30 วัน เปิดโลกหนังสือ







ขึ้นชื่อว่าหนังสือก็ต้องเป็นกระดาษอาจไม่ใช่คำกล่าวที่ใช้ได้ทั่วไปในอนาคต เมื่อหนังสือพิมพ์อังกฤษต่างกำลังปรับตัวกันอยู่ในช่วงเวลาสำคัญซึ่งเป็นรอยต่อของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์  

ผมมาอังกฤษรอบที่แล้วได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของหนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่อยู่มายาวนานของอังกฤษ นั่นคือการเปลี่ยนขนาดจากบลอดชีทมาเป็นแท็บลอยด์ หนังสือพิมพ์สำหรับปัญญาชนที่เรียกกันว่าซีเรียสเปเปอร์พากันปรับเปลี่ยนขนาดกันถ้วนหน้า แม้หนังสือพิมพ์ที่ยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนขนาดอย่าง เดอะ เดลี่ เทเลกราฟ (The Daily Telegraph) ก็ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ท้าทายกว่านั่นคือการเกิดและเติบโตของโลกออนไลน์ที่ทำให้จำนวนคนอ่านหนังสือพิมพ์มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

ข้างต้นเป็นบางส่วนของการกล่าวนำเพื่อเล่าเรื่องหนังสือพิมพ์ของเมืองอังกฤษในหนังสือ 30 วัน ฉบับ เปิดโลกหนังสือซึ่งมีคำอธิบายบนปกว่า ประวัติศาสตร์ย่นย่อและความท้าทายใหม่ของวงการสิ่งพิมพ์อังกฤษ

หนังสือ 30 วัน เป็นหนังสือชุดต่อเนื่องของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นเสมือนบันทึกการเดินทางของผู้เขียน ซึ่งก็ได้เดินทางเป็นระยะ  ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษก็มีเหตุให้ผู้เขียนต้องเดินทางไปหลายครั้ง ทั้งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวส่วนตัว และไปร่วมผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งโครงการหนึ่งก็คือ โครงการผู้พิมพ์รุ่นใหม่ของบริติชเคาน์ซิล เมื่อปี 2548  เป็นโครงการที่ทำให้ภิญโญได้พบกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาจะได้ใช้ในการเล่าเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้  หนังสือ 30 วัน อันเป็นลำดับที่ 3 นี้ จึงมีความพิเศษกว่า 30 วันเล่มก่อน ๆ ที่ว่าด้วยการเดินทางชมวัฒนธรรมและแทรกเรื่องธุรกิจ มาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ

30 วัน ฉบับ เปิดโลกหนังสือ แบ่งเป็น 6 ส่วนหลัก ๆ คือ โลกแบน โลกร้อน โลกกลม หรือโลกเอียง, ส่วนผสมแห่งความเนิบช้า, ประวัติศาสตร์ย่นย่อของอุตสาหกรรมหนังสืออังกฤษ, สงครามกระดาษยุคดิจิตอล, หนังสือพิมพ์ราคาถูก เสรีภาพราคาแพง, คนขายหนังสือแห่งลอนดอน และ เมืองรั้วที่ริมน้ำกับสามสิบร้านหนังสือ

เริ่มต้นในสองบทแรกด้วยท่วงทำนองแบบร่ายนิราศชมเมือง ชมนกชมไม้ ชมภูมิอากาศอาหารการกิน ขนมนมเนยไปเรื่อย พร้อมกับสอดแทรกทัศนคติ และหัวข้อพูดคุยที่อยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนทั่วโลกในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน หรือเรื่องการเมือง  รวม ๆ แล้วออกไปในทางรำพึงรำพันอย่างมีความสุขท่ามกลางฉากภาพและปรัชญาชีวิตที่มุ่งแสวงหาความสงบสุข

เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมหนังสือเริ่มต้นตั้งแต่บทที่สามเป็นต้นไป ภิญโญเริ่มจากการบอกเล่าเท้าความถึงครั้งที่มาร่วมโครงการของบริติช เคาน์ซิล  จากนั้นจึงเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสิ่งพิมพ์อังกฤษสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งก็ให้ภาพและข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแวดวงสิ่งพิมพ์ของอังกฤษโดยสังเขป หลายเรื่องราวก็มีความน่าสนใจ และพ้องพานกับปรากฏการณ์ในบ้านเรา และเนื่องจากผู้เขียนเองก็เป็นนักเขียนและผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์คนหนึ่ง จึงตั้งข้อสังเกตเป็นระยะไว้อย่างน่ารับฟัง

