กฎหมายอาญามาตรา 112 กับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทย



อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555


จะพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในสามมิตินะครับ มิติแรกคือมิติทางประวัติศาสตร์ จะเริ่มที่จุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ซึ่งเราเรียกกันกว้างว่าสมัยใหม่ ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า modern 

ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาตามที่มักจะพูดกัน ยุคสมัยใหม่เริ่มต้นเมื่อมนุษย์รู้จักวิทยาศาสตร์ รู้จักใช้เหตุผล เทคโนโลยี เครื่องจักร ระบบอุตสาหกรรม แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เหตุผล ระบบอุตสาหกรรม ยังไม่ใช่หัวใจของสิ่งที่เรียกว่าความเจริญของมนุษย์จริง ไม่ใช่สปิริตหรือว่าแก่นแท้หรือจิตวิญญาณของสมัยใหม่

สิ่งที่เป็นหัวใจคืออะไร

การแสดงออกของสิ่งที่เป็นหัวใจของสมัยใหม่เกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18  สองร้อยกว่าปีมาแล้ว การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่กล่าวกันว่าเป็นมารดาของการปฏิวัติทั้งปวง ก่อนหน้าที่จะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ทั่วทั้งยุโรปหรือว่าทั่วทั้งโลก รัฐส่วนใหญ่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ระบอบของการปกครองที่ใช้อำนาจเหนือมนุษย์ในรัฐ เหนือสมาชิกอื่นในสังคมเดียวกัน ผมอยากจะเรียกกว้างว่าคือระบอบสิทธิธรรมภาษาอังกฤษใช้คำว่า authority 

ระบอบหรือระบบการเมืองที่เรียกว่าสิทธิธรรมนี้มีลักษณะอย่างไร ตัวอย่างซึ่งเป็นระบอบหรือระบบสิทธิธรรม ที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางก็คือระบอบกษัตริย์ ผมจะใช้ระบอบกษัตริย์เป็นตัวอย่างในการอธิบายสิ่งที่เรียกว่าระบอบสิทธิธรรม

ระบอบกษัตริย์อาศัยความเชื่อของมนุษย์ในการปกครอง ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่องอำนาจของสิ่งเหนือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า เทวดา ผี หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า บรรดาผู้ปกครองซึ่งอยู่ในระบอบ กษัตริย์และขุนนาง ควบคุมอำนาจทางการเมืองไว้ในหมู่พวกของตน ไว้ในชนชั้นของตน ด้วยการเชื่อมโยงกษัตริย์เข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้ากับความเป็นสายเลือดศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมโยงมาจากพระเจ้า เชื่อมโยงกับเทวดา เชื่อมโยงกับผี หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า

ในยุโรปสมัยกลาง ซึ่งเป็นสมัยที่พระมีอำนาจทางการเมืองอย่างมากมาย เพราะผูกขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างพระที่มีตำแหน่งสูงกับพระเจ้าเอาไว้ เพราะฉะนั้นกษัตริย์และผู้ปกครองจะใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ใช้พระเจ้า ผี เทวดา แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า ในการสถาปนาอำนาจเหนือชีวิตและความตายของราษฎร

ในระบอบที่เราเรียกว่าสิทธิธรรมนี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิเสรีภาพ ไม่มีนะครับ เพราะความสำนึกในเรื่องนี้ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ราษฎรนะครับ สิ่งที่เรียกว่าราษฎร สมาชิกของรัฐที่เป็นรัฐก่อนสมัยใหม่ ในสายตาของผู้ปกครองแล้วราษฎรคือทรัพยากรของกษัตริย์ คือทรัพยากรของรัฐ เป็นสมบัติของกษัตริย์ เป็นแรงงานของรัฐ เป็นคนในบังคับของผู้ปกครอง

ถ้าหากเราอ่านพงศาวดาร อ่านประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า เวลามีการดำเนินคดีในสมัยนั้นเขาก็จะดูว่าเป็นคนในบังคับของใคร คนในบังคับของเจ้าพระยาคนโน้น เจ้าพระยาคนนี้ ถ้าช่วงที่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือประเทศฝรั่งเศสกับอังกฤษที่มีสิทธิเหนือไทยในเรื่องกฎหมาย เขาก็จะดูว่าถ้าเป็นคนบังคับของอังกฤษรัฐไทยก็จะทำอะไรไม่ได้

