รื้อหาย (ผู้ชายที่กำลังสืบพันธ์ 2)



1.
เมื่อสักเกือบสิบปีก่อน ผมได้เดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย เพื่อเยี่ยมน้องชายที่กำลังเรียนอยู่ที่นั่น เราไปกันเป็นคณะ ประกอบด้วยครอบครัวของผมและครอบครัวของเพื่อน ๆ พ่อ ซึ่งมีทั้งที่ไปเยี่ยมลูกและก็มีครอบครัวที่ไม่ได้มีลูกเรียนอยู่แต่ต้องการตามมาดูที่ทาง เผื่อว่าจะส่งลูกของตนมาเรียนบ้าง

สิ่งที่ผมจะเล่านั้นไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลีย แต่เกี่ยวกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เดินทางร่วมไปกับคณะของผมในครั้งนั้น

มีเด็กหนุ่มสองคนในคณะ ทั้งสองเป็นเป้าหมายที่ครอบครัวของเขาต้องการจะส่งมาเรียนที่ออสเตรเลีย ทั้งสองอายุห่างกับผมร่วมสิบปี แต่เนื่องจากคณะนั้นเต็มไปด้วยบรรดาลุง ๆ ป้า ๆ ส่วนที่เป็นเด็กก็เด็กไปเลย ผมจึงเป็นคนหนุ่มคนเดียวของคณะ และขาโจ๋ทั้งสองก็ติดผมหนึบทีเดียว (เวลานั้นผมไว้ผมยาวถึงกลางหลัง ใส่สูท สวมแว่นดำ น่าจะเป็นความเชยที่ทั้งสองหลงผิดคิดว่าเป็นความเท่)

ทั้งสองน่าจะเรียนอยู่ราว ม. 4 ประมาณนั้น อายุก็คงประมาณ 15-16 กำลังวัยรุ่นทีเดียว ซ่า แปลกแยก ไม่เป็นตัวของตัวเอง และกำลังมองหาอะไรบางอย่าง

เด็กสองคนนั้น คนหนึ่งรูปร่างสันทัด ท่าทางบอกว่าเกเรไม่หยอก อีกคนรูปร่างอ้วน ๆ เตี้ย ๆ มีบุคลิกของเด็กไม่เอาถ่าน (ในสายตาผู้ใหญ่) อยู่อย่างเพียบพร้อม

คณะของพวกเรานั้น ให้แมวที่ไหนมามองก็จะรู้ว่าเป็นชนชั้นกลางจากเมืองไทยที่มองเห็นเมืองนอกเป็นสถานที่ซักฟอกลูกหลาน

เด็กที่มีปัญหา เกเร เรียนไม่ดี จะถูกส่งมาอยู่ในโรงเรียนประจำที่เมืองนอก โรงเรียนที่มีระเบียบวินัยน่าเชื่อถือว่าจะขัดเกลาลูกหลานของเขาให้อยู่ในร่องในรอย ชั่ว ๆ ดี ๆ ถู ๆ ไถ ๆ จนจบ ก็ยังได้ชื่อว่าจบจากนอก ความรู้จะดีไม่ดีไม่รู้ แต่อย่างน้อยก็ต้องได้ภาษาอังกฤษกลับมา

นี่เป็นคติของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยทีเดียว

เด็กสองคนนี้เท่าที่คบหากันในระยะเวลาอันสั้น ผมเห็นว่าเป็นเด็กที่มีธาตุที่ดีอยู่ในตัว เหตุที่พวกเขาดูไม่มีสาระและไม่เอาถ่านก็เพราะถูกทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง ผมเชื่อว่าเมื่อไรที่หาสาระของตัวเองเจอ เรียนรู้จนพบตัวเอง พวกเขาจะไม่น่าเป็นห่วงเลยแม้แต่น้อย

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่สำหรับพ่อแม่ของพวกเขาก็คือ เรียนไม่ดี แถมยังไม่รักเรียนและเกเร

เรียนไม่ดีนี่มองได้หลายมุมมาก ผมคิดว่าการใช้การเรียนมาเป็นจุดชี้ขาดว่าใครจะเอาถ่านเอาแก๊สนี้เป็นสิ่งที่อันตรายทีเดียว ถูกละ การเรียนมันฟ้องร้องอะไรได้มากมายหลายอย่าง แต่ก็ไม่ใช่เสมอไปว่าการไม่ชอบเรียนจะหมายถึงความไม่ได้เรื่อง

ครอบครัวของทั้งสองมีความคิดที่จะส่งพวกเขามาเรียนโรงเรียนเดียวกับน้องชายของผม ก็เนื่องมาจากความเกเรของทั้งสอง แต่ปัญหาเวลานี้คือทั้งสองคนไม่อยากมา