แม้แต่ในอังกฤษเองที่มีชมรมกวีที่เข้มแข็ง มีวารสารตีพิมพ์บทกวีโดยเฉพาะ รวมทั้งฝังศพกวีไว้ใกล้ ๆ กับกษัตริย์และรัฐบุรุษ ยอดจำหน่ายจริง ๆ ของบทกวีก็ยังอยู่แถว ๆ ไม่กี่ร้อยเล่ม นักเขียนคนไหนได้พิมพ์เริ่มต้นที่ 1,000 เล่มก็นับว่าหรูมากแล้ว

บทต่อมา สงครามกระดาษในยุคดิจิตอลว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของหนังสือพิมพ์อังกฤษ ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาปรับตัวครั้งสำคัญ  ผู้เขียนมองว่าเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจากสื่อกระดาษไปสู่สื่อดิจิตอล พร้อมกับตั้งข้อสังเกต และบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ  ซึ่งบางฉบับก็อยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว  นอกจากนี้อีกปรากฏการณ์หนึ่งก็คือหนังสือพิมพ์แจกฟรีที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ระหว่าง The London Paper กับ London Lite  เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นกันว่าตลาดหนังสือพิมพ์แจกฟรีในบ้านเราจะลงเอยในลักษณะเดียวกับที่อังกฤษหรือไม่ ปิดท้ายบทด้วยเรื่องราวของไทคูนสื่อชาวออสเตรเลียอย่างรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสื่อที่ทรงอิทธิพลของโลกจำนวนมาก ทั้งสิ่งพิมพ์และสถานีโทรทัศน์

หนังสือพิมพ์ราคาถูก เสรีภาพราคาแพงกล่าวถึงความเป็นมาของการต่อสู้ของวัฒนธรรมหนังสือ ซึ่งก็เป็นสิ่งเดียวกับสิทธิเสรีภาพในความรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ เปรียบเทียบกับความเป็นมาของตลาดหนังสืออังกฤษ ซึ่งพัฒนาจากร้านหนังสือเช่ามาก่อนที่จะมีระบบร้านหนังสือขายดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จบจากเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปในวงการสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์ ในสองบทท้ายผู้เขียนพาผู้อ่านเที่ยวชมร้านหนังสือ โดย บท คนขายหนังสือแห่งลอนดอนภิญโญออกซอกซอนไปตามถนนหนทางในกรุงลอนดอนเพื่อแนะนำร้านหนังสืออิสระ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ  จากนั้นจึงกล่าวถึงร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่คนรู้จักกันดีอย่าง วอร์เตอร์สโตนส์  และค่อย ๆ ฉายภาพสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจร้านหนังสือในประเทศอังกฤษ ซึ่งร้านหนังสืออิสระกำลังตกที่นั่งลำบากเนื่องจากสงครามราคาระหว่างร้านหนังสือเครือข่ายกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ลงมาเล่นตลาดหนังสือด้วย

บทสุดท้าย กล่าวถึงเมือง เฮย์ ออน ไวย์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนอังกฤษกับเวลส์ ความพิเศษของเมืองนี้คือเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยร้านหนังสือ และมีเทศกาลหนังสือทุกฤดูร้อน สามารถเดินทางจากลอนดอนได้โดยรถไฟ คนรักหนังสือที่ได้อ่านบทนี้แล้ว หากมีโอกาสได้ไปอังกฤษก็จะรู้สึกว่าเมืองนี้เป็นสถานที่หนึ่งที่ต้องไม่พลาด  เป็นบทปิดท้ายการเดินทางด้วยเรื่องราวของสิ่งละอันพันละน้อย และเสน่ห์ของความสงบสุข เรียบง่าย ในเมืองเล็ก ๆ ที่รายล้อมไปด้วยหนังสือ

30 วันเป็นหนังสือที่อ่านง่าย ใช้ภาษาเล่าเรื่องเรียบ ๆ แต่มีจังหวะจะโคน แต่ละบทก็มีการรับส่งต่อเนื่องกันไป แม้ผู้ที่ไม่ได้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์เป็นพิเศษก็ยังสามารถสนุกไปกับรายละเอียดของการเดินทางผ่านเข้าไปในวัฒนธรรมต่างแดนที่ผู้เขียนบอกเล่าเป็นระยะอย่างมีสีสัน  นอกจากนี้ก็ยังมีภาพประกอบและคำบรรยายที่ช่วยให้การอ่านเป็นไปอย่างเพลิดเพลินยิ่งขึ้น  เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่นอนอ่านอยู่กับบ้านก็ได้ พกพาระหว่างเดินทางก็ดี

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร IMAGE

Comments