรง
มันก็ก่อให้เกิดสภาพการรับรู้สองด้านที่ ด้านหนึ่งเงียบกริบ ขยับไม่ได้เลย
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งแสดงออกอย่างรุนแรง คนส่วนหนึ่งร้อนเป็นไฟ
คนอีกส่วนหนึ่งไม่รู้เรื่องรู้ราวไม่รับรู้อะไรเลย
การพยายามกักขังประเด็นนี้ไว้เป็นการคิดสั้นของเผด็จการอำนาจนิยม
ที่จริงๆ แล้วตัวเองก็ไม่มีไอเดียอะไร ผมคิดว่า
คสช.ไม่มีไอเดียอะไรนะนอกจากพยายามจะทำทุกอย่างให้มันคล้ายสมัยก่อนวิกฤต
เขาไม่เข้าใจระบบการเมืองสังคมสมัยใหม่
ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้สังคมได้ปรับความรับรู้เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ขึ้นมารับมือกับความเปลี่ยนแปลง
สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้คือเป็นผลจากการทะเลาะกันโดยไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคิดยังไง
เป็นการโต้เถียงกันที่ต้องเดาบางส่วนอยู่ตลอดเวลา
ทะเลาะกันโดยที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่มีความเข้าใจจริงๆว่ากำลังทะเลาะกันเรื่องอะไร
ผลของมันมันคือการทะเลาะกับความคิดที่เรามองไม่เห็นแต่คิดหรือจินตนาการว่าอีกฝ่ายคิดแบบนี้แหละ
แต่เราอยู่กับสภาพแบบนี้มาจนกระทั่งมันกลายเป็นเรื่องปรกติ
คือสิ่งที่ไม่ปรกติก็กลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว แบบที่เขาเรียกว่า new normal น่ะ คือ abnormal มันกลายมาเป็น new normal ระยะยาวสภาพแบบนี้จะทำให้การพูดเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย
จะทะเลาะกันไปโดยที่หาประเด็นถกเถียงไม่เจอ การสื่อสารมันจะล่ม
และมันจะนำไปสู่การสร้างโลกเฉพาะขึ้นมาห่อหุ้ม
ต่างคนต่างสร้างโลกเฉพาะขึ้นมาห่อหุ้ม มันจะเป็นความล้มเหลวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
แบบไม่มีทางออก และมันจะเป็นการถดถอยทางปัญญาครั้งใหญ่
Comments
Post a Comment