เจ้าขาโจ๋ทั้งสองนี้ดูเหมือนจะสนิทกันมาก่อน และมีคุณสมบัติที่เราเรียกกันว่า "เด็กหลังห้อง" เหมือนกัน นอกจากนี้แล้วสิ่งดีงามที่ทั้งสองแสดงให้เห็นก็คือ "คุณธรรมน้ำมิตร" ทั้งสองเป็นคนติดเพื่อน รักเพื่อน และที่ไม่อยากมาก็เพราะไม่อยากจากเพื่อน

วันหนึ่งเจ้าคนอ้วนเล่าให้ผมฟังว่า มันเคยจับเพื่อนผู้หญิงล็อกแขนและให้เพื่อนอีกคนจับนม เสร็จแล้วก็ผลัดให้เพื่อนล็อกแขนแล้วมันก็มาจับนมเพื่อนนักเรียนหญิงคนนั้น

"ทำอย่างนั้นทำไม" ผมถาม

"ก็ขอแล้วมันไม่ยอมให้จับ" เจ้าอ้วนตอบ หน้าตาของมันเหมือนแป๊ะยิ้มที่ยิ้มอยู่ตลอดเวลา ผมไม่เห็นร่องรอยสำนึกในความผิดบาปปรากฏขึ้นแม้แต่น้อย

เจ้าอ้วนนี้มองปราดเดียวก็จะรู้ทันทีว่าเป็นเด็กหนุ่มที่ไม่กล้าแน่ ๆ โดยเฉพาะต่อหน้าผู้หญิง บุคลิกบ๊อง ๆ ทะลึ่งตึงตังอย่างนี้แหละ เอาเข้าจริงขี้อายขนาด แต่พอฟังพฤติกรรมที่มันเล่าผมก็รู้สึกชอบกล โรงเรียนของมันมีวัฒนธรรมแบบไหนกันวะผมนึกในใจ

แม้ว่าตั้งแต่ประถมจนถึง ม. ต้น ผมจะเรียนในโรงเรียนชายล้วน แต่ช่วง ม. ปลาย ก็ได้เรียนในโรงเรียนชาย-หญิง พฤติกรรมที่เจ้าอ้วนเล่าให้ฟัง ผมไม่เคยเจอสมัยเรียน แม้แต่คนที่เกเรและเลวที่สุดในโรงเรียนก็ยังไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ผู้หญิงกับผู้ชายจะมีระยะห่างกันเสมอ และผู้ชายก็มักจะทำเท่หาเรื่องชกต่อยคนอื่นเพื่อปกป้องผู้หญิงเสียมากว่า ผู้ชายผู้หญิงทะเลาะกันบ้าง ตบตีกันก็คงมี แต่ลักษณะแบบที่เจ้าอ้วนเล่าให้ผมฟังนี้ ผมไม่เคยเห็น ถือเป็นความรู้ใหม่โดยแท้

2.
ผมมีข้อสังเกตเรื่องเพศจากมุมมองของภาษาไทย ในโลกของภาษาไทยนั้นไม่ได้แยกชาย-หญิงเด็ดขาดชั่วชีวิต ภาษาไทยไม่มีคำว่า boy หรือ girl หมายความว่าเด็กก็คือเด็ก "มีเพศเป็นเด็ก" ไม่ได้เป็นชายหรือหญิง เมื่อเด็กโตขึ้นจึงเริ่มแตกต่างออกเป็น "หนุ่ม" เป็น "สาว" แต่เมื่อผ่านวัยหนุ่มสาวจนแก่เฒ่าก็กลับสู่ความไม่มีเพศอีกครั้ง กลายเป็น "คนเฒ่าคนแก่" ถ้าจะมีเพศก็คือ "เพศผู้เฒ่า"

สถานะของชายหญิงที่ชัดเจนสำหรับภาษาไทยจึงเป็น "หนุ่ม" และ "สาว" หมายถึงวัยเจริญพันธ์ หรือวัยที่ "มีความสามารถในการสืบพันธ์" ดังนั้นเพศในภาษาไทยจึงมีหน้าที่ของมันชัดเจนตามขั้นตอนเจริญเติบโตของคน เมื่อคนเข้าสู่วัยเจริญพันธ์มีหน้าที่ต้องสร้างครอบครัว สืบทอดเผ่าพันธุ์ สถานะทางเพศจึงเกิดขึ้นเป็นการ "ชั่วคราว" เมื่อแก่เฒ่าลงไป หมดหน้าที่ในการสืบพันธ์ สถานะของเพศก็เจือจางลงไป ภาษาไทยจึงแยกคนแก่ไปเป็น "ผู้เฒ่าผู้แก่" และไม่มีความจำเป็นต้องระบุเพศอีกต่อไป ตรงส่วนนี้ก็แตกต่างจากภาษาฝรั่งอีก เช่น ภาษาฝรั่งใช้คำว่า man เรียกผู้ชาย และ old man เรียกคนแก่ หมายความว่า "ผู้ชายที่แก่" แต่ภาษาไทยไม่ได้เรียก "หนุ่มแก่" หรือ "หนุ่มเฒ่า" (คำว่า "ชายแก่" เป็นคำที่บัญญัติขึ้นภายหลังเพื่อให้สอดคล้องกับมโนทัศน์ของภาษาฝรั่ง) การเป็นผู้เฒ่าผู้แก่จึงเป็นการถอนตัวออกจากความมีเพศด้วย

