เงาสีขาว ฉบับ 21 ปี
[หมด
ไม่มีจำหน่ายแล้ว]
เงาสีขาว
เป็นผลงานนิยายของ แดนอรัญ แสงทอง ซึ่งมีนามจริงว่า เสน่ห์ สังข์สุข พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อ
ธันวาคม 2536 โดยสำนักพิมพ์อรุโณทัย ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของผู้เขียนเอง
จัดจำหน่ายโดยสายส่งศึกษิต บริษัทเคล็ดไทย
หลังจากวางจำหน่ายแล้วไม่ประสบความสำเร็จทางการขาย ผู้เขียนมีหนี้สิน
และหลีกลี้ไปจากวงการหนังสือ
ต่อมา มาแซล
บารัง (Marcel Barang) ชาวฝรั่งเศส อดีตนักข่าวเอเชียอาคเนย์
ผู้สนใจวรรณกรรมไทยและก่อตั้งโครงการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศ
ไทยโมเดิร์นคลาสสิก (TMC) ได้เลือกนิยายเรื่องนี้
ให้เป็นนิยายที่ดีที่สุดของปี 2537
หลังจากนั้นเขาได้แปลตัวอย่างของนิยายเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส เสนอไปยังสำนักพิมพ์ต่าง
ๆ ในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส
ซึ่งก็มีสำนักพิมพ์จากฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งให้ความสนใจ
ในที่สุด เงาสีขาว
ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อ L’Ombre blanche: Portrait de
l’artiste en jeune vaurien โดยใช้นามจริงของผู้เขียนคือ Snaeh Sangsuk เป็นนามปากกา โดยสำนักพิมพ์ Seuil ในรูปเล่มของหนังสือพ็อกเก็ตบุคปกอ่อน
(paperback) ในวันที่ 23 ธันวาคม 2543 (ค.ศ.2000)
L’Ombre blanche ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักอ่าน
และต่อเนื่องกันนั้นเองนิยายขนาดสั้นเรื่อง Venin ของ Saneh
Sangsuk ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์
Seuil ในวันที่ 1 มีนาคม 2544 (ค.ศ.2001)
และประสบความสำเร็จในทันทีโดยที่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทยเลย Venin ได้รับการแปลต่อไปอีกมากมายหลายภาษา เช่น อังกฤษ, กรีก, คาตาลัน, โปรตุเกส, สเปน
และได้รับการตีพิมพ์ในเอดิชั่นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด กล่าวได้ว่า
โดยที่นักอ่านไทยยังไม่เคยอ่าน Venin เลยแม้แต่คนเดียว Saneh Sangsuk หรือ แดนอรัญ แสงทอง ก็ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางในยุโรป
และเป็นนักเขียนไทยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ
มีแฟนนักอ่านทั่วยุโรปคอยติดตามผลงาน Venin ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทยในชื่อ อสรพิษ โดยสำนักพิมพ์แมวคราว
ต้นปี 2545 และยอดขายก็กล่าวได้ว่าแค่ “พอขายได้” เท่านั้น
หนังสือเหลือกลับมาเป็นจำนวนมาก
ในยุโรป โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส Venin ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และผลงานเล่มต่อมา คือ Une Histoire Vieille Comme La Pluie (2003) (เจ้าการะเกด, 2545)
ก็ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักอ่านชาวฝรั่งเศสและแปลเป็นภาษาอิตาเลียน
กรณีของเสน่ห์ สังข์สุขนี้ได้ทำให้คำพูดแบบนักการตลาดที่กล่าวว่า “ถ้ามันดีจริงก็ต้องขายได้” กลายเป็นเรื่องชวนหัว
ผลงานของแดนอรัญ แสงทอง ทั้งขายไม่ได้ และไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ ในประเทศไทย
(รางวัลอะไรก็ตามในปัจจุบัน ล้วนเป็นการวิ่งตามเอามาให้ทีหลังทั้งสิ้น)
แต่กลับประสบความสำเร็จในพื้นที่ที่มีระดับวัฒนธรรมการอ่านสูงกว่าไทย
และกลายเป็นว่า หลังจากที่ได้รับการตอบรับดังกล่าวแล้ว ผลงานของแดนอรัญในภาษาไทยจึงเริ่มจะขายได้
จึงเริ่มจะมีแฟนประจำ และเริ่มที่จะได้รับรางวัล
เป็นเรื่องตลกที่น่าหัวเราะและเสียดสีสังคมการอ่านของไทย
เพราะมันได้เปิดเปลือยให้เห็นถึงความน่าสงสารของดุลยพินิจของทุกองค์ประกอบในวงวรรณกรรมกัน
(ผู้เขียน ผู้พิมพ์ ผู้อ่าน ผู้วิจารณ์ ฯลฯ) ทำให้เห็นว่าสังคมนี้
ไม่เคยมีแสงสว่างของปัญญาในตัวเอง แต่ยังคงรอคอย “แสงสะท้อน” ทางปัญญาจากสังคมอื่นอยู่เสมอ
สำนักหนังสือใต้ดินจัดงานครั้งแรกในราวปี
2543 ที่มหาวิทยาลัยราคำแหง เพื่อ “เรียกร้อง” เรื่องการอ่านวรรณกรรมไทย
โดยหยิบกรณีของเงาสีขาว ขึ้นมาตั้งคำถามว่าเหตุใดงานในคุณภาพระดับนี้จึงไม่ได้รับการต้อนรับจากสังคมการอ่าน
ซึ่ง ณ เวลาที่จัดงานนั้น สื่อมวลชน นิตยสาร หรือนักสัมภาษณ์ ยัง “ไม่รู้จัก” เงาสีขาว
เลยด้วยซ้ำ แม้แต่บรรณาธิการก็ไม่สนใจหรือรับรู้ และซ้ำยัง “ดูถูก” ว่าเป็นงานที่เอาบันทึกจากสมุดบันทึกมาเรียงกันอย่างสะเปะสะปะ
ไม่มีคุณค่าใด ๆ
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกับปัจจุบันที่ผู้คนมากมายแห่แหนกันมาแวดล้อมชื่นชม
และ “อ้าง” ความเกี่ยวข้องของตนกับเงาสีขาว
หรือแดนอรัญ แสงทองกันอย่างคับคั่ง
นี่จึงนับเป็น “มงกุฎหนาม” โดยแท้
สำหรับนักเขียนไทย ที่ต่อสู้ด้วยการเขียนผลงานซึ่งไม่ประนีประนอมกับสังคม
และเป็นชัยชนะที่ต้องใช้เวลาฝ่าฟันเกือบสองทศวรรษ
ผ่านคนไม่กี่คนซึ่งพยายามผลักดันให้ชิ้นงานได้รับการทบทวนและหันมอง
และคนที่มีบทบาทสมควรได้รับการเชิดชูและจารึกไว้ก็คือ มาแซล บารัง
ชาวฝรั่งเศสผู้สนใจวรรณกรรมไทย อย่างไม่ต้องสงสัย
ในวาระ 17 ปีสำนักหนังสือใต้ดิน
ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสเดียวกันกับวาระครบรอบ 21 ปี
ของนิยายที่ต่อสู้ฝ่าฟันผ่านเวลา และพื้นที่
จนกระทั่งขึ้นมายืนอยู่ในจุดที่ไม่มีใครจะสามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป เลือก
เงาสีขาว พิมพ์เป็นที่ระลึกแห่งการครบรอบนี้
วาด รวี
ธันวาคม 2014
Comments
Post a Comment