เพราะฉะนั้น แนวคิดหรือมุมมองที่มีต่อราษฎรของผู้ปกครองในระบอบสิทธิธรรมหรือระบอบกษัตริย์นี้ มองราษฎรเป็นทรัพย์สมบัติ เป็นทรัพยากร เป็นแรงงาน เป็นคนในบังคับ ราษฎรที่เป็นทรัพยากรของผู้ปกครองในระบอบนี้มีสองลักษณะ ลักษณะที่หนึ่งคือทาส ลักษณะที่สองคือไพร่ ทาสคือคนที่ถูกตีตราว่ามีเจ้านายนะครับ ส่วนไพร่อาจจะมีหรือไม่มีเจ้านายก็ได้ ไพร่จะมีอิสระกว่า แต่ก็จะถูกใช้งานหนักกว่า มีชีวิตที่ยากลำบากกว่า เพราะว่าไม่มีตรานะครับ คือไม่มีเจ้านาย เหมือนกับของกลางนะ ใครจะใช้ก็ได้ เจ้านายคนไหนจะเกณฑ์ใช้ก็ได้ ไม่ได้เป็นคนของใครเป็นการเฉพาะ ถ้าเกิดไม่อยากถูกใช้ก็ต้องส่งส่วยนะครับ ในระบอบสิทธิธรรมนี้ทาสจึงสบายกว่าไพร่ คนที่มีเจ้านายจะสุขสบายกว่า จะได้ดิบได้ดีกว่าการไม่มีเจ้านายคุ้มหัว

ที่ประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18  เกิดการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของคนกลุ่มใหม่ คนกลุ่มใหม่ซึ่งเรียกว่าฐานันดรที่สามนะครับ  ฐานันดรที่หนึ่ง คือกษัตริย์และขุนนาง ฐานันดรที่สองคือพระ เกิดคนกลุ่มใหม่คือฐานันดรที่สามขึ้น ซึ่งต้องการสิทธิทางการเมือง โดยฐานันดรที่หนึ่งและสองมีความเห็นว่า สิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องของขุนนางกับพระเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ นี่คือสิ่งที่เขายืนยันในสภา แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ ก็เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ใช้เวลาถึงสิบปี แต่ล้มเหลว

แม้ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสจะไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่สำเร็จคือสำนึกใหม่ สำนึกใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือสำนึกว่าคนทุกคนเท่ากัน คนทุกคนเกิดมาพร้อมสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์มากกว่าใคร ไม่มีใครมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์มากกว่าใคร ไม่มีใครได้รับโองการพิเศษจากสิ่งเหนือมนุษย์ ไม่มีใครมีอำนาจพิสดาร มีคุณงามความดีวิเศษเหนือใครอื่น ไม่มี นี่คือสำนึกใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

ประเทศไทย มีการเรียกร้องสิทธิ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  นักเขียนชื่อเทียนวรรณ เรียกร้องให้มีสภา หลังจากเรียกร้องเทียนวรรณถูกจับเฆี่ยนฐานหมิ่นตราราชสีห์ และถูกจับขังคุก 18 ปี หมิ่นตราราชสีห์ก็คือคล้ายกับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อำมาตย์สมัยรัชกาลที่ 5 บอกว่าเทียนวรรณบ้า เป็นไพร่จะรู้อะไรเรื่องฝรั่ง อำมาตย์และชนชั้นสูงในสมัยนั้น สมัยที่เรียกว่าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรัฐไทยให้เป็นสมัยใหม่ สร้างรถไฟ สร้างเครื่องจักร เรือกลไฟนะครับ เพื่อที่จะอ้างว่าตัวเองรู้จักตะวันตกมากกว่า เข้าถึงความเป็นสมัยใหม่มากกว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ในรัชกาลที่ 5, 6, 7 นะครับ อำมาตย์และผู้ปกครองอ้างว่าตนเอง พวกตัวเอง รู้จักประชาธิปไตยมากกว่าชาวบ้าน ชาวบ้านไม่รู้จักประชาธิปไตย ราษฎรไม่รู้จักประชาธิปไตย ยังไม่พร้อมสำหรับการปกครองแบบสมัยใหม่ เพราะราษฎรไม่มีการศึกษา