จะเห็นว่าจากรากฐานของภาษาไทยดั้งเดิมนั้น สถานะทางเพศเป็นสิ่งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้มีมาแต่เกิด แล้วก็ไม่ได้ติดตัวไปจนตาย มโนทัศน์ของภาษาไทยดั้งเดิมไม่ได้สะท้อนถึงการยึดติดทางเพศแต่อย่างใด

การค้นพบเพศ หรือการถือกำเนิดขึ้นของเพศ ทั้งโดยร่างกายและกระบวนการทางสังคมนั้น เกิดขึ้นเมื่อคนกำลังเดินออกจากวัยเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาว ซึ่งก็คือวัยรุ่นนั่นเอง ดังนั้น เพศจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนวัยรุ่น เด็กจะเริ่มค้นพบเพศของตนและให้ความหมายกับมันก็ในช่วงแรกของวัยรุ่น

การค้นพบเพศ กล่าวได้อีกอย่างว่าเป็นการถือกำเนิดขึ้นของเพศในตัวคน ๆ นั้น  เป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยส่วนมากแล้วการค้นพบเพศของตนจะเกิดจากการหมายจำในวัยเด็ก ซึ่งถูกตอกย้ำโดยกระบวนการเลียนแบบผู้ใหญ่ และส่วนมากนั้นเด็กก็มักจะหมายจำผู้ใหญ่ที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับตน (ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไป)

แต่มนุษย์ก็มีสิ่งที่เรียกว่า เจตจำนง และเจตจำนงนี้เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้มีอำนาจรุนแรง และเป็นสิ่งที่สามารถเกิดก่อนวัยรุ่น ดังนั้นหากมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน และมีเจตจำนงที่มีอำนาจเพียงพอ มันย่อมส่งผลต่อการหมายจำและการค้นพบเพศในช่วงวัยรุ่น ผมเชื่อว่าการเกิดขึ้นของเพศ "อื่น" ก็มาจากกระบวนการเดียวกันนี้

สำหรับเพศชายแล้ว การค้นพบความเป็นชายในครั้งแรกเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างใหญ่หลวงต่อท่าทีและบทบาททางเพศที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เป็นสิ่งซึ่งจะกำหนดฝังแน่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการค้นพบแล้วจะเกิดการระบายออกซึ่งความเป็นชาย อันเป็นกระบวนการสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวของ "เพศชาย" ขึ้นในคน ๆ หนึ่ง และในวิถีทางระบายออกซึ่งความเป็นชายนี้เองคือสิ่งที่จะกำกับความเป็นชาย และวิถีทางแสดงออกซึ่งความเป็นชายไปตลอดอายุทางเพศของคน ๆ นั้น

3.
คติของ "ความเท่าเทียมทางเพศ" เป็นสิ่งที่สังคมไทยรับมาจากตะวันตก เป็นอุดมการณ์หนึ่งของลัทธิเสรีนิยมและเสรีนิยมใหม่ และเป็นคติที่ผูกพ่วงกับมโนทัศน์สมัยใหม่ที่มากันเป็นชุด (สิทธิมนุษยชน, สิทธิสตรี, สิทธิเด็ก ฯลฯ) สังคมไทยสมัยใหม่ต่างเชื่อมั่น และไว้วางใจในคติเหล่านี้อย่างไม่มีข้อสงสัย (ในทางอุดมการณ์) แต่ในทางปฏิบัติ เรามักเห็นสิ่งที่ไม่ลงรอยกับคติเหล่านี้อยู่เสมอ ๆ  และสังคมไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่ละเมิดทั้งสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก และอะไรอื่น ๆ อีกมากมายที่ผูกพ่วงมากับมโนทัศน์ชุดเดียวกันนี้

เมื่อเกิดความไม่ลงรอยขึ้นระหว่างคติเหล่านี้กับสังคมไทย ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผิดก็มักจะเป็น "สังคมไทย" อยู่เสมอ  จึงมักได้คำตอบว่า "สังคมไทยมีปัญหา" และ "ต้องแก้ไข" เพื่อให้สังคมสอดคล้องกับคติเหล่านี้ในแทบจะทุกกรณีปัญหา

