รีวิว: คนไขลาน A Clockwork Orange นิยายโดย แอนโธนี เบอร์เจสส์



ความชั่วเป็นอัปลักษณะของความเป็นคน และเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นมนุษย์ กระนั้นมันก็เป็นลักษณะในด้านที่มนุษย์พยายามหาทางกำจัดหรือควบคุมมาโดยตลอด  ในโลกสมัยก่อนหรือก่อนสมัยใหม่ คนพยายามควบคุมและกำจัดความชั่วด้วยอำนาจเหนือมนุษย์ ด้วยอำนาจเทพ ผี เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความเชื่อทางศาสนา แต่ความชั่วก็ไม่ใช่สิ่งตายตัว หากสัมพันธ์กับคติ ค่านิยม จารีตประเพณีของสังคมอย่างซับซ้อน  ความชั่วไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ที่มีความหมายในตัวของมันเองโดยไม่ยึดโยงกับระบบคุณค่าต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม เช่น การแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้อง ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเรื่องปรกติในสังคม ต่อมาก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป  หรือการขโมย ซึ่งสัมพันธ์กับระบบการถือครองกรรมสิทธิ์ในสังคม ถ้าข้อตกลงเรื่องสิทธิครอบครองวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ไม่มีอยู่หรือไม่ถูกยอมรับในสังคม การขโมยย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในสังคมที่ไม่มี “ความเป็นเจ้าของ” อยู่ การขโมยก็ไม่มีความหมายและไม่สามารถเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม

หลักการรากฐานหนึ่งของความเป็นมนุษย์ซึ่งนำมาสู่ยุคสมัยใหม่ที่เราอาศัยอยู่จนปัจจุบันนี้ก็คือ หลักการในเรื่องเจตจำนงเสรี (free will) ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพและเจตจำนงที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนี้นำไปสู่การประเมินคุณค่าทางศีลธรรม หากเชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี ก็จะต้องเชื่อว่า เขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอิสรภาพในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใดเสมอ หากปราศจากซึ่งเจตจำนงเสรี หรือคนไม่มีความสามารถที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใด ศีลธรรมก็จะไม่มีความหมาย คุณค่าของศีลธรรมคือ “การเลือกที่จะไม่ทำชั่ว”  ถ้ามนุษย์ต้องกระทำไปโดย “ไม่มีทางเลือก” แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการทำดี มันก็ไม่มีคุณค่าทางศีลธรรมแต่อย่างใด

อิมมานูเอล คานท์ เสนอหลักการทางศีลธรรมดังกล่าวไว้ใน Critique of Judgement (1790)  และจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงของปรัชญากฎหมาย ระหว่างแนวทางที่ยอมรับในความเป็นมนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรี ซึ่งก็เท่ากับยอมรับความเป็นคนของอาชญากรและเชื่อว่าเขามีความสามารถที่จะเลือกทำหรือไม่ทำอาชญากรรมนั้น ๆ หรือไม่ เสมอ ดังนั้น เมื่อเขากระทำผิด (โดยสามารถเลือกที่จะไม่ทำมันได้) เขาก็สมควรจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย  กับอีกแนวทางหนึ่งที่มองว่าคนเป็นผลจากสภาพแวดล้อม อาชญากรไม่ได้ชั่วร้ายโดยธาตุแท้ แต่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมทราม และเขาสมควรถูก “เยียวยา” มากกว่าลงโทษ

แอนโธนี เบอร์เจสส์ เขียนเรื่อง คนไขลาน (A Clockwork Orange, สำนวนแปลโดย ปราบดา หยุ่น) ขึ้นมาเพื่อรองรับข้อถกเถียงดังกล่าวโดยแท้ เด็กวัยรุ่นซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่องแสดงให้เห็นถึงความชั่วอย่างไม่มีข้อสงสัย เขาถูกจับและในที่สุดก็ถูก “เยียวยา” ด้วยวิธีการทางเคมี  กระนั้นผู้อ่านก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับคำถามว่า การ “เยียวยา” ให้เขากลายเป็นพลเมืองที่ดี และไม่มีพิษมีภัยนี้ เป็นสิ่งสมควรหรือไม่ในเมื่อมันทำให้เขาสูญเสียความเป็นมนุษย์และกลายเป็นเพียงนาฬิกาไขลาน (คำของคานท์)

แอนโธนี เบอร์เจสส์ เป็นนามปากกาของ จอห์น เบอร์เจสส์ วิลสัน นักเขียนชาวอังกฤษ (John Burgess Wilson (1917-1993)  คนไขลานถือเป็นผลงานเด่นของเขา ได้รับการจัดอันดับโดยโมเดิร์นไลบรารีในปี 1998 อยู่ในรายการนิยายภาษาอังกฤษดีที่สุด 100 เล่มของศตวรรษที่ 20  คนไขลานได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 65   A Clockwork Orange สร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1971 โดยสแตนลีย์ คูบริค โดยครั้งแรกที่เผยแพร่หนังถูกจัดให้อยู่ในเรต X

Comments

  1. Harrah's Reno - Casino, Hotel and Table Games
    Harrah's Reno is the 나주 출장안마 hotel 나주 출장마사지 and casino in 정읍 출장마사지 Reno, Nevada. It 김천 출장마사지 opened 김제 출장샵 in 1946 and is owned by Caesars Entertainment.

    ReplyDelete

Post a Comment