อำมาตย์ได้แปลงความเป็นสมัยใหม่ แปลงความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ให้กลายเป็นสิ่งเหนือมนุษย์ แล้วมีแต่ตัวเองเท่านั้นที่เข้าถึง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 อำมาตย์ทำให้ความเป็นสมัยใหม่มีลักษณะเหมือนกับความดีงามเหนือมนุษย์ กลายเป็นเหมือนกับนามธรรมแล้วให้ตัวเองสามารถที่จะเข้าถึง แล้วบอกว่าราษฎรเข้าไม่ถึงความเป็นสมัยใหม่นะ ไม่มีการศึกษา ไม่รู้จักภูมิปัญญาของฝรั่ง ผลก็คือ การปกครองแบบสมัยใหม่ในประเทศไทยก็ยังเป็นการใช้สิทธิธรรมแบบเก่าปกครองต่อไปในระหว่างรัชกาลที่ 5, 6, 7 จนกระทั่ง 2475  คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ก่อนที่จะเข้ามาห้องนี้ จะมีเอกสารอยู่ที่โต๊ะทางซ้ายนะครับ ถ้าท่านใดหยิบมาแล้ว เอกสารนี้คือประกาศของคณะราษฎรนะครับ เป็นเอกสารราชการนะ ไม่ต้องตกใจ ไม่ผิดกฎหมาย อันนี้เป็นเอกสารราชการซึ่งผมจะอ่านบางวรรค บางตอนที่คณะราษฎรประกาศเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือยึดอำนาจจากกษัตริย์นะครับ มีบางประโยคที่ผมอยากจะเน้น แต่ว่าผมจะอ่านประมาณครึ่งย่อหน้า

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากมือข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดรวบรวมทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนเสร็จแล้ว ทหารปลดกองหนุนแล้วไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบและเสมียนไม่ให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้รํ่ารวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำแต่อย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันไปเรื่อย เงินมีเหลือเท่าใดก็เอาฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรมปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

สิ่งที่ผมจะให้สังเกตก็คือประโยคที่บอกว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลกษัตริย์ที่เหนือกฎหมายสองประโยคนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสำนึกที่เรียกว่าการปกครองสมัยใหม่ที่ไม่เชื่อเรื่องสิทธิธรรมแบบเก่านั้น เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ประกาศของคณะราษฎรฉบับนี้ โดยเฉพาะสองประโยคข้างต้นนั้น ได้เป็นหลักฐานยืนยันว่าความสำนึกที่เรียกว่าสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบสมัยใหม่ เกิดขึ้นแล้วพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง2475

ประเด็นที่สองในเรื่องของเนื้อหาของสิ่งที่เรียกว่าสิทธิเสรีภาพ

ปัจจุบัน จะเห็นว่าสิทธิเสรีภาพจะมีความหลากหลายพอสมควร มีกฎหมายระหว่างประเทศ มีปฏิญญาสากล มีข้อตกลงของนานาชาติที่วางหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้มากมาย มีทั้งกฎหมายแบบอ่อน ที่เค้าเรียกว่า soft law  กฎหมายแบบเข้มข้นก็มี คำว่าสิทธิมนุษยชนทั้งหมดในปัจจุบัน สิทธิทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนามาจากศตวรรษที่ 18 ทั้งสิ้น จนกระทั่งปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนหลากหลาย แต่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สิทธิสตรี สิทธิใดก็ตามล้วนมีที่มาจากรากเหง้าอันเดียวกัน ก็คือสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคดังที่ผมได้กล่าวมา

มีคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา ซึ่งผมจะอ่านในภาคภาษาไทยในสองประโยคแรก

เราถือว่านี่คือความจริงที่เป็นหลักฐานในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและมีสิทธิแต่กำเนิดอันไม่อาจพรากจาก