น่าสงสัยว่าจะมีกรณีปัญหาที่สังคมไทยเป็นฝ่ายถูก และคติเหล่านี้เป็นฝ่ายผิดอยู่บ้างหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนคติความคิดความเชื่อตามตะวันตกมาเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คติของ "ความเท่าเทียมทางเพศ" ได้ลงมือรื้อถอนหลายสิ่งหลายอย่างออกไปจากสังคมไทย และในระยะหลัง ทั้งคติ "ความเท่าเทียมทางเพศ" และ "สิทธิสตรี" ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ และดูเหมือนจำเลยของคติเหล่านี้จะมี "วัฒนธรรมผู้ชาย" เป็นตัวชูโรงอยู่เสมอ ที่ผ่านมาปัญญาชนไทยจำนวนมาก ก็ลงมือถื้อรากถอนโคน "วัฒนธรรมผู้ชาย" กันอย่างสนุกสนาน โดยมีคติ "ความเท่าเทียมทางเพศ" และ "สิทธิสตรี" เป็นเครื่องมือสำคัญ

สำหรับใครสักคนที่ชั่วชีวิตไม่เคยรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกมาก่อน ไม่ประสีประสากับเครื่องจักรอันสลับซับซ้อน เปิดฝากระโปรงรถขึ้นให้เขาดู และถามเขาว่า "คุณอยากจะถอดอะไรออกมาก่อน" สิ่งที่เขาตอบก็ย่อมจะต้องเป็นสิ่งที่ดูง่ายดายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด และดึงออกมาง่ายที่สุด

คติ "ความเท่าเทียมทางเพศ" ก็เช่นเดียวกับคนที่ไม่ประสีประสากับเครื่องยนต์กลไก มันไร้เดียงสามากต่อสังคมไทย เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่งอกงามขึ้นจากสังคมตะวันตก แน่นอน มันไม่ได้เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ หรือเลวร้าย แต่ความไร้เดียงสาของมันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายสังคมไทยได้เช่นกัน

ความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่มีอะไรในธรรมชาติที่เท่ากันเป๊ะทุกส่วนสัด แม้แต่ใบไม้จากไม้ต้นเดียวกัน ก็ไม่มีใบไหนที่สามารถทาบทับกันได้สนิท ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนสังคม แม้ว่าเราจะมี "สังคมในอุดมคติ" เป็นเป้าหมายแล้วก็ตาม เราก็ไม่สามารถเดินไปสู่อุดมคติด้วยการฝืนธรรมชาตินี้

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะเท่าเทียมกันได้หรือไม่ แต่ปัญหาคือความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงการไร้การกดขี่ สังคมที่เท่าเทียมทางเพศไม่มีอะไรประกันการกดขี่ เพราะเพศเดียวกันก็สามารถกดขี่กันได้ สิ่งที่ต้องแยกใช้ชัดก็คือ "ความแตกต่าง" ไม่ได้หมายถึงการกดขี่ในทุกกรณี ชายและหญิงคือความแตกต่าง และต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือผลของความ "แตกต่าง" และอะไรคือ "การกดขี่" ผมเชื่อว่าผู้หญิงไทยจริง ๆ ก็ต้องการให้ผู้ชายปฏิบัติต่อตนในฐานะของ "เพศ" ที่แตกต่าง ต้องการการให้เกียรติที่ต่างไปจากการที่ผู้ชายปฏิบัติต่อผู้ชายด้วยกัน ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในการรักษาระบบความสัมพันธ์ของชายและหญิงเอาไว้ เพราะมันมีความ "แตกต่าง" ที่ต้องยอมรับ แล้วถ้าผู้หญิงต้องลงมาต่อสู้ในเกมของผู้ชายก็จะต้องได้รับความกดดันอย่างหนึ่ง ขณะที่ผู้ชายก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นพื้นที่ของชายและหญิงจึงเกิดขึ้นในสังคม ผู้หญิงที่ลงมาเป็น "ตัวเล่น" ในพื้นที่ของผู้ชายจึงต้องถูกปฏิบัติเป็นพิเศษ ก็เพราะการตระหนักถึงความแตกต่างนั่นเอง

ปัญหาเรื่องพื้นที่ในสังคมระหว่างชายและหญิงในปัจจุบัน ทั้งซับซ้อนและน่าเป็นห่วง ซับซ้อนก็เนื่องมาจากเต็มไปด้วยคติต่าง ๆ ปนเปกันมั่วซั่วไปหมด น่าเป็นห่วงก็เนื่องจากคติที่ไร้เดียงสาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างไร้เดียงสาไม่แพ้กัน

หลายครั้งหลายหน เราพบว่า ยิ่งเราเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ยิ่งเรากดดันให้เกิดสิทธิทางเพศ การละเมิดสิทธิ์และทำร้ายกันระหว่างเพศกลับยิ่งรุนแรงขึ้น

4.
คติของผู้ชายและวัฒนธรรมของผู้ชายไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่โดด ๆ  คติของความเป็นชายจะไม่เกิดขึ้น และไม่สามารถดำรงอยู่ หากปราศจากซึ่งความเป็นหญิง ความเป็นหญิงและความเป็นชายเป็นคู่ต่างที่เกิดขึ้นจากอีกฝ่าย และถูกดึงดูดเข้าหากัน มีอิทธิพลต่อกัน และกำหนดซึ่งกันและกัน หมายความว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดความเป็นชายก็คือความเป็นหญิง (เช่นเดียวกันในทางกลับกันสำหรับความเป็นหญิง)

ทุกวันนี้บนรถเมล์หรือรถไฟฟ้าผู้ชายไม่ลุกให้ผู้หญิงนั่ง ผู้ชายที่ไม่ลุกเพราะไม่อยากเมื่อยนั้นอาจจะมี แต่ผมเชื่อว่าที่ผู้ชายจำนวนไม่น้อยไม่ลุกให้ผู้หญิงนั่งก็เพราะรู้สึกถึงความอีหลักอีเหลื่อและเขินอายเสียมากกว่า ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายรู้สึกอีหลักอีเหลื่อในการแสดงความเป็นสุภาพบุรุษต่อผู้หญิง ก็ย่อมมาจากความเป็นหญิงในสังคมด้วย

เราต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมสุภาพบุรุษถูกทำให้เชยและไม่เป็นที่นิยม ความเป็นลูกผู้ชายที่บางครั้งเราบอกไม่ได้ว่ามันกดขี่หรือให้เกียรติเพศหญิง แต่ไม่ทันได้ตรวจสอบมันอย่างถี่ถ้วน เราก็สูญเสียมันไปเสียแล้ว

ก่อนที่สังคมไทยจะมีรถเมล์ พื้นที่ของชายและหญิงถูกกำหนดไว้อย่างไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน มีสถานที่ที่ผู้หญิงห้ามนั่ง และผู้ชายห้ามผ่าน แม้ว่า "คำอธิบาย" ที่มีให้กับข้อห้ามเหล่านั้นจะดูเหมือนว่าเป็นการกดขี่ทางเพศ แต่เราต้องไม่เชื่อในความไร้เดียงสาของถ้อยคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่พูดอ้อมได้อย่างแยบคายเยี่ยงสังคมไทย ไม่จำเป็นเสมอไปว่า "คำอธิบาย" เหล่านั้นจะต้องเป็น "วาทกรรม" ที่ใช้ในการกดขี่ การที่มันจะเป็น "วาทกรรม" หรือไม่ และมีบทบาทในการกดขี่หรือไม่ เราต้องดูที่พื้นที่ในการปรากฏตัวของมันเป็นสำคัญ แต่สังคมไทยก็มักจะนำ "คำอธิบาย" เหล่านั้นเข้าไปเหมารวมกับ "วาทกรรม" ที่กดขี่อย่างมักง่ายอยู่เสมอ

ความเป็นสุภาพบุรุษ และวัฒนธรรมลูกผู้ชายถูกรื้อถอนไปได้อย่างไร ผมจะไม่ยก คติ "ความเท่าเทียมทางเพศ" และ "สิทธิสตรี" ขึ้นเป็นจำเลยเพียงฝ่ายเดียว อันที่จริงแล้วความสับสนและซับซ้อนของพื้นที่ในสังคมสมัยใหม่คือปัจจัยสำคัญที่เข้ามากำหนดความเป็นหญิงและความเป็นชาย และมีส่วนในการกัดเซาะวัฒนธรรมของผู้ชายลงไป

เมื่อวัฒนธรรมของผู้ชายไม่ถูกขัดเกลา เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของพื้นที่ที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความเป็นลูกผู้ชายสุดขั้วที่เชยและอีหลักอีเหลื่อ หรือไม่ก็ความไม่เป็นสุภาพบุรุษ และ "หน้าตัวเมีย" ไปเลย (คำว่าหน้าตัวเมียนี้ เป็นคำที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงใช้ด่าผู้ชายโดยที่ผู้หญิงเองก็คิดว่ามันเป็นเครื่องมือในการ "ด่า"ผู้ชายมากกว่าการกดขี่ทางเพศ เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะเมื่อผู้หญิงด่าผู้ชายว่าหน้าตัวเมีย ก็เป็นการกระทบถึงคุณภาพของความเป็นชาย และวัฒนธรรมผู้ชายของผู้ถูกด่าโดยตรง หญิงผู้ด่าคำนี้ย่อมต้องเรียกร้อง ความเป็นชาย จากผู้ถูกด่า โดยที่ในเวลาเดียวกัน คำด่านี้ก็เป็นคำที่สามารถมองให้ประหวัดมากดขี่เพศหญิงได้ หากมองแบบไม่ยอมรับในความแตกต่างระหว่างหญิงและชาย อีกข้อสังเกตคือ ไม่มีคำด่าในทำนองเดียวกันนี้ที่ใช้กับผู้หญิง แต่จะมีคำอื่นที่ใช้เรียกหรือแซวผู้หญิงว่ามีลักษณะเหมือนผู้ชาย เช่นคำว่า "ทโมน" แต่คำเหล่านี้ก็ไม่ใช่คำด่า และไม่มีความหมายที่รุนแรง)