อันนี้อยู่ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา อยากจะให้ดูคำว่า อันไม่อาจพรากจากภาษาอังกฤษเค้าใช้ unalienable หรือ inalienable เอเลี่ยนที่แปลว่า ต่างดาวมนุษย์ต่างดาวนี่แหละ

unalienable หรือ inalienable คือสิทธิที่ไม่อาจพรากจาก หมายความว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคซึ่งเป็นหลักสากลอันนี้ ไม่อาจพรากจาก คือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เหมือนกับแขน เหมือนกับขา เหมือนกับมือ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ที่แยกออกมาจากเราไม่ได้ ถ้าแยกออกมาเมื่อไรความเป็นมนุษย์จะไม่สมบูรณ์ จะขาดพร่องไปทันที อันนี้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และไม่อาจพรากจาก ใครก็เอาไปจากเราไม่ได้ คำประกาศอิสรภาพอเมริกานี้คือความเคลื่อนไหวทางปัญญาแรก  เป็นการประกาศสำนึกเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพครั้งแรก แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับการประกาศสิทธิพลเมืองของสภาแห่งชาติในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย

ปัจจุบัน สิทธิทุกอย่างยืนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค

ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ เป็นสิทธิพื้นฐานแต่กำเนิดที่ไม่อาจพรากออกมาจากมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ และนี่คือสำนึกของมนุษย์สมัยใหม่ มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ ในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตและอาศัยอยู่นี้ จะไม่เป็นมนุษย์ถ้าเกิดไม่ประกอบไปด้วยสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน คือถ้าไม่มีสิทธิ เสรีภาพก็ไม่ถือว่าเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ อันนี้เป็นหลักการสากล อยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ อยู่ในปฏิญญา และอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามไว้จำนวนมาก

ความเป็นสากลหรือว่าความเป็น universal  หมายความว่าไม่ขึ้นต่อจารีต ไม่ขึ้นต่อประเพณี ไม่ขึ้นต่อวัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพในหลักการนี้เป็นหลักการที่ใช้อย่างสากล คือใช้ในทุกพื้นที่ ทุกประเพณี ทุกประเทศ จะอ้างว่าประเทศนี้มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ไม่สามารถมีสิทธิเสรีภาพเหมือนประเทศอื่น ไม่ได้ ใช้อ้างแบบนี้ไม่ได้ อารยธรรมสมัยใหม่ไม่ยอมรับ นานาประเทศ ซึ่งอยู่ในอารยธรรมเดียวกัน อยู่ในสหประชาชาติหรือว่าอยู่ในสัญญาที่เป็นข้อตกลงกับเราไม่ยอมรับ

เพราะฉะนั้น คำว่า พลเมืองหัวข้อวันนี้คือ เรียกคืนสิทธิพลเมืองนะครับ คำว่าพลเมือง คำว่าประชาชนในรัฐสมัยใหม่จึงแตกต่างจากคำว่าราษฎรในรัฐสมัยเก่า สมัยก่อนใช้คำว่าราษฎร ใช้คำว่าสมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎร์นะครับ อันนี้คือสิ่งที่ผู้ปกครองสมัยก่อนเรียกผู้อยู่ใต้ปกครอง แต่ประชาชน พลเมือง ที่เป็นสมาชิกของรัฐสมัยใหม่ คือประชาชนที่ประกอบไปด้วยสิทธิเสรีภาพ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้เองคือที่มาของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจปกครองประเทศ

ในรัฐประชาธิปไตย สิ่งที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจปกครอง เป็นของประชาชน เป็นของพลเมือง รัฐไทยก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน รัฐธรรมนูญของเราก็อยู่ในหลักการเดียวกันนี้

รัฐสมัยใหม่ องค์ประกอบของความเป็นรัฐเบื้องต้น คือต้องมีสมาชิกของรัฐ ก็คือประชาชน ที่ต้องมีความเป็นมนุษย์แบบสมัยใหม่ คือ เป็นคนที่มีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคกัน อันนี้เป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่ต้องมีก่อน จึงจะมีอำนาจอธิปไตยได้ สิ่งที่เรียกว่าอำนาจปกครอง อำนาจอธิปไตย อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายจะมีไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ นี่เป็นหลักการ

เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพกับอำนาจปกครอง อำนาจสาธารณะ อำนาจทางการเมือง เป็นเหมือนกับสายใยที่ขาดไม่ได้ ไม่อาจที่จะสะบั้นขาด เหมือนกับการที่เราเอาด้ายผูกไว้กับตัวเรา แล้วโยงไปที่ ส.ส.  แล้วจาก ส.ส. ก็ผูกโยงไปที่นายกรัฐมนตรี จากนายกรัฐมนตรีก็ผูกโยงไปที่ข้าราชการต่างที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดนี้คือด้ายที่โยง โยงไปยังทุกส่วนของอำนาจสาธารณะ ซึ่งเมื่อสาวด้ายนั้นกลับไปแล้ว ในที่สุดต้องสาวกลับมาสู่ประชาชนได้ นี่คือหลักการของอำนาจอธิปไตยที่สัมพันธ์กับสิทธิเสรีภาพ ถ้าเมื่อไรที่ด้ายนี้ขาด ถ้าเมื่อไรที่ด้ายซึ่งโยงกลับมาสู่ประชาชนขาด อำนาจอธิปไตยจะไม่มีอยู่ในทันที ไม่มีความชอบธรรม เป็นอำนาจที่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟัง เพราะไม่ใช่อำนาจบังคับที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง เป็นอำนาจจอมปลอม

ในปัจจุบันจะเห็นว่าสำนึกในเรื่องสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของสังคมไทยมีปัญหาความไม่เข้าใจ มีการขาดสำนึกอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ที่ชอบเถียงกลับมาว่าสิทธิเสรีภาพต้องมีขอบเขต ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น อันนี้คือถูกบางส่วน แล้วก็บอกว่าการแก้ไขมาตรา 112 ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของกษัตริย์ อันนี้เป็นตัวอย่าง การที่บอกว่าการไปแก้ไขมาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพระมหากษัตริย์เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความเข้าใจผิดถูกที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

เบื้องต้นคือไม่เข้าใจ แยกไม่ออกว่าสิ่งที่เป็นสิทธิพื้นฐาน รากฐานของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ที่เป็นบ่อเกิดของสิทธิทั้งมวลอื่น และไม่อาจพรากจากดังที่ผมกล่าวมาทั้งหมด เป็นคนละอันกับสิทธิตามกฎหมาย

สิทธิพื้นฐานมีแต่กำเนิด มีโดยธรรมชาติ แล้วใครก็ยื้อแย่งจากเราไปไม่ได้ ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย สิทธิที่มีขอบเขต คือสิทธิตามกฎหมาย  ที่สามารถที่จะพรากจากเราไปได้ อย่างเช่น การยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ รัฐเป็นผู้ออกใบอนุญาตขับขี่ให้เรา แล้วเมื่อเราทำผิดกฎจราจร รัฐก็ยึดใบอนุญาตไปจากเรา อันนี้คือสิทธิตามกฎหมายที่สามารถพรากจากได้ แต่สิทธิพื้นฐานนี่ใครก็เอาไปไม่ได้ ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ไม่มีใครยึดไปได้ แล้วก็ไม่ได้รับมอบมาจากใคร มีมาแต่กำเนิด เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ และสิทธิอันนี้แหละเป็นบ่อเกิดของสิทธิอื่นเป็นบ่อเกิดของอำนาจอธิปไตยที่จะไปวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายอีกที ดังนั้น สิทธิตามกฎหมายจะใหญ่กว่าสิทธิพื้นฐานนี้ไม่ได้ จะละเมิดสิทธิพื้นฐานนี้ไม่ได้ ละเมิดเมื่อไรอำนาจอธิปไตยจะต้องมาคุ้มกันไม่ให้ละเมิด ถ้าอำนาจอธิปไตยคุ้มกันไม่ได้เนี่ย ด้ายที่โยงไว้ก็จะขาด อำนาจอธิปไตยก็จะไม่มีอยู่ในทันที

ที่ผมกล่าวมานี้ นอกจากจะถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว ก็ถูกระบุไว้ในคำประกาศ ตัวอย่างที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ คือคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากลมาตรา 1, มาตรา 11, มาตรา 19 ที่ไทยลงนามเอาไว้ สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ระบุไว้ทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

ทีนี้ก่อนจะไปถึงผลของมาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ มันมีปัญหาหนึ่งที่อยากจะทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัญหาของคนจำนวนมากในสังคมไทย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ว่าเขาปฏิเสธสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง ปัญหาของเรามันไม่ใช่ปัญหาแบบประเทศเผด็จการ ที่ปกครองด้วยคณะทหาร หรือว่าเป็นปัญหาในลักษณะแบบเดียวกับประเทศที่ยังปกครองแบบระบอบกษัตริย์แบบเก่า ปัญหาในปัจจุบันของเราแตกต่าง

ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา มันมีลักษณะของการใช้อำนาจในสองระนาบเคียงคู่กัน ระนาบที่หนึ่งคือระนาบที่เป็นเปลือกผิว เป็นระนาบของการใช้อำนาจในที่แจ้งอย่างเป็นทางการ เช่น การเลือกตั้ง เรามีการเลือกตั้ง เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง เรามีสนธิสัญญาต่างกับต่างประเทศ เรามีกฎหมาย เหล่านี้เป็นการใช้อำนาจในระนาบที่หนึ่ง

มันมีการใช้อำนาจในอีกระนาบซึ่งเป็นระนาบที่สอง เป็นระนาบที่อยู่ในชั้นที่ลึกลงมา เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ใช่ในที่แจ้ง บางทีอยู่ในที่ลับ เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการใช้อำนาจที่อยู่ข้างใต้ หรือบางทีอยู่ข้างหลัง บางครั้งก็อยู่ข้างหน้านะครับ ผ่านการกระทำที่ไม่เป็นทางการ คือไม่ได้กำหนดอยู่ในกฎหมาย แต่อยู่ในรูปแบบของประเพณีการปกครอง อยู่ในรูปแบบของจารีต อยู่ในรูปแบบของขนบ อำนาจในระนาบที่สองนี้เองที่มีลักษณะที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย เป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ แต่สามารถที่จะแทรกแซง สามารถที่จะบงการ และมีอำนาจเหนือการใช้อำนาจในระนาบที่หนึ่งได้ตลอดเวลา อำนาจในระนาบที่สองนี้จริงแล้วไม่ใช้สิ่งลึกลับ ทุกคนรู้อยู่แล้ว ทุกคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ในระดับชีวิตประจำวันทั่วไปเรื่องเล็กน้อย เช่น ถ้าเราจะส่งลูกเข้าโรงเรียนก็มีสองวิธี วิธีแรกก็คือบริจาคเงินเยอะ ยัดเงินเข้าไป วิธีที่สองก็คือสอบเข้าไปตามปกติ ถ้าเป็นข้าราชการถ้าอยากจะเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง วิธีแรกก็คือติดสินบน วิธีที่สองก็คือสร้างผลงาน ถ้าอยากที่จะได้งานประมูลของรัฐ วิธีแรกก็คือใส่ซอง วิธีที่สองก็คือประมูลโดยเปิดเผย เราทุกคนรู้ดีว่ามันมีทั้งสองวิธี แล้ววิธีที่หนึ่งมักจะสัมฤทธิผลกว่าวิธีที่สองอยู่เสมอ นี่คือสิ่งที่ประชาชนไทยรู้เป็นอย่างดี

เราพูดกันถึงปัญหาคอร์รัปชั่น พันธมิตร-เสื้อเหลืองชอบพูดถึงคอร์รัปชั่น ถ้าเรามองลงไปให้ลึก มองลงไปให้สุด บ่อเกิดของปัญหาคอร์รัปชั่นแบบนี้คืออะไร แท้จริงแล้วมันคือปัญหาที่อำนาจอธิปไตยที่มาจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้เป็นอำนาจที่แท้จริงอยู่ในสังคมไทย ไม่ได้เป็นอำนาจที่มีความสามารถที่จะให้คุณให้โทษคนที่อยู่ในโครงข่ายอำนาจอย่างแท้จริง แต่มันมีอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจที่อยู่ในระนาบที่สองคอยกำกับแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราดูจากวิกฤตการเมืองช่วงที่ผ่านมา แล้วตั้งคำถามกับการใช้อำนาจ การแสดงออกทางอำนาจที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับสิทธิเสรีภาพ อำนาจที่เข้ามาแทรกแซงการเมือง เข้ามาล้มล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชน ก็จะเห็นตัวอย่างมากมาย ตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