5.
สักเมื่อปีก่อนเพื่อนนักเขียนคนหนึ่งเล่าเรื่องราวน่าสะเทือนใจเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง ช่วงเวลานั้นหนังสือพิมพ์รายวันเล่นข่าวการเรียงคิวข่มขืนของวัยรุ่นต่อเนื่องกันเป็นเดือน ผู้ต้องหามีตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบไปจนถึงยี่สิบกว่า ๆ ส่วนเหยื่อก็มีตั้งแต่อายุสิบสามไปจนถึงยี่สิบ วันหนึ่งผมนั่งคุยกับเพื่อนนักเขียนคนนี้ที่ร้านหนังสือใต้ดิน เปรยให้เขาฟังว่าผมกำลังตรวจสอบสถานะของความเป็นชายอยู่ เขาจึงเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเขาทำงานประจำเป็นผู้ดูแลบัญชีของร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ทำให้เขาได้คลุกคลีกับเด็กวัยรุ่นที่เป็นพนักงานของร้าน เขาเล่าให้ฟังว่าเด็กเหล่านี้มาจากครอบครัวที่แตกแยก ออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก มารวมตัวอยู่กันเป็นแก๊งค์ เช่าห้องอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งเมื่อหนังสือพิมพ์ลงข่าวเรียงคิวข่มขืน เด็กเสริฟคนหนึ่งก็เล่าให้เพื่อนของผมฟังว่า จริง ๆ แล้วเรื่องเรียงคิวกันนี้เป็นเรื่องปรกติ แล้วโดยมากฝ่ายหญิงจะยินยอม แม้ในกรณีที่ไม่ยินยอมก็ไม่ขัดขืน แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ "ยอมรับได้" เพราะโดยมากก็เป็นคนรู้จักกัน หรือรู้จักผ่าน ๆ มาทางเพื่อนของเพื่อน หรือเพื่อนของแฟน เมื่อชวนมาอยู่กันเป็นกลุ่ม ก็จะมีการ "ขอกัน" หรือ "แบ่งกัน" เมื่อถูกขอผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะ "ให้"

ฟังเพื่อนเล่าจบผมถึงกับอึ้ง

ปัจจุบันนี้เป็นที่รู้กันในหมู่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องว่า เรื่อง "ขอกัน" นี้กลายเป็นเรื่องปรกติ และเป็นวัฒนธรรมของเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยแล้ว ชั่วเวลาเพียงสิบปี จากการ "ขอจับนม" ของเจ้าอ้วน มันได้ถูกพัฒนาเป็นการ "ขอเอา" ของเด็กในปัจจุบัน สำหรับเด็กชายและเด็กหญิงที่เป็นเพื่อนกัน การ "ขอ" และการ "ให้" กันในเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งปรกติธรรมดา

แม้ว่าเรื่องนี้จะดูน่าตกใจ และน่าเป็นห่วง แต่ถ้ามันเป็นวัฒนธรรมของเด็กบางกลุ่มไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง สำหรับผมโดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ไม่ถึงกับต่อต้านโดยสิ้นเชิง ถ้าเด็กเหล่านั้นมี "ความรับผิดชอบ" เพียงพอ และรู้จักป้องกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทั้งการป้องกันและความรับผิดชอบดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในมโนสำนึกเอาเสียเลย เรื่องจึงมักลงเอยด้วยการมีคนเจ็บปวดและถูกทำร้าย ซึ่งก็มักจะเป็นฝ่ายหญิง เพราะผู้ชายเมื่อทำเสร็จแล้วก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ผู้หญิงมีโอกาสตั้งท้อง เมื่อเด็กที่ไม่พร้อมตั้งท้องจึงเกิดเรื่องเศร้าซ้ำซ้อน แม่ใจร้ายที่ฆ่าลูกก็กลับกลายมาเป็นข่าวประจำตามหน้าหนังสือพิมพ์

สายไปหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ต้องถามกันว่า ผู้ชายปัจจุบันนี้เป็นผู้ชายแบบไหน (ผู้หญิงปัจจุบันเป็นผู้หญิงแบบไหน) ทั้งความเป็นหญิงและความเป็นชายกำหนดซึ่งกันและกันอย่างไร คติของความเป็นชายปัจจุบันเป็นเช่นไร ถูกทำให้บิดเบี้ยวไปขนาดไหนแล้ว หลงเหลือคุณค่าอะไรให้เด็กรุ่นใหม่ยึดถืออยู่บ้าง จะตอบคำถามเหล่านี้ต้องกลับไปที่เรื่องพื้นที่อีกครั้ง

ปัจจุบันเทคโนโลยีของการสื่อสารพัฒนาไปก้าวหน้า เด็กทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือเหล่านี้นับวันประสิทธิภาพจะสูงส่ง การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างหลากหลาย ทั้งการคุยกันทางโทรศัพท์ การส่ง sms การติดต่อกันทางอินเตอร์เน็ต แต่พื้นที่ของความสัมพันธ์ทางเพศในปัจจุบันถูกลดทอนลงให้เหลือมิติที่แคบและตื้นอย่างน่าประหลาดใจ พื้นที่สำหรับกิจกรรมระหว่างชายหญิงมีตั้งแต่ โรงหนัง โรงโบว์ลิ่ง ตู้คาราโอเกะ ตู้สติกเกอร์ ห้างสรรพสินค้า แต่ทั้งหมดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้รูปแบบความสัมพันธ์ของชายและหญิงมีความหลากหลายขึ้นเลย

ความสัมพันธ์ทางเพศถูกลดทอนให้เหลือเพียงการร่วมเพศ กิจกรรมทางเพศที่เคยมีมากมายหลายระดับก็ถูกลดทอนให้เหลือเพียงการร่วมเพศ ระดับของความสัมพันธ์ทางเพศหดหายและตื้นเขินอยู่แค่เพียงการร่วมเพศ รูปแบบต่างๆ ของความสัมพันธ์ก็ถูกทำให้แคบและตื้นโดยมีเป้าหมายแค่การร่วมเพศ

ทั้งที่เราเคยมีกิจกรรมทางเพศอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน ไปจนถึงรำวง ทั้งที่เรามีระดับความสัมพันธ์ทางเพศที่นุ่มนวลและมากมายหลายระดับ ตั้งแต่การแอบมอง เขียนจดหมายรัก ไปจนถึงการโอ้โลม และทั้งที่ความเป็นไปได้ในความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงนั้นสามารถมีปลายทางได้มากมาย ไม่จำเป็นจำต้องเป็นไปในเชิงชู้สาว และไม่จำเป็นจำต้องลงเอยด้วยการร่วมเพศ แต่ทั้งหมดนี้ได้ถูกลดทอนให้เหลือเพียงความสัมพันธ์ทางเพศที่ตื้นและแคบอยู่แค่การร่วมเพศ

สิ่งทั้งหมดนี้บอกกับเราอย่างชัดแจ้งว่า สังคมนี้กำลังมีปัญหาเรื่องพื้นที่สำหรับการสัมพันธ์และการแสดงออกทางเพศ พื้นที่สำหรับการสัมพันธ์และแสดงออกทางเพศที่เคยมีอยู่อย่างหลากหลาย ในวัฒนธรรมซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สั่งสมมา ได้ปราศนาการไปสิ้นในสังคมสมัยใหม่

แต่ขณะเดียวกัน สังคมสมัยใหม่กลับอวดอ้างหลอกลวงให้เราเชื่อว่ามันมีพื้นที่ในการสัมพันธ์และแสดงออกทางเพศที่กว้างขวาง  บริโภคนิยมได้ยั่วยุ เย้ายวนให้คนหมกมุ่นและใฝ่หาเรื่องเพศ แต่มันก็ลดทอนมิติของการแสดงออกทางเพศให้เหลือแต่เพียงการบริโภคและเสพสม  ส่วนเทคโนโลยีทันสมัยก็ทำให้เราเชื่อว่ามันได้เอื้อให้เกิดพื้นที่ในการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไม่มีขีดจำกัด  แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่มันทำคือการทำลายความมี "กาลเทศะ" ลง ทำให้เหมือนมีอิสระในการ "สัมพันธ์" ทุกที่ทุกเวลา  และการสัมพันธ์อย่างไม่มีกาละเทศะนี้เองที่ได้ทำลายพื้นที่อื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดการสัมพันธ์ทางเพศที่ต่างระดับออกไป ทำลายพื้นที่ที่ได้ห่อหุ้มรูปแบบของความสัมพันธ์ทางเพศอื่น ๆ ที่หลากหลายลงไป  ดังนั้น ระดับของความสัมพันธ์ทางเพศจึงถูกรวบรัดโดยเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เหลือเพียงไม่กี่ขึ้นตอน ทำให้จินตนาการและวุฒิภาวะในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศของเด็กรุ่นใหม่มีอยู่แค่ "ขอจับนม" หรือ "ขอเอา" และจินตนาการเกี่ยวกับการสัมพันธ์ทางเพศก็เหลือแค่การเลือกระหว่างถุงยางรสช็อกโกแลตหรือรสกล้วย