อำนาจอะไรที่คํ้าจุน คมช. อำนาจอะไรที่คํ้าจุนเปรม อำนาจอะไรที่คํ้าจุนสุรยุทธ์ จุลานนท์ อำนาจอะไรที่คํ้าจุน สนช. ให้สามารถไปออกกฎหมายได้ ทั้งที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าเราสังเกตดูการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการในวัฒนธรรมอำนาจ ในจารีตประเพณีการบังคับใช้กฎหมาย ประเพณีการปกครองของประเทศไทย ไล่ไปตั้งแต่ชั้นที่เล็กที่สุด ชั้นเล็กน้อยๆอย่างเช่น ส่วยทางหลวง ส่วยรถยนต์ ส่วยรถบรรทุก ส่วยมอเตอร์ไซค์ ไล่ไป ไล่ไปตั้งแต่ระดับข้าราชการชั้นผู้น้อย ไล่ไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ศาล นักการเมือง จนกระทั่งถึงองคมนตรี เราจะเห็นได้ว่าประเพณีการใช้อำนาจแบบนี้คือแบบเดียวกับในระบบทาสในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือคนที่มีตราตีว่ามีเจ้านาย คนที่มีคนหนุนช่วยเนี่ย การเติบโตทางอำนาจหน้าที่จะดีกว่า คือจะต้องมีกำกับว่าเป็นเด็กใคร เส้นใคร แม้แต่ม็อบยังมีเส้นนะ แม้แต่การต่อสู้ทางการเมืองนะ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นภาคประชาชนยังต้องมีเส้น คือการใช้เส้นเหล่านี้แหละมันคือการตีตราอำนาจ แล้วเมื่อเราไล่ไปจนชั้นบนสุด เราจะพบว่ามันคือการใช้อำนาจในลักษณะที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์ มีสถาบันกษัตริย์อยู่ที่ยอดของปิรามิด

ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 นะครับ ผมแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่

กลุ่มแรกคือหนึ่งกลุ่มที่เป็นผลกระทบทางการเมือง กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่เป็นผลกระทบทางสิทธิเสรีภาพ

กลุ่มแรกที่เป็นผลกระทบทางการเมืองในกรณีของปัญหาที่เกิดจากการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่า... ไม่ได้เป็นคำพูดของผมเองนะครับ แต่อยู่ในหนังสือ A life’s work ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ดูแล ซึ่งยอมรับไว้ว่า ปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบทบาทขององคมนตรี บทบาทของชนชั้นนำคนอื่น หรือแอ็กชั่นที่ออกมาโดยตรงอย่างเช่นที่มีข่าวก็ทราบกันไปทั่วนะว่าที่สำนักพระราชวังออกหนังสือรับรองออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า คมช. คือรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ต้องโปรดเกล้าฯก็ได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนกลับไปยังประเด็นสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ปัญหาคือ มีอำนาจสาธารณะ มีประเพณีการปกครองที่ไม่ถูกตรวจสอบ ตรวจสอบไม่ได้ อยู่ในระบบการเมือง ฉะนั้นปัญหานี้ ถ้าเกิดว่าเราจะก้าวต่อไปข้างหน้า เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นสีแดงหรือสีเหลือง ถ้าคุณยังจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วคุณจะก้าวต่อไปข้างหน้า คุณหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ซึ่งมาตรา 112 มันเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่ในการแก้ไขปัญหานี้ คดีหมิ่นที่เกิดขึ้นในตลอดช่วงวิกฤตการเมือง ดูข้อมูลสถิติ ดูการรายงานข่าว ดูข้อเท็จจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่อยู่ดีคนก็ลุกขึ้นมาหมิ่นหรือ?  เป็นสิ่งที่อยู่ดีคนก็ลุกขึ้นมาเขียนฝาผนังส้วมหรือ?  เป็นคนที่อยู่ดีก็ลุกมาส่งเอสเอ็มเอสหรือ?

เป็นสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจนะครับ แต่เราไม่เผชิญปัญหา ไม่แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา คำถามมากมายต้องการคำตอบ ต้องการการแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล ไม่ใช่ว่าเราจะล้มเจ้า แต่เราต้องการคำตอบของคำถามที่เกี่ยวกับระบอบการปกครองว่าจะเอาอย่างไรกันแน่