ในตอนที่ได้ฟังเรื่องเจ้าอ้วนบังคับจับนมเพื่อนนักเรียนหญิง ผมเคยคิดเอาไว้ว่า เป็นเพราะเจ้าอ้วนขี้อาย และหวาดกลัวความสัมพันธ์กับผู้หญิงจนเกินไป เป็นเพราะเจ้าอ้วนอยู่แต่กับผู้ชายและไม่เคยถูกสอนให้รู้จักการสัมพันธ์กับผู้หญิง ผู้ชายที่มีแนวโน้มจะใช้กำลังรุนแรงกับผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ชายที่ไม่มีประสบการณ์ในการสัมพันธ์ทางเพศ หมายถึงเป็นผู้ชายที่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะรับมือกับความแตกต่าง ไม่เคยเรียนรู้ว่าการสัมพันธ์ทางเพศนั้น มีได้มากมายหลายระดับ ซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกและกว้างขึ้น ผู้ชายเหล่านี้ได้แต่รับรู้ความเป็นหญิงผ่านผู้ชายด้วยกัน หรือไม่ก็เก็บตัวอยู่คนเดียว หรือสัมพันธ์กับความเป็นหญิงผ่านทางวัตถุที่ไม่มีจิตใจ ผ่านสื่อ ผ่านสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้หญิงจริง ๆ  ผู้ชายที่ไม่ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ทางเพศผ่านมนุษย์ที่มีเพศที่แตกต่างจริง ๆ เหล่านี้ สามารถทำร้ายคนต่างเพศได้เพียงเพราะปรารถนาจะใกล้ชิด แต่ก็หวาดกลัวและไร้ประสบการณ์เกินกว่าที่จะสัมพันธ์อย่างนิ่มนวล ไร้ซึ่งจินตนาการในการสัมพันธ์ พิกลพิการ และห่างไกลจากความสัมพันธ์ทางเพศที่ลุ่มลึกและงดงาม

ดูเหมือนสังคมปัจจุบันจะเป็นโรงงานผลิตผู้ชายแบบนี้

ส่งท้าย
ไม่ว่าจะดิ้นรนต่อต้านเพียงไหน สุดท้ายเจ้าอ้วนถูกจับส่งไปเรียนเมืองนอก ส่วนหนุ่มอีกคนดูเหมือนจะขบถได้สำเร็จ ในทริปนั้นเราได้ร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาของลูกชายของครอบครัวหนึ่งที่มากับคณะ สายตาของผู้ใหญ่ทุกคนในคณะมองเด็กหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามนั้นด้วยความชื่นชม ผมไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นต้องการให้เด็กหนุ่มทั้งสองคนนี้เรียนรู้อะไรจากสายตาชื่นชม (ที่ตะหวัดหางตามาทางทั้งสองด้วยสายตาอีกแบบ) เหล่านั้น แต่ผมบอกได้เลยว่ายิ่งชี้ให้เด็กทั้งสองดูความสำเร็จแบบนั้นเท่าไร จะยิ่งผลักให้เขาแปลกแยก และออกห่างจากตัวเอง ถ้าผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่รู้จักที่จะสอนเรื่องง่าย ๆ ให้ลูกตัวเอง ไม่รู้จักที่จะเห็นในคุณค่าที่มีอยู่ในลูกตัวเอง ไม่รู้จักที่จะเรียนรู้จากลูกตัวเอง ไม่รู้จักที่จะสนับสนุนลูกตัวเองในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ให้เขาค้นหาวิถีทางไปสู่ความสำเร็จในแบบของเขาเอง ให้เขามีคุณค่าขึ้นจากตัวเขาเอง เคารพตัวเองเพื่อที่เขาจะเคารพและให้เกียรติคนอื่น  Mister Desperado ผู้ทำร้ายคนอื่นย่อมจะเกิดขึ้นมากมายยิ่งกว่าในหนังเกาหลี

อยากจะรู้เรื่องวัฒนธรรมของผู้ชายที่จะสืบพันธ์ในอนาคต ก็ดูวัฒนธรรมของผู้ชายที่กำลังสืบพันธ์กันอยู่วันนี้ อยากจะรู้จักที่มาของ "วัฒนธรรมข่มขืน" ของเด็กวัยรุ่นในวันนี้ ก็ดูว่าพ่อแม่ของพวกมันสืบพันธ์กันด้วยคติแบบไหนในวันนั้น

พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน กรกฎาคม - กันยนยน 2548


Comments