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดคำถามมากมาย ตัวอย่างประเพณีการปกครองที่ไม่เป็นทางการ ที่เราควรจะถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ในระบอบประชาธิปไตย เช่น การที่มีพระราชดำรัสในทางสาธารณะมันจะส่งผลทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน?  การเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างที่กล่าวอ้างราชสำนักมันจริงเท็จแค่ไหน?  แล้วมันเหมาะสมแค่ไหน?  คำถามต่างเกี่ยวกับเรื่องสองมาตรฐาน เรื่องทางการเมืองที่เกี่ยวพันไปถึงสถาบันกษัตริย์ มันควรจะต้องถูกพูดถึงแลกเปลี่ยนอย่างโปร่งใส แม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐประหารกับสถาบันกษัตริย์  เช่น เมื่อรัฐประหารแล้วต้องไปเข้าเฝ้าทุกครั้ง มันเหมาะสม สมควรแค่ไหน เราไม่เคยพูดถึงได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา คือได้แต่กระอึกกระอักอย่างนี้ นี่คือผลกระทบทางการเมืองที่จำเป็นต้องได้รับคำตอบถ้าจะก้าวไปข้างหน้า เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข ไม่ว่าคุณอยากจะปรองดองหรือไม่ปรองดอง ปัญหานี้ก็ยังอยู่และต้องแก้ไข แล้วคุณก็จะวนอยู่ตรงนี้ถ้าคุณไม่แก้ปัญหานี้

เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องล้มเจ้าไม่ล้มเจ้า เป็นเรื่องของคนที่ไม่อยากแก้ปัญหา แล้วก็เอาล้มเจ้ามาอ้าง

ผลกระทบต่อเนื้อหาของสิทธิเสรีภาพในหลักสากล ทั้งกฎหมายในประเทศ ทั้งรัฐธรรมนูญของเรา และทั้งกฎหมายที่เราไปลงนามไว้ในต่างประเทศ หลักการสากล

1. กระบวนการบังคับใช้ การประกันตัว การปิดลับคดี การไม่ presumed innocent คือไม่สันนิษฐานให้เป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนในคดีอาญา ในกรณีของมาตรา 112

2. อัตราโทษ 3 ปี ถึง 15 ปี กับการกระทำผิดโดยวาจา โดยตัวหนังสือ

3. กรณีที่ใครก็สามารถที่จะกล่าวโทษได้ ซึ่งเป็นการไม่ใช้อัตวิสัยในกรณีของการกระทำผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท

4. ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษแบบเดียวกับกฎหมายที่บังคับใช้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งส่งผลให้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บังคับใช้อยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ทำให้วิจารณ์ไม่ได้เลย วิจารณ์และพูดถึงไม่ได้เลย ที่บอกว่าวิจารณ์ได้ไม่จริง มีคำพิพากษาเป็นแนวทางยืนยันแล้วว่าไม่จริง ที่เป็นอยู่นี้คือวิจารณ์ไม่ได้ ถ้าคุณอยากให้วิจารณ์ได้ ก็แก้ให้วิจารณ์ได้เท่านั้นเอง

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัญหาที่ผิดต่อทั้งกฎหมายในประเทศ กฎหมายสูงสุดในประเทศ คือผิดรัฐธรรมนูญของเราเอง และผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่เราไปลงนามไว้ และผิดหลักการสากล ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่เป็นบ่อเกิดของสิทธิตามกฎหมายทั้งปวง และถ้าคุณไม่แก้ไข คุณคิดจะคงอำนาจไว้โดยไม่แก้สิ่งนี้ แล้วจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปเรื่อยๆอำนาจอธิปไตยมันจะชนกันนะครับ มันเป็นสิ่งที่ใครก็บังคับไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ใครก็ควบคุมให้เกิดไม่ได้ ไม่มีผู้นำม็อบคนไหนบังคับได้ ผมก็บังคับไม่ได้ เสื้อเหลืองก็บังคับไม่ได้ ทักษิณก็บังคับไม่ได้ นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ใหญ่ เป็นความเคลื่อนไหวที่ถ้าเกิดคนที่เข้าใจประวัติศาสตร์มันคือแรงโน้มถ่วง แล้วมันจะชนกันถ้าเกิดคุณไม่แก้ ไม่ใช่ว่าเราอยากที่จะทำให้เกิดการปะทะกัน  เราต้องการที่จะแก้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่มันไม่ควรจะเกิด ให้มันเปลี่ยนผ่านอย่างนุ่มนวล นี่คือจุดประสงค์ของ ครก. 112 นะครับ
          